อย่าเชื่อหมอดู อย่าไปหาหมอดู หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ


อย่าเชื่อหมอดู อย่าไปหาหมอดู หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

คลิ๊กเพื่อรับคลิป อย่าไปหาหมอดู
vvvvvvvvvvvvv
vvvvvvvvvvv
vvvvvvvvv
vvvvvvv
vvvvvv
vvvvv
vvv
v


เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็ตาม อย่าเข้าไปเกี่ยวข้องในรูปที่มันเป็นพิษแก่เรา อย่าให้มันเป็นพิษแก่เรา แต่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องในรูปที่มันจะไม่เป็นพิษไม่เป็นภัย

อะไรๆก็ตาม ตามปกติมันก็อยู่ตามเรื่องของมัน แต่ว่าใจของเราที่เข้าไป เกี่ยวข้องกับมันนั่นแหละ ทำให้เราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เหมือนคำพูด ที่เขาพูดว่า สิ่งทั้งหลายมันไม่ดีไม่ชั่ว แต่ว่ามันดีชั่วที่ใจของเราเข้าไปเกี่ยวข้องต่างหาก เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันในรูปใด มันก็ดีไปอย่างนั้นบ้าง ชั่วไปอย่างนั้นบ้าง ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ เช่นวันคืนเดือนปี อันนี้ มันไม่ดีไม่ชั่วอะไร ที่เราไปเชื่อหมอดูเขาว่าวันนั้นดีวันนั้นชั่ว นั่นมันดีชั่วตามแบบหมอเขา ไม่ใช่ตามแบบธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าพูดตาม แบบธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว สิ่งทั้งหลายมันไม่ดีไม่ชั่ว วันคืนมันไม่ดีไม่ชั่ว ไม่มีวันดีไม่มีวันร้าย มันมีแต่วันคืนธรรมดาที่เปลี่ยนไปตามจักรราศี วันคืนที่หมุนไปตามจักรราศีนี้มันก็มีเพียงสองอย่างเท่านั้นคือกลางวันกับกลางคืน กลางวันเพราะมีแสงอาทิตย์ กลางคืนเพราะไม่มีแสงอาทิตย์ เราจึงมีกลางวันกลางคืน

กลางวันกลางคืนนี้มันมีอยู่ตลอดเวลา มันลำบากแก่การที่จะพูดจากัน จึงต้องตั้งชื่อให้มันหน่อย ตั้งชื่อว่าเป็นวันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร ฯลฯ เอาชื่อเข้ามาตั้งไว้เพื่อจะให้เรียกขานกันง่าย หลายวันก็เป็นสัปดาห์ หลายสัปดาห์ ก็เป็นหนึ่งเดือน เดือนนี้ก็นับตามการโคจรของดวงจันทร์ ข้างขึ้นข้างแรมเรานับกันไปอย่างนั้น วันก็นับตามโคจรของดวงอาทิตย์ วันที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ฯลฯ ไปจนครบเดือนหนึ่ง เดือนมันก็มีหลายเดือนก็ต้องตั้งชื่อให้มันหน่อย ไม่มีชื่อก็เรียกกันยาก ไม่รู้ว่าเดือน ไหน ครบสิบสองเดือนก็สมมติว่าเป็นปีหนึ่ง แล้วมันก็มีหลายปีหลายรอบ สิบสอง เดือนหลายครั้งก็มาตั้งชื่อให้เขาหน่อย ปีชวด ฉลู ขาล ฯลฯ ว่ากันไปตามเรื่อง เพื่อจะให้มันง่ายแก่การนับ ไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องสะดวกแก่การนัดหมาย การจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆว่าได้เกิดขึ้นวันที่เท่านั้นเดือนนั้นปีนั้น แล้วปีนั้นเขาก็เอาศักราชไปใส่เข้า ศักราชนั้นเอาตามศาสนา เช่น พ.ศ. ก็นับตั้งแต่วันพระพุทธเจ้าปรินิพพานมา ก็เอามาเป็นเครื่องนัดหมายกันไว้ มันมีเท่านี้

ทีนี้พวกหมอดูเขาเอาไปว่า วันนั้นดีวันนั้นไม่ดี ซึ่งอันนี้ไม่เป็นตามหลักศาสนา ไปเที่ยวใส่วันดีวันร้ายเข้า ความจริงวันมันไม่ดีไม่ร้าย แต่ว่าดีร้ายมันอยู่ที่ตรงไหน มันอยู่ที่การคิดการพูดการกระทำของเรา ถ้าเราคิดดีพูดดีทำดี วันมันก็พลอยดีไป กับเรา เราคิดชั่วพูดชั่วทำชั่ว วันเวลามันก็พลอยชั่วไปกับเรา ลำพังวันเวลานั้นไม่ดี ไม่ชั่ว แต่ว่ามันดีชั่วเพราะเราทำ เช่นในชั่วโมงนี้ ญาติโยมมานั่งฟังปาฐกถาธรรม เวลานี้ดีสำหรับพวกเราที่อยู่ที่นี้ แต่ว่าชั่วโมงนี้มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งไปโห่ไก่สองตัวกำลังตีกันอยู่ เวลานั้นมันก็ไม่ดีสำหรับพวกนั้น เพราะมันไปเล่นการพนันหรือว่าไป ล้อมวงโจ้ไพ่กันอยู่ หรือว่าไปกินเหล้ากันอยู่ หรือว่าไปทำสิ่งเหลวไหลกันอยู่ วันของ คนพวกนั้นมันก็แย่เต็มที มันไม่ดีเพราะไปเล่นการพนัน ไปประพฤติชั่ว วันก็พลอย ชั่วไปกับคนนั้น นี่มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นลำพังวันเวลานั้นมันไม่ได้ดีไม่ได้เสีย อะไร แต่ว่าเราไปยึดสิ่งที่เรียกว่าวิชาหมอดูมากไปหน่อย แล้วเขาก็ทายไว้อย่างนั้นอย่างนี้ หมอดูบางทีก็เป็นพระนี่แหละ แต่ว่าทายเวลาไม่เข้าเรื่อง ไม่ค่อยได้เรื่อง ได้ราวอะไร เผลอบ่อยๆ ทำเลอะบ่อยๆ

อย่างเมื่อวานเขานิมนต์ไปงานแต่งงาน บอกว่าแต่งงานกรุงเทพฯ ที่จริงเขาแต่ง กันเช้าๆ ทั้งนั้น มันสะดวกรถราไม่ติด เจ้าบ่าวออกจากบ้านมาก็สะดวกดี แต่ทีนี้เขาไม่เอาอย่างนั้น ไปเอาเพลโน้น บอกว่าพระให้ฤกษ์รดน้ำเจ้าบ่าวเจ้าสาวสิบเอ็ดโมง สี่สิบนาที ดังนั้นเวลาพระฉันอาหารเจ้าภาพก็ดูนาฬิกาอยู่บ่อย กลัวพระจะฉันเลยเวลาไป แล้วมันจะพ้นฤกษ์ไป แต่ว่าพระก็ไม่ได้ฉันเลยเวลา พอฉันเสร็จแล้วก็เทศน์ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวฟังว่า มันไม่ได้ดีที่เวลา แต่มันดีที่เธอทั้งสองทำดี ถ้าอยู่ด้วย กันด้วยความรักต่อกัน มีคุณธรรมประจำจิตใจ มันก็อยู่กันเรียบร้อย แต่ถ้าแต่งกันฤกษ์ดี ถ้าไม่รักกันมันก็อยู่กันไม่ได้ หรือว่าจิตใจไม่ได้ปรับปรุงในทางธรรมะ ไม่มีความเชื่อไม่มีศีลไม่มีปัญญา ไม่มีความเสียสละต่อกัน มันก็อยู่กันไม่ได้ พูดให้เข้าใจ เรื่องอย่างนั้น แล้วก็พรมน้ำให้ไปตามเรื่องตามราว

ความจริงน้ำมนต์ ไม่ได้ทำคนให้ดีเด่นอะไรขึ้นมาหรอก แต่ว่าเขาพรมกันตาม ธรรมเนียมเท่านั้นเอง ก็อธิบายให้เขาเข้าใจว่า น้ำนี้พรมแล้วไม่ใช่ว่าเธอจะดีขึ้น ที่ดีนั้นมันอยู่ที่เธอทำดี ชั่วก็อยู่ที่ทำชั่ว แล้วสิ่งที่ประเสริฐก็คือธรรมะที่ให้ อันนี้วิเศษ ดีกว่าน้ำในขันเป็นไหนๆแต่ที่เขาเอาน้ำใส่ขันมาไว้นี้ก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ว่าให้เรา อยู่ให้เย็นเหมือนกับน้ำ อย่าทะเลาะเบาะแว้งกัน ให้รักใคร่สามัคคีกัน อย่าแยกออก จากกันทางจิตใจ ใจที่มันจะไม่แยกก็คือใจที่มีธรรม ถ้าใจไม่มีธรรมมันแยกกัน ใจโลภใจโกรธใจหลงนี่มันไม่ตรงกัน แต่ถ้าใจมีธรรมะมันเหมือนกัน ไม่มีแตกต่างกัน

สิ่งที่ไม่เหมือนกันย่อมเข้ากันไม่ได้ อันนี้มันเป็นกฎแห่งความจริง ของเหมือนกันมันก็เข้ากันได้ ไม้เหลี่ยมกับไม้เหลี่ยมเอามาซ้อนกันเรียบร้อย แต่เอาไม้กลมมา ซ้อนบนไม้เหลี่ยมมันเก้งก้าง ไม้ซื่อกับไม้คดเอามากองรวมกันแล้วมันไม่เรียบร้อย มันมีรูมีช่องเยอะแยะ แต่ถ้าซื่อทั้งหมดแล้วกองเรียบร้อยสวยงาม แต่ถ้าคดมั่งซื่อมั่งเอามากองก็เหมือนกับกองฟืนอย่างนั้น เราไปดูกองฟืนที่เขาเอาไม้มาจากป่า ไม่เรียบร้อยเก้งก้างอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นของที่ไม่เหมือนกันก็เข้ากันไม่ได้ ของใดเหมือนกันมันเข้ากันได้

จิตใจคนเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าจะให้เข้ากันได้ต้องมีธรรมะ จิตใจที่มีธรรมะมันมีสภาพเหมือนกัน พอเหมือนกันแล้วมันก็อยู่กันได้เข้ากันได้ ขาดธรรมะแล้วใจมันคดมันงอมันเข้าไม่ได้ หลักมันเป็นอย่างนี้

(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรมวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 90 พ.ค. 51 โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์