~วิเวกธรรม~...(ธรรมบรรยายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ)

~วิเวกธรรม~


สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง..'วิเวกธรรม' แก่เมตตคูมาณพ
ดังต่อไปนี้้...

อุปกิเลสมีประเภท ๑๐ ประการ คือ ๑.ตัณหา ๒.ทิฏฐิ ๓.กิเลส
๔.กรรม ๕.ทุจริตความประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา และใจ ๖.อาหาร
๗.ปฏิฆะ ๘.อุปาทินนกะ ธาตุสี่ ๙.อายตนะหก ๑๐.วิญญาณกายหก
ทุกข์ทั้งหลายมีชาติทุกข์เป็นต้น ย่อมมีอุปธิกิเลสเหล่านี้เป็นเหตุ เป็น
นิพพาน เป็นปัจจัย

เมื่อบุคคลมารู้ทั่วถึงรู้แจ้งประจักษ์ชัดเจนด้วยวิปัสสนาปัญญาว่า..
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หรือมา
รู้ทั่วถึงว่า...ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ...สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา
ดังนี้แล้วเป็นผู้ตามเห็นซึ่งชาติว่า เป็นแดนเกิดแห่งวัฏฏทุกข์ และ
มาเห็นว่าอุปธิเป็นแดนเกิดแห่งชาติทุกข์เป็นต้นแล้ว ก็ไม่พึงทำอุปธิ
มีตัณหาเป็นต้นให้เจริญขึ้นในสันดานเลย

เมื่อจะทรงแสดงธรรมเครื่องข้ามตัณหา จึงตรัสพระคาถาว่า...ยํ
กิญฺจิ สญชานาสิ อุทฺธํ อโธ ติโยญฺจาปิ มชฺเฌ เอเตสุ นนฺทิญฺจ ปนุชฺช
วิญฺญาณํ เถา น ติฏฺฐ....ดูก่อนท่านทั้งหลาย ท่านจงรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งใน
เบื้องต้น เบื้องต่ำ และเบื้องขวางสถานกลาง แล้วจงบรรเทาเสีย จงละ
เสีย ซึ่งความเพลิดเพลินและความถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น วิญญาณของ
ท่านก็จะไม่ตั้งอยู่ในภพดังนี้

คำว่าเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางสถานกลางนั้น ทรงแสดงไว้ ๖ นัย
คือนัยที่ ๑ อนาคตเป็นเบื้องบน อดีตเป็นเบื้องต่ำ ปัจจุบันเป็นเบื้อง
ขวางสถานกลาง นัยที่ ๒ เหล่าธรรมที่เป็นกุศล เป็นเบื้องบน เหล่า
ธรรมที่เป็นอกุศลเป็นเบื้องต่ำ เหล่าธรรมที่เป็นอัพยากฤตเป็นเบื้อง
ขวางสถานกลาง นัยที่ ๓ เทวโลกเป็นเบื้องบน อบายโลกเป็นเบื้อง
ต่ำ มนุษสโลกเป็นเบื้องขวางสถานกลาง นัยที่ ๔ สุขเวทนาเป็นเบื้อง
บน ทุกขเวทนาเป็นเบื้องต่ำ อุเบกขาเวทนาเป็นเบื้องขวางสถานกลาง
นัยที่ ๕ อรูปธาตุเป็นเบื้องบน กามธาตุเป็นเบื้องต่ำ รูปธาตุเป็นเบื้อง
ขวางสถานกลาง นัยที่ ๖ กำหนดแต่พื้นเท้าขึ้นมาเบื้องบน กำหนดแต่
ปลายผมลงไปเบื้องต่ำ ส่วนท่ามกลางเป็นเบื้องขวางสถานกลาง

เมื่อท่านมาสำคัญหมายรู้เบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางสถานกลางทั้ง
๖ นัยนี้แล้ว แม้อย่างใดอย่างหนึ่งพึงบรรเทาเสียซึ่งนันทิ ความยินดี
เพลิดเพลิน และอภินิเวส ความถือมั่นด้วยตัณหา และทิฏฐิในเบื้องบน
เบื้องต่ำ เบื้องขวาง สถานกลาง เสียให้สิ้นทุกประการ แล้ววิญญาณ
ของท่านจะไม่ตั้งอยู่ในภพและปุณภพอีกเลย เมื่อบุคคลมารู้ชัดด้วย
ญาณจักษุในส่วนเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางสถานกลาง ไม่ให้ตัณหา
ฟุ้งซ่านไปในภพน้อย ภพใหญ่ มีญาณหยั่งรู้ในอริยสัจ์ ๔ เป็นผู้ไม่มีกังวล
คือราคะ โทสะ โมสะ มานะทิฏฐิ และทุจริตต่างๆ ละกังวลทั้งปวงเสีย
แล้ว...กามภเว อสตฺตํ ก็เป็นผู้ไม่ข้องเกี่ยวพันพ้นในวัตถุกามและกิเลส
กาม ในกามภพและปุณภพอีกเลย

ท่านนั้นเป็นผู้ข้ามโอฆะ ห้วงลึกที่กดสัตว์ให้จมอยู่ในวัฏฏสงสารฯ
โอฆะนั้น ๔ ประการคือ ๑ กามโอฆะ ๒ ภวโอฆะ ๓ ทิฏฐิโอฆะ ๔
อวิชชาโอฆะ...ติณฺโณ จ ปรํ ท่านนั้นย่อมข้ามห้วงทั้ง ๔ ไปยังฝั่ง
ฟากโน้น คือพระนิพพานธรรม..อขีเณ เป็นผู้ไม่มีตะปูคือกิเลสเป็น
เครื่องตรึงแล้ว

กิเลสทั้งหลายที่เป็นประธาน คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ
และกิเลสที่เป็นบริวาร มีโกโธ อุปนาโห เป็นต้น จนถึงอกุศลอภิ-
สังขารซึ่งเป็นประหนึ่งตะปูเครื่องตรึงจิตให้แนบแน่นอยู่ ยากที่
สัตว์จะฉุดจะถอนให้เคลื่อนให้หลุดได้ เมื่อบุคคลมาละเสียแล้ว
ตัดขึ้นพร้อมแล้ว เผาเสียด้วยเพลิงคือญาณแล้ว เป็นนรชนผู้รู้ผู้
ดำเนินด้วยปัญญา อันเป็นเครื่องรู้แจ้งชัดเป็นเวทคูผู้ถึงฝั่งแห่ง
วิทยาในพระศาสนานี้ ไม่มีความสงสัยในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
และปฏิจจสมุปบาทธรรมปัจจยการ ย่อมบรรลุถึง..'วิเวกธรรม'...
คือ พระอมฤตนฤพานด้วยประการฉะนี้...ฯ

~ขอนอบน้อมแด่พระไตรสรณะทั้งสาม~

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์