พระภิกษุกับเงิน ความเข้าใจผิดของสังคมและที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย


พระภิกษุกับเงิน ความเข้าใจผิดของสังคมและที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

พระภิกษุกับเงิน ความเข้าใจผิดของสังคมและที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

ก่อนจะกล่าวถึง ประเด็นความถูกต้องแต่ละอย่าง ก็ต้องมีพื้นฐานให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า แต่ละคำ คืออะไร และ แต่ละคำนั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้องเข้าใจตรงกัน ไม่เปลี่ยนไปตามความคิดแต่ละคน แต่อยู่บนพื้นฐานของพระธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ เมื่อเข้าใจตรงกันเช่นนี้ ว่าจะถือเอาในคำของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ ก็จะสามารถวินิจฉัยสิ่งต่างๆได้เข้าใจตรงกันแต่ละประเด็น

พระภิกษุ คือ ใคร พระภิกษุ คือ บุคคลที่ออกบวชเป็นบรรพชิต เพราะเห็นโทษของกิเลสด้วยปัญญา สละทุกสิ่งที่เป็นอย่างคฤหัสถ์ ละการกระทำอย่างคฤหัสถ์ ประพฤติขัดเกลาละกิเลสอย่างยิ่งเพื่อถึงการดับทุกข์ โดยมีพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ภิกษุประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นภืกษุในเมือง ภิกษุชนบท และภิกษุทุกๆรูปที่บวชมาในพระศาสนานี้ ต่างก็ต้องปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติทุกรูป

เงิน คือ สิ่งที่สังคมสมมติขึ้นมาสำหรับแลกเปลี่ยนเพื่อได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ

พระวินัย เป็น พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงเกื้อกูลกับพระภิกษุที่เป็นพระธรรมที่ทรงแสดงบัญญัติสิกขาบท ข้อห้าม และ ข้อควรประพฤติ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญ ให้กุศลที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น และ ที่เกิดขึ้นแล้วเจริญ และอาสวกิเลสที่ไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น และ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ อันเป็นรากฐานสำคัญให้กุศลอื่นๆเจริญจนถึงการดับกิเลส อันเป็นพระวินัย เป็นรากฐานในการขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ภิกษุที่ดี ที่เป็น ลัชชี(ผู้มีความละอาย) ย่อมรักษาพระวินัยไว้

พระวินัยบัญญัติข้อภิกษุ เกี่ยวกับเงินทอง ที่ภิกษุทุกรูปไม่ว่ารูปใดหรืออยู่วัดใด วัดในเมือง วัดชนบท ต้องประพฤติปฏิบัติตามเมื่อบวชเป็นบรรพชิต

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๔๐

พระบัญญัติ
๓๗. อนึ่ง ภิกษุใด รับ ก็ดี ให้รับ ก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

 

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ หน้า ๒๑๒

มณิจูฬกสูตร

"ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตร ห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน ... เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายอะไรเลย"

 

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ หน้า ๓๒๗

อปายสูตร

"คนเป็นอันมาก อันผ้ากาสาวะพันคอ มีธรรมอันลามก ไม่สำรวม คนลามกเหล่านั้น ย่อมเข้าถึงนรก เพราะกรรมอันลามกทั้งหลาย, ก้อนเหล็กร้อน เปรียบด้วยเปลวไฟ อันผู้ทุศีลบริโภคแล้ว ยังประเสริฐกว่า, ผู้ทุศีล ไม่สำรวม บริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น จะประเสริฐอะไร"

 

เมื่อเราตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจถูกต้องตรงกัน คือ ตามพระธรรมวินัย ไม่ใช่ตามความคิดชอบใจของตนเองแล้ว สมกับเป็นชาวพุทธที่กล่าวว่ามีพระธรรมเป็นที่พึ่ง และ เคารพคำของพระพุทธเจ้า ก็จะสามารถกล่าวไปแต่ละประเด็นในความเข้าใจผิดและความเข้าใจถูกของพระรับเงินทอง

 

เข้าใจผิด

๑.พระรับเงินไม่อาบัติ(อาบัติ คือ การตกไป ตกไปจากความดี เป็นโทษ ที่เกิดเพราะความละเมิดพระวินัย)

เข้าใจถูก

๑.พระรับเงิน หรือ แม้ยินดีในเงินที่เขาเก็บมาไว้เพื่อตนต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เป็นโทษ พระพุทธเจ้าและบัณฑิตทั้งหลายผู้เข้าใจพระธรรม ย่อมตติเตียน ส่วนฝ่ายภิกษุอลัชชี(ผู้ไม่ละอาย) และ คฤหัสถ์ผู้ไม่ได้ศึกษาพระธรรม หรือ เข้าใจพระธรรมผิด ย่อมไม่ติเตียนการรับเงินของพระภิกษุ

คฤหัสถ์ไม่ควรถวายเงินพระและใบปวารณา แต่ ให้เงินกับไวยาวัจกรของวัดที่ดีมีคุณธรรม ดูแลเงินนั้น ไวยาวัจกร คือ คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธา เสียสละเพื่อทำประโยชน์ต่อพระภิกษุตามพระธรรมวินัย และ ภิกษุมีเหตุจำเป็นตามธรรมวินัย จึงขอปัจจัยที่เหมาะสม ที่ไม่ใช่เงินทอง กับ ไวยาวัจกร เพื่อหาสิ่งที่เหมาะสมให้กับพระภิกษุนั้น โดยคฤหัสถ์ทำการซื้อมาให้ มี บาตร จีวร เป็นต้น

 

เข้าใจผิด

๒.ยุคสมัยเปลี่ยนไป พระภิกษุรับเงินทองได้

เข้าใจถูก

๒.สัจจะ ความจริงไม่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเลย อกุศล ความชั่วเป็นอกุศลเป็นความชั่วไม่เปลี่ยนแปลง กุศล ความดีเป็นกุศลเป็นความดี ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ ไม่ว่าเกิดกับใคร และ ช่วงเวลาไหน แม้ อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต

โลกเปลี่ยนแปลงไปตาม สมมติเรื่องราว ที่เป็นบัญญัติ ไม่ใช่สัจจะ แต่สภาพธรรมที่มีจริง คือ กุศล อกุศล ไม่เปลี่ยนไปตามโลก เรื่องราวเลย สิ่งใดมีโทษ พระองค์ตรัสว่ามีโทษ ความมีโทษที่ทำให้อกุศลเจริญ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แม้แต่การรับและยินดีเงินทองนั้น ของพระภิกษุ พระพุทธองค์ก็ตรัสว่ามีโทษ และไม่สมควรกับพระภิกษุ ไม่ว่า กาลเวลาไหน อดีต ปัจจุบันและอนาคต เพราะก็ต้องเข้าใจความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลงว่า บวช บรรพชา คือ การเว้นทั่วจากกิเลส และเป็นการสละอาคาร บ้านเรือน ไม่ใช่เพศคฤหัสถ์แล้ว ดังนั้นจะทำดังเช่น คฤหัสถ์ที่มีการใช้จ่ายเงินและทอง รับเงินทองไม่ได้เลย แต่ถ้าจะใช้เงินทอง หรือ ปฏิบัตตนดังเช่น คฤหัสถ์ก็ต้องกลับมาเป็นเพศคฤหัสถ์ดังเดิมสละเพศบรรพชิต ดังนั้นพระพุทธเจ้าทรงมีพระปัญญาสูงสุด พระองค์ทรงรู้อดีต ปัจจุบัน อนาคต ถ้าบอกว่าเปลี่ยนแปลงได้ ก็กล่าวตู่พระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า เพราะเราไม่มีปัญญา เป็นเพียงแค่ปุถุชน จะกล่าวเปลี่ยนคำของพระพุทธเจ้าไม่สมควรเลย เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่ารับเงินทองได้ เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่ได้แย้งกับใคร ก็แย้งกับพระพุทธเจ้าเอง ดังนั้นพุทธบริษัทควรมีพระธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีความคิดตนเองเป็นที่พึ่ง และ ที่วงการสงฆ์วุ่นวายมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เพราะ พระรับและยินดีในเงินและทอง และ คฤหัสถ์ ไม่รู้พระวินัย

 

เข้าใจผิด

๓.คฤหัสถ์ถวายเงินพระภิกษุได้บุญ

เข้าใจถูก

๓.คฤหัสถ์ถวายเงินพระไม่ได้บุญ เพราะความไม่รู้และพระภิกษุต้องอาบัติเป็นโทษกับตัวท่าน

การให้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นกุศลธรรม เป็นความดีทุกครั้ง การให้เพราะเลี้ยงสัตว์เอาไว้ขาย ให้เพราะติดสินบน เหล่านี้ แม้เป็นการให้ แต่ ก็ไม่ใช่ทานของอสัตบุรุษ ไม่ใช่กุศลธรรม เช่นเดียวกับการให้เงินและทองกับพระภิกษุด้วยความไม่รู้ของผู้ให้ ผิดพระวินัย พระภิกษุต้องโทษ จึงไม่ใช่ทานของสัตบุรุษ ไม่ใช่กุศลธรรม

ดั่งในกฎหมายตรา 3 ดวง ที่มีขึ้นในรัชกาลที่ 1 ที่ปราบพวกพระอลัชชี ตั้งขึ้นมาจากผู้มีความเข้าใจพระธรรม ก็แสดงความจริงว่า ฆราวาสผู้ไม่รู้ไม่มีปัญญา ถวายเงินพระ ไม่ได้บุญ ทำลายพระพุทธศาสนา ....ข้อความบางตอนดังนี้

ฝ่ายฆราวาสก็ปราศจากปัญญา มิได้รู้ว่า ทำทานเช่นนี้จะเกิดผลน้อยมากแก่คนหามิได้ มักพอใจทำทานแก่ภิกษุสามเณรอันผสมประสานทำการของตนจึ่งทำทาน บางคนย่อมมักง่ายถวายเงินทองของอันเป็นอกัปปิยะมิควรแก่สมณะ สมณะก็มีใจโลภสะสมทรัพย์เลี้ยงชีวิต ผิดพระพุทธบัญญัติฉะนี้ ได้ชื่อว่าฆราวาสหมู่นั้นให้กำลังแก่ภิกษุโจรอันปล้นพระศาสนา ทานนั้นหาผลมิได้ ชื่อว่าทำลายพระศาสนา..."

ชาวพุทธควรพิจารณาศึกษาพระธรรม เข้าใจความจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าการให้เงินและทองพระภิกษุ พระภิกษุต้องอาบัติ เป็นโทษกับท่าน และ ทำลายพระพุทธศาสนา และเวลานี้ที่วงการสงฆ์วุ่นวาย ถูกฟ้องร้องเรื่องเงินทองและทำผิดประการต่างๆ ก็เพราะ การรับเงินทองของพระภิกษุ ทุจริตเรื่องเงินทองนั่นเอง ควรที่ชาวพุทธจะรู้ว่าพระที่่ดี คือ พระที่ประพฤติตามพระวินัย ไม่รับเงินทอง และ คฤหัสถ์ที่ดี คือ ถวายของที่เหมาะสมกับพระภิกษุ ไม่ถวายเงินทอง ก็จะเป็นการช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา กำจัดภิกษุอลัชชี(ผู้ไม่มีความละอาย)ออกไป ภิกษุรับเงินและทอง คือ ภิกษุมิจฉาชีพ อลัชชี ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง

 

เข้าใจผิด

๔.วัดมีค่าใช้จ่าย ค่าน้ำค่าไฟ ในสมัยปัจจุบัน ไม่เหมือนสมัยก่อน ไม่มีค่าใช้จ่าย พระจึงจำเป็นจะต้องรับเงิน ใช้เงิน

เข้าใจถูก

๔.เป็นความจริงที่ว่าปัจจุบันวัดต้องเสียค่าน้ำค่าไฟ แต่ มีวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมที่จะไม่ทำให้พระท่านอาบัติ และ พระที่ดี ท่านก็จะไม่รับเงินโดยประการทั้งปวง แต่ใช้วิธีที่เหมาะสม

ค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินในวัด คฤหัสถ์ที่ดีรับเงินดูแลเงิน

เรื่องค่าน้ำค่าไฟในวัด แม้ในในอดีตและปัจจุบันก็มีบางวัดประพฤติตามพระวินัย ที่ให้คฤหัสถ์เป็นคนรับเงินของวัด ดูแลเงิน จัดการเงินและจ่ายค่าน้ำค่าไฟให้ โดยที่พระไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงินและทองเลย ท่านไม่ต้องอาบัติ แต่เลือกคฤหัสถ์ที่ดี มีคุณธรรมเป็นไวยาวัจกรในการจัดการดูแลเงิน และพระภิกษุก็มีหน้าที่ศึกษาพระธรรม(คันถธุระ) และ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม(วิปัสสนาธุระ) เพราะบวชมาจุดประสงค์คือ ละอาคารบ้านเรือน ไม่ประพฤติตนดั่งเช่นคฤหัสถ์และบวชเพื่อถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบโดยส่วนเดียว และ ไม่ใช่ข้ออ้างว่าคฤหัสถ์จะทุจริตเงินวัด จึงจำเป็นที่พระภิกษุต้องรับเงินดูแลเงินเอง ทำทุจริต ผิดพระวินัยเสียเอง เพราะ พระรับเงิน ยินดีในเงินทอง เป็นทุจริตแล้วตามพระวินัยบัญญัติ

คฤหัสถ์ไม่ควรถวายเงินพระและใบปวารณา แต่ ให้เงินกับไวยาวัจกรของวัด ที่ดีมีคุณธรรม ดูแลเงินนั้น และ ภิกษุมีเหตุจำเป็นตามธรรมวินัย จึงขอปัจจัยที่เหมาะสม ที่ไม่ใช่เงินทอง กับ ไวยาวัจกรเพื่อหาสิ่งที่เหมาะสมให้กับพระภิกษุนั้น โดยคฤหัสถ์ทำการซื้อมาให้ มี บาตร จีวร เป็นต้น

 

เข้าใจผิด

๕.ค่าหมอ ค่ายาไม่ฟรี เดินทางไปหาหมอ ก็ไม่ฟรี จำเป็นที่ยุคสมัยนี้ต้องใช้เงิน และ พระต้องรับเงิน

เข้าใจถูก

๕.ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป ถ้าทำวิธีการที่ถูกต้อง คือ พระไม่รับเงิน แต่ ฆราวาสให้เงินกับคฤหัสถ์ผู้เป็นไวยาวัจกรของวัดโดยตรงดูแล ที่เป็นคนดี มีคุณธรรม และ เมื่อพระต้องการยา การเดินทางไปหาหมอ การเดินทาง ไวยาวัจกรนั้นก็จัดสิ่งที่เหมาะสม สมควรให้กับภิกษุนั้นได้ อันทำให้พระไม่ต้องอาบัติรับเงินทอง ยินดีในเงินทอง เพราะมีเงินส่วนกลางของวัดในการบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องค่ายา ค่าอื่นๆที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย อันเป็นสิ่งของที่เป็นกัปปิยะ เหมาะสมกับพระภิกษุ ก็สามารถแจ้งไวยาวัจกรวัดได้ในการจัดหา และในสมัยพุทธกาล ภิกษุทั้งหลายก็ดูแลกันเอง มียาตามสมัย ที่เป็นเภสัช มี น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ยาดองมูดตรเน่า เป็นต้น และแม้ปัจจุบัน จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็สามารถใช้วิธีการให้คฤหัสถ์ดูแลได้ในเรื่องยาและค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งโรงพยาบาลสงฆ์ก็ไม่เสียค่าใช้จ่าย และ หากเป็นภิกษุที่ประพฤติดี ประพฤติชอบ ก็ย่อมจะเป็นผู้มีโยมอุปัฏฐาก ที่ปวารณาช่วยเหลือในสิ่งที่เหมาะสม

 

เข้าใจผิด

๖..พระต้องสร้างวัด ซ่อมแซมสิ่งต่างๆในวัด พระจึงจำเป็นต้องรับเงินทอง ทำกฐิน ผ้าป่า

เข้าใจถูก

๖.การสร้างวัดพระไม่ใช่ผู้เรี่ยไรเงิน พระไม่ใช่ผู้รับเงิน แต่ คฤหัสถ์เป็นคนจัดการเรื่องเงิน

คฤหัสถ์ผู้ฉลาดและเคารพระธรรม เคารพพระพุทธเจ้าและเคารพพระสงฆ์ย่อมปฏิบัติตามพระวินัย คือ ไม่ถวายเงินทองกับพระภิกษุและเคารพพระสงฆ์ ไม่ถวายของที่เป็นอกัปปิยะ ของที่ไม่สมควร มีเงิน เป็นต้นกับพระภิกษุเพราะทำให้ท่านต้องอาบัติ คฤหัสถ์ผู้ฉลาดเคารพในพระรัตนตรัย จึงทำวิธีการที่ถูกต้อง ดั่งเช่น สมัยพุทธกาล นางวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระเจ้าพิมพิสาร ไม่ได้เอาเงินไปถวายพระพุทธเจ้า ไม่ได้เอาเงินไปถวายท่านพระสารีบุตร เพราะท่านเหล่านั้นเคารพพระพุทธเจ้า เคารพพระธรรม เคารพระสงฆ์ แต่ สร้างวัดถวายเองโดย ไม่ให้พระยุ่งเกี่ยวกับเงินและทอง เวลาที่จะสร้างอย่างอื่น เช่น โรงครัว อุบาสก อุบากสิกา ผู้เข้าใจพระธรรม ก็กล่าวบอกกับพระภิกษุ และสร้างถวาย โดยไม่ใช่เอาเงินไปให้ท่าน นี่คือ วิธีการที่ถูกต้อง เป็นการรักษาพระวินัย และ ดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา

ข้อความในพระไตรปิฎก แสดงความจริงว่า การสร้างวัด เป็นต้น ไม่ใช่การให้เงินพระโดยตรง ไม่มีการที่พระทำกฐิน ผ้าป่า เงินทอง แต่ คฤหัสถ์เป็นคนจัดการเรื่อเงินสร้างวัดให้

ท่านพระอุเทน.."พราหมณ์ พระเจ้าอังคะโปรดพระราชทานอะไรเป็นเบี้ยเลี้ยงประจำแก่ท่านทุกวัน"

โฆฏมุขพราหมณ์..."ท่านอุเทน พระเจ้าอังคะโปรดพระราชทานทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะเป็นเบี้ยเลี้ยงประจำแก่ข้าพเจ้าทุกวัน"

ท่านพระอุเทน..."พราหมณ์ การรับทองและเงินไม่สมควรแก่อาตมภาพทั้งหลาย"

โฆฏมุขพราหมณ์..."ท่านอุเทน ถ้าทองและเงินนั้นไม่สมควร ข้าพเจ้าจะให้สร้างวิหารถวายท่านอุเทน"

ท่านพระอุเทน กล่าวว่า "พราหมณ์ ถ้าท่านปรารถนาจะให้สร้างวิหารถวายอาตมภาพ ก็ขอให้สร้างโรงฉันถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตรเถิด"

ข้อความบางตอนในโฆฏมุขสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓

 

เข้าใจผิด

๗.พระภิกษุ สามเณรต้องเรียนหนังสือ มีค่าใช้จ่าย

เข้าใจถูก

๗.ภิกษุมีกิจ ๒ อย่าง คือ คันถะธุระ (ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า) วิปัสสนาธุระ(อบรมปัญญา ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม)...กิจที่เป็นคันถธุระนั้นไม่ใช่การศึกษาหนังสือทางโลก แต่ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า(คันถธุระ) ไม่ใช่การศึกษาพุทธศาสนาประยุกต์ หรือ คำแต่งเหล่าอื่น หรือ ทำวิทยานิพนธ์ ทำปริญญา รับปริญญา เหมือนคฤหัสถ์ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างจากการกระทำดั่งคฤหัสถ์ บวชทำไม...สามเณรสมัยพุทธกาล หรือ ผู้บวชใหม่ ต้องไปเรียนศาสนาเปรียบเทียบ ประยุกต์ หรือไปสำนักตักศิลา เพื่อศึกษาศาสตร์ทางโลกอื่นๆหรือไม่ ไม่เลย ถ้าเป็นสิ่งที่ดี พระพุทธเจ้าย่อมให้ภิกษุไปศึกษาวิชาทางโลก สำนักตักศิลา ศาสนาเปรียบเทียบ ให้ไปเรียนมหาวิทยาลัย ทำวิทยานิพนธ์ อย่างกับคฤหัสถ์อย่างนั้นหรือ..แต่ พระองค์ทรงแสดงกิจของภิกษุ มี ๒ อย่างเท่านั้น คือ ศึกษาคำสอนที่พระองค์ทรงแสดงเป็นสำคัญและอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส.....สำหรับพระภิกษุ เมื่อบรรพชา บวชแล้ว ย่อมเป็นผู้สละทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นผู้เว้นทั่วจากอกุศลด้วยการอบรมปัญญา ด้วยจุดประสงค์สูงสุดของการบวชเป็นพระภิกษุ คือ เพื่อดับกิเลส ไม่ใช่อย่างอื่น ซึ่งหน้าที่ หรือ กิจของพระภิกษุที่ถูกต้อง มี ๒ อย่างตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือ คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ
การเรียนบาลี เพื่ออะไร ในเมื่อมีผู้มีความรู้ทางภาษาบาลี ที่แปลคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นภาษาไทย ให้สามารถศึกษาให้เข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้น ควรศึกษาภาษาของตนให้เข้าใจด้วยการคึกษาพระธรรมตามพระไตรปิฎก นี่คือ คันถะธุระในพระพุทธศาสนา วัดมีตู้พระไตรปิฎกที่แปลแล้วมากมาย ควรที่ภิกษุ สามเณร จะศึกษาพระไตรปิฎกนั้น

 

เข้าใจผิด

๘.ภิกษุต้องเดินทางไปไหน มาไหน ค่ารถไม่ฟรี จึงต้องรับเงิน และคฤหัสถ์จึงต้องให้เงินพระ

เข้าใจถูก

๘.ภิกษุในธรรมวินัย คือ เป็นผู้เบา มีกิจน้อย ไม่เป็นผู้เดินทางบ่อย หากมีผู้นิมนต์ไปฉันที่บ้านหรือ แสดงธรรมที่บ้าน ภิกษุผู้ฉลาด ประพฤติตามพระวินัย สามารถแจ้งกับคฤหัสถ์ได้ว่าควรกระทำสิ่งใด ไม่ให้ภิกษุออกค่าใช้จ่ายเอง แต่ควรมารับ มาส่ง อันไม่เกี่ยวข้องกับเงินและทอง เป็นต้น และพระภิกษุที่ดี หากพิจาณาว่าต้องยุ่งเกี่ยวกับเงินทอง ไม่สะดวกในการเดินทาง ท่านก็แจ้งกับคฤหัสถ์ไปในเรื่องนั้น ว่าไม่สะดวกโดยประการใด อันเป็นการเคารพพระวินัย ทำตามพระวินัยบัญญัติ และ พระภิกษุไม่มีหน้าที่เรียนหนังสือทางโลก จึงไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่สอนหนังสือทางโลก เป็นต้น

และตามที่กล่าวแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป ถ้าทำวิธีการที่ถูกต้อง คือ พระไม่รับเงิน แต่ ฆราวาสให้เงินกับคฤหัสถ์ผู้เป็นไวยาวัจกรของวัดโดยตรงดูแล ที่เป็นคนดี มีคุณธรรม และ เมื่อพระภิกษุต้องการเดินทางในการประกอบกิจของสงฆ์ คฤหัสถ์ที่เป็นไวยาวัจกรก็สามารถเป็นผู้ดูแล ในเรื่องค่าใช้จ่าย โดยที่พระไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับเงินทอง อันทำให้พระไม่ต้องอาบัติรับเงินทอง ยินดีในเงินทอง เพราะมีเงินส่วนกลางของวัดในการบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องค่าเดินทาง ค่ายา ค่าอื่นๆที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

 

เข้าใจผิด

๙.พระภิกษุรับเงินได้ หากนำเงินนั้นไปช่วยเหลือสังคม

เข้าใจถูก

๙.หากได้ศึกษาพระวินัย กิจของพระภิกษุ มีสองอย่าง คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ ไม่ใช่จะทำกิจอย่างคฤหัสถ์ โดยการสร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน เป็นต้น

การรับและยินดีในเงินและทอง แม้จะช่วยสังคมก็เป็นอาบัติสำหรับพระภิกษุ ถ้าจะช่วยสังคมอย่างคฤหัสถ์ ก็สึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ เพราะเพศบรรพชิต สละแล้ว ซึ่งเงินและทองทั้งปวง พระอริยสาวกผู้มีปัญญาในอดีต มีท่านพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นต้น ออกมาช่วยสังคมแบบคฤหัสถ์หรือไม่ หรือ รับเงินและทอง ช่วยสังคม หรือไม่ ไม่เลย เพราะท่านเคารพพระวินัย เคารพในพระพุทธเจ้า และ รู้ตัวเองว่า เป็นเพศใด ดังนั้นท่านช่วยสังคมที่ถูกต้อง ตามเพศบรรพชิต คือ ท่านแสดงธรรมอันเป็นการช่วยสังคมอย่างสูงสุดและเคารพพระวินัยที่จะไม่ทำอย่างคฤหัสถ์

 

เข้าใจผิด

๑๐.พระต้องรับเงิน เพราะมีเงินนิตยภัต ฝากเข้าบัญชี ทำกันมานานแล้ว

เข้าใจถูก

๑๐.เงินนิตยภัตเป็นเงินค่าอาหารของภิกษุที่มีสมณศักดิ์ ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาต้องดูแลนำเงินนี้ไปจัดการจัดหาภัตตาหารถวาย ไม่ใช่มอบเงินให้แก่ภิกษุไปโดยตรง เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ไม่เป็นการเอื้อเฟื้อพระวินัย ทำให้ภิกษุต้องอาบัติที่รับเงินดังกล่าวไว้โดยตรงอีกด้วย

ความมักง่ายของข้าราชการไทยและองค์กรพระพุทธศาสนา ที่เมื่อรับเงินนิตยภัต เพื่อซื้อของที่สมควรกับพระภิกษุ แต่ กับ นำเงินนั้นโอนเข้าบัญชีพระ ให้ของที่ไม่เหมาะสม ทำผิดพระวินัย ทำลายพระพุทธศาสนา ดังนั้น ควรกระทำให้ถูกต้อง และ ก็จะไม่ทำให้พระเป็นอาบัติ และไม่เป็นข้ออ้างของภิกษุอลัชชีผู้ไม่ละอาย

 

เข้าใจผิด

๑๑.พระพุทธศาสนาต้องปรับตัว ภิกษุต้องปรับตัวเข้ากับยุคสมัย คือ รับเงิน มีมือถือ ใช้เฟ๊สบุค ศาสนาดำรงอยู่มาได้ เพราะ พระพุทธศาสนาและพระภิกษุปรับตัวตามยุคสสมัย

เข้าใจถูก

๑๑..ความเข้าใจถูกและประพฤติตามพระวินัยทำให้ศาสนาเจริญ การประพฤติผิดพระวินัยของพระภิกษุและพุทธบริษัทไม่ปฏิบัติไม่เคารพพระธรรม เป็นเหตุของศาสนาพุทธเสื่อมถอย

บรรพชิต คือ ผู้สละ ละทุกสิ่งที่กระทำดั่งคฤหัสถ์ ออกบวช เพื่อถึงความสิ้นทุกข์ แต่ ผู้บวชอ้างยุคสมัย ขอทันโลก แต่เป็นโลกที่คฤหัสถ์เขาทำกัน เล่นเฟสบุ๊ค เดินห้าง รับเงินทอง มีบัญชีธนาคาร ซ่อมถนนชาวบ้าน ไม่ใช่กิจของภิกษุ ทันโลกของพระภิกษุ คือ โลกตามพระวินัยบัญญัติ ไม่ขัดแย้งกับพระวินัย ประพฤติให้น่าเลื่อมใส ดั่งเป็นผู้สละ ประพฤติอบรมปัญญาขัดเกลากิเลสตามพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว ไม่ใช่ ตามโลกคฤหัสถ์ กระทำตนแบบคฤหัสถ์ นำมาซึ่งการเพิ่มกิเลส พระพุทธเจ้าทรงติเตียน ภิกษุประพฤติตนดั่งคฤหัสถ์ ชาวพุทธ ควรตื่นรู้ความจริงว่า พระคือใคร การบวชคืออะไร และ ไม่สนับสนุนพระเหล่านั้น มีการให้เงินและทอง เป็นต้น อันเป็นการรักษาพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ดังนั้น ศาสนาพุทธที่ดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน ดำรงอยู่ด้วยความเจริญ หรือ ความเสื่อมลงในปัจจุบัน เพราะ พระพุทธศาสนาจะหมดสิ้นไป เมื่อถึงห้าพันปี แต่ ปัจจุบัน สองพันห้าร้อยกว่าปี แล้วศาสนาเจริญหรือเสื่อม เมื่อภิกษุสมัยปัจจุบัน กระทำตามคฤหัสถ์ ไม่ประพฤติตามพระวินัย บอกว่ารับเงินทองได้ ทั้งๆที่ผิดพระวินัยบัญญัติ และคฤหัสถ์ที่ไม่เข้าใจพระธรรมวินัยก็เห็นดีงามด้วย นี่ต่างหากที่เป็นเหตุพระพุทธศาสนากำลังเสื่อมไปเรื่อยๆ เพราะพุทธบริษัทไม่ปฏิบัติตามพระธรรมจนถึงเมื่อห้าพันปี พระพุทธศาสนาก็อันตรธานไปจากใจของทุกคน

 

เข้าใจผิด

๑๒.พระพุทธศาสนาต้องเดินทางสายกลาง ไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป ปัจจุบันพระต้องใช้เงิน

เข้าใจถูก

ทางสายกลาง คือ ทางที่ถูกต้อง ทางที่เป็นกุศลธรรม ทางที่ดี มีปัญญา ไม่ใช่ทางที่ชั่ว ทางที่ตึงเกินไป และ ทางที่หย่อนเกินไป คือ ทางที่เป็นอกุศลธรรม ทางชั่ว เพราะฉะนั้น คำของพระพุทธเจ้าที่ตรัสออกมาด้วยพระปัญญาในการบัญญัติสิกขาบท มี ภิกษุไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง เป็นทางที่ถูก ทางสายกลาง เพราะ เมื่อภิกษุประพฤติปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่ติดข้อง เพื่อละ เพื่อขัดเกลากิเลส และ ไม่ทำให้เกิดความวุ่นวายในสงฆ์ เหมือนปัจจุบันที่ภิกษุรับเงินทองและเกิดความวุ่นวาย แต่ การรับเงินทองด้วยความยินดี ติดข้อง ไม่ต่างจากคฤหัสถ์ ขณะนั้นเป็นกิเลส จะเป็นทางสายกลางไม่ได้ แต่เป็นทางหย่อน ที่มัวเมาเพลินเพลินในกามคุณ มี เงินทอง เป็นต้น เพราะฉะนั้น พระวินัยบัญญัติของพระพุทธเจ้า มีการไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทองของพระภิกษุ จึงเป็นทางสายกลาง

 

เข้าใจผิด

๑๓.พระพุทธเจ้าตรัสก่อนปรินิพพานให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อย เพราะฉะนั้น ก็ควรจะถอนสิกขาบทข้อที่ภิกษุไม่รับและไม่เงินทองไม่ได้

เข้าใจถูก

๑๓.ผู้มีปัญญาเคารพในสิกขาบททุกข้อ จึงไม่เพิกถอนสิกขาบท

หากจะกล่าวว่า พระพุทธเจ้าให้ยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อย แล้วใครเล่าที่จะให้ยกเลิก ข้อนั้นข้อนี้ แม้แต่ พระอริยสาวก ผู้เป็นพระอรหันต์ มีท่านพระมหากัสสปะ และ ท่านพระอานนท์ เป็นต้น เมื่อครั้งทำสังคายนา ครั้งที่ ๑ ผู้ล้วนทรงคุณ เลิศด้วยฤทธิ์และปัญญา ก็มีมติว่า เราจะไม่ยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อย เพราะท่านเหล่านั้นเคารพในพระปัญญาคุณและเคารพในพระวินัยที่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นที่จะบัญญัติได้ แม้ท่านพระสารีบุตรผู้เลิศด้วยปัญญาก็ไม่สามารถบัญญัติพระวินัยได้เลย นี่คือ ความเคารพในพระวินัยบัญญัติและเคารพในพระพุทธเจ้า ของผู้มีปัญญาในสมัยอดีตกาล และพระพุทธเจ้าตรัสไว้เพื่อแสดงถึงกำลังของพระมหากัสสปะที่จะสังคายนาพระธรรมไว้ดีแล้ว และจะดำรงรักษาพระวินัยบัญญัติทุกข้อไว้

เรื่องการรับเงินทอง พระพุทธเจ้าทรงติเตียนเป็นอันมาก และ ยังมีในพระสูตรอีกมากมายที่แสดงว่า ภิกษุไม่พึงรับและยินดีในเงินและทอง มี มณิจูฬกสูตร เป็นต้น เพราะฉะนั้น การรับเงินทองจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลยสำหรับเพศบรรพชิต

 

เข้าใจผิด

๑๔.พระภิกษุรับเงินได้ เพราะปรับตามมหาปเทส ๔

เข้าใจถูก

๑๔.พระภิกษุรับเงินไม่ได้ เพราะไม่เข้ากับมหาปเทส ๔

มหาปเทส ๔ เป็นหลัก ข้ออ้างใหญ่ ซึ่งมีทั้งพระสูตร พระวินัย แต่หลักมหาปเทส ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นั้น หลักนั้น แม้เวลาจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งของ หรือ ของใช้พระภิกษุ บริขาร ปัจจัยที่จำเป็นจะต้องไม่ใช่ของที่ไม่สมควร คือ เป็นอกัปปิยะ กับพระภิกษุด้วย เพราะฉะนั้น เงินและทอง ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน อย่างไรก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรกับพระภิกษุ และ พระพุทธเจ้า ก็ทรงปรับอาบัตินิสัคคิยปาจิตตีย์สำหรับพระภิกษุที่รับและยินดีในเงินทอง และไม่เข้ากับพระสูตรอื่นๆที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เงินและทองไม่สมควรกับสมณเชื้อสายศากยบุตรโดยประการทั้งปวง มี มณิจูฬกสูตร เป็นต้น ดังนั้นการเอาหลัก มหาปเทศส ๔ มาอ้าง แต่ขัดกับหลักพระธรรมวินัย ย่อมไม่สมควรโดยประการทั้งปวง เพศบรรพชิต เป็นเพศที่ขัดเกลา ดังนั้น การกระทำ ก็ต้องไม่ใช่ดังเพศคฤหัสถ์ มีการรับ หรือ ใช้เงินทอง เป็นต้นดังนั้นพุทธบริษัท ก็ควรเป็นผู้เคารพพระวินัย ศึกษาพระธรรม ตามความเป็นจริง และ ละเอียดในการอ่านพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว

 

เข้าใจผิด

๑๕.คฤหัสถ์และพระภิกษุควรเห็นด้วยกับการรับเงินทองของพระภิกษุในสมัยปัจจุบัน

เข้าใจถูก

๑๕.คฤหัสถ์และภิกษุผู้มีปัญญาเข้าใจพระธรรม ไม่เห็นด้วยกับพระภิกษุรับเงินทอง

เห็นด้วยกับภิกษุชั่วอลัชชี ที่กล่าวว่าภิกษุรับเงินทองได้ หรือ เห็นด้วยกับพระพุทธเจ้าว่าภิกษุรับเงินทองมีโทษ เป็นอาบัติ พระองค์ทรงติเตียน

ดังเช่น สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี พระภิกษุวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี เป็นภิกษุอลัชชี ไม่ดี กล่าวตั้งวัตถุ ๑๐ ประการ ที่เป็นอธรรม ซึ่ง ข้อที่ ๑๐ คือ ภิกษุรับเงินทองได้ ไม่ต้องอาบัติ พระอรหันต์ ชื่อท่านพระยศกากัณฑกบุตรเห็นว่า อธรรม(ธรรมชั่ว)เกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรให้ ธรรมชั่วมีกำลัง จึงได้รวมประชุมพระอรหันต์ และ ทำสังคายนาครั้งที่ ๒ กล่าว การรับเงินทองมีโทษ จนสังคายนาพระธรรมวินัยใหม่ ดังนั้น ก็เป็นที่น่าพิจารณาว่า เราเห็นด้วยว่าพระภิกษุรับเงินทองได้ ไม่เป็นไร เห็นด้วย กับ ธรรมชั่ว ของ พระภิกษุอลัชชี คือ เหล่าภิกษุกลุ่มวัชชี หรือ เราไม่เห็นด้วยเรื่องการรับเงินทองของพระภิกษุเป็นอาบัติ มีโทษ อันเป็นฝักฝ่าย ธรรมะ คือ เหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายและ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและพระพุทธเจ้าที่ทรงติเตียนเรื่องนี้ที่ภิกษุรับเงินทองมีโทษ ดังนั้น การกล่าวคำที่ตู่ ไม่ตรง จึงมีโทษมาก ควรมีพระธรรมเป็นที่พึ่ง และ ศึกษาพระวินัยอย่างละเอียดรอบคอบ ก็จะเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนาให้อายุยืนนานอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้น เราก็บอกว่าอนุโลมได้ ตามยุคสมัย ค่อยๆอนุโลมสิ่งที่ผิด ค้านพระวินัยไปเรื่อยๆ ทีละข้อ ตามยุคสมัย ก็จะกลายเป็นแบบนิกายอื่น และ พระธรรมก็เสื่อมไปในที่สุด ช่วยๆกันรักษาพระวินัยด้วยการศึกษาพระวินัย เผยแพร่คำจริงและเป็นฝักฝ่ายของธรรม ฝักฝ่ายความเห็นถูกให้มีกำลังตามธรรมวินัย

 

เข้าใจผิด

๑๖.วัดเมือง กับ วัดชนบท มีเงื่อนไข บริบทต่างกัน

เข้าใจถูก

๑๖.ภิกษุทุกรูปที่บวชแล้วย่อมมีพระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์และต้องประพฤติตามพระวินัยเป็นเงื่อนไขพื้นฐานทุกรูป

เมื่อกาลเมื่อเราล่วงไปแล้ว พระธรรมจะเป็นศาสดาแทนพระองค์ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าภิกษุใด ที่บวช จะอยู่วัดไหน อย่างไร ล้วนมีพระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ เป็น ศากยบุตร เป็นบุตรของพระพุทธเจ้าที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น เงื่อนไข บริบท ที่พระภิกษุทุกรูป จะต้องประพฤติปฏิบัติตามคือ พระธรรมวินัยบัญญัติ พระในเมือง เช่น เมืองราชคฤห์ พระภิกษุที่ดี ก็ล้วนแล้วแต่ ไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง ประพฤติตามพระธรรมวินัย พระภิกษุเมืองตักศิลา อยู่ห่างไกล ภิกษุที่ดีก็ล้วนแล้วแต่ประฤติตามพระวินัย คือ ไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง

พระในเมือง ต้องเสียค่าใช้จ่าย ตามที่กล่าวแล้ว ถ้าแก้ปัญหาถูกวิธี มีคฤหัสถ์เป็นไวยาวัจกร ก็สามารถจัดการเรื่อเงินทองโดยพระไม่ยุ่งเกี่ยว จึงตัดปัญหาเรื่องการรับเงินของพระภิกษุ แต่ถ้าอ้างว่าเสียเวลาไม่สะดวกในการแจ้งกับไวยาวัจกร พระภิกษุอดทนไม่ได้ จนถึงขนาดต้องประพฤติตนนอกคำสอน ล่วงพระวินัยเลยหรือ แล้วบวชทำไม ถ้าไม่ใช่เพื่ออดทน ขัดเกลากิเลส เป็นพระภิกษุที่ดี เพื่อถึงการดับทุกข์ ประพฤติตามพระธรรมวินัย

ดังนั้น เงื่อนไขของพระภิกษุทุกรูป ไม่ต่างกันเลย คือ ประพฤติตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ภิกษุดีที่ตั้งใจประพฤติตามพระวินัย ย่อมไม่มีข้ออ้างไม่เดือดร้อน ประพฤติเบาสบาย แต่ตรงกันข้าม ภิกษุอลัชชี ไม่ละอาย ย่อมมีข้ออ้างเพื่อจะทำผิดพระวินัยเสมอ เป็นผู้เดือดร้อนในพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

 

เข้าใจผิด

๑๗.ต้องให้ลองมาบวชเอง ถึงจะรู้ว่าสมัยนี้พระต้องใช้เงิน รับเงิน เพราะมีชีวิตลำบาก

เข้าใจถูก

๑๗.ผู้ที่รู้อัธยาศัยตนเอง ว่าสละอาคารบ้านเรือนได้ จริงๆ จึงจะออกบวช หากได้อ่านพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง พระพุทธเจ้า ไม่ได้มีการบังคับให้ใครไปบวช พุทธบริษัท จึงมี 4 พระอริยสาวกที่บรรลุธรรมอยู่ในเพศคฤหัสถ์มีมากมาย มีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขาอุบาสิก ท่านเหล่านั้นไม่ได้บวช แต่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญคฤหัสถ์เหล่านั้น เพราะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมในเพศคฤหัสถ์ แต่ พระภิกษุที่ออกบวช แต่ประพฤติตนไม่ตามพระวินัยบัญญัติ พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ แต่ทรงติเตียน เช่น พระฉัพพัคคีย์ที่ละเมิดพระวินัยเป็นประจำ และ ไม่เห็นโทษ เป็นต้น เพราะฉะนั้นตนเองไม่มีอัธยาศัยในการบวช


เครดิตแหล่งข้อมูล : dhammahome.com/


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์