การต้องละทิ้งครอบครัวเพื่อไปบวช

การต้องละทิ้งครอบครัวเพื่อไปบวช




ธรรมบรรยายโดย หลวงพี่ฟับคิ แห่งหมู่บ้านพลัม


การบวชนั้น สิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การที่ต้องละทิ้งบ้าน ครอบครัว และชีวิตทางโลก เพื่อก้าวเข้าสู่วัดและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวทางจิตวิญญาณ (สังฆะ) เราตัดสินใจที่จะบวชเพราะว่า การฝึกปฏิบัติได้กลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เราต้องการก้าวต่อไปบนวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณ

การฝึกปฏิบัติหมายถึงการกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ ณ ที่นี่และขณะนี้ ในทุกๆ ชั่วขณะ และยังหมายถึงการกลับมาสู่สิ่งที่อยู่ตรงนั้น ลมหายใจ ร่างกาย ความรู้สึก การรับรู้ และความคิดของเรา รวมถึงคนข้างๆ เรา ต้นไม้ ผืนดิน และอากาศที่เรากำลังหายใจ ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นว่าไม่มีความขัดแย้งระหว่างการฝึกปฏิบัติกับชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน โดยแท้จริงแล้วการฝึกปฏิบัติที่อยู่ตรงนั้น จะช่วยให้เรามีชีวิตอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เราจะทำสิ่งต่างๆ ในวิถีทางใหม่ ทั้งในความคิด คำพูด และการกระทำ โดยที่เราหยุด และมีสติกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น ดังนั้นวิถีชีวิตของเราจึงค่อยๆ เปลี่ยนไปและปรับเข้ากับสิ่งที่จำเป็นสำหรับการฝึกปฏิบัติ

บางคนคิดว่าการฝึกปฏิบัติอาจจะช่วยแก้ไขปัญหาให้พวกเขาได้ในทันที พวกเขาคิดว่าด้วยวิถีชีวิตนักบวชที่โอบล้อมพวกเขาไว้นั้น จะทำให้พบทางออกจากความยุ่งยากทั้งหลายได้ แต่ในความเป็นจริง การฝึกปฏิบัติก็อยู่ในวิถีชีวิตนั่นเอง เริ่มขึ้น ณ ที่นี่และขณะนี้ ไม่ว่าเธออยู่ที่ไหน เธอเป็นใคร และเธอกำลังทำอะไร ความสำเร็จในชีวิตทางจิตวิญญาณขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะดูแลสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยไม่รีรอสิ่งใด เธอจะนั่งลงและกลับมาอยู่กับตัวเอง ทำตัวเองให้สงบลง และมองให้เห็นวิธีที่จะปรับปรุงตัวเอง ปรับปรุงวิถีชีวิต ปรับปรุงความสัมพันธ์กับผู้ที่อยู่ใกล้ ได้แก่ พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนฝูง ตลอดจนเพื่อนร่วมงาน

         การใช้ชีวิตอย่างมีสติในแต่ละวัน จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตได้อย่างแน่นอน ผลจากการฝึกปฏิบัติด้วยการหายใจอย่างมีสติ ก้าวย่างอย่างมีสติ และด้วยความตระหนักรู้ที่มากขึ้นถึงการกระทำในแต่ละวัน เธอก็จะสามารถระลึกได้ว่ามีการกระทำ คำพูด และความคิดใดที่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ต่อตัวเองและผู้อื่น ดังนั้นเธอจึงสามารถที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์อันลำบากที่กำลังเผชิญอยู่ได้อย่างถูกต้อง และแตกต่างจากที่เคย ยิ่งไปกว่านั้นเธอจะได้พบวิถีทางที่จะอยู่ตรงนั้นกับชีวิต และอยู่ตรงนั้นกับตัวเองมากขึ้น แล้วความสุขที่แท้จริงจะมีได้ในชีวิตทุกๆ วัน

เธอจำเป็นต้องถามตัวเองว่า ความตั้งใจที่จะบวชเป็นภิกษุหรือภิกษุณีคืออะไร สำหรับหลวงพี่แล้วคือการได้บรรลุเป้าหมายในการแสวงหาอันยาวนานสู่วิถีชีวิตทางจิตวิญญาณ ณ ช่วงหนึ่งของการเดินทางของชีวิต หลวงพี่ต้องละทิ้งครอบครัวและเพื่อน ต้องย้ายจากสภาพแวดล้อมที่เคยใช้ชีวิตอยู่ ไปหาสิ่งที่จะทำให้หลวงพี่สามารถดำรงปณิธานไว้ได้ เห็นได้ชัดว่าผู้คนที่หลวงพี่อยู่ด้วยและวิถีชีวิตแบบที่เป็นอยู่นั้นกำลังนำความทุกข์มาให้ตัวหลวงพี่เองและคนรอบข้าง หลวงพี่ไม่มีทางเลือก เพื่อให้อยู่รอดและบรรลุปณิธานอันลึกซึ้งที่จะมีชีวิตทางจิตวิญญาณ จึงต้องละทิ้งครอบครัวและเพื่อนไว้เบื้องหลัง หลวงพี่รู้สึกอยู่ลึกๆ ว่านี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับหลวงพี่ที่จะรับใช้โลก ครอบครัวและเพื่อน และรู้ด้วยว่า ณ ขณะนั้นบุคคลอันเป็นที่รักเหล่านั้นไม่สามารถช่วยให้หลวงพี่เข้าถึงอุดมคติของตัวเองได้เลย

หลวงพี่คิดว่าการเลือกวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณก็คือการดำเนินชีวิตไปในทางที่เราเป็นจริงๆ ถ้าพบว่าวิถีชีวิตในปัจจุบันไม่ได้ช่วยให้เราเข้าถึงสิ่งที่เป็นเรา แต่กลับพาเราออกจากสิ่งนั้น ถ้ารู้สึกว่าครอบครัว เพื่อน สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตของเรา ไม่ได้สนับสนุนให้เข้าสู่เป้าหมายทางจิตวิญญาณ ซ้ำยังกีดกันไม่ให้ได้เติบโตทางจิตวิญญาณ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วเราก็อาจคิดที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต

ในที่สุดเราทุกคนก็กำลังเริ่มต้นด้วยกันที่นี่ ณ ขณะนี้ ในทุกๆ ชั่วขณะ ณ ที่ที่เราอยู่ ไม่มีประโยชน์อันใดที่เราจะฝันถึงเหตุปัจจัยที่ดีกว่าโดยไม่เริ่มเข้าไปร่วมเปลี่ยนแปลงอะไรเสียก่อน ไม่มีประโยชน์อันใดที่เราจะรอให้มีความสงบและความชัดเจนในชีวิตเราเสียก่อนแล้วเราจึงจะมีความสุข ความสุขเริ่มต้นที่นี่และขณะนี้เสมอ ด้วยเหตุปัจจัยที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวันของเรา

ด้วยเหตุนี้จึงควรทำความเข้าใจว่า การบวชเป็นภิกษุหรือภิกษุณีนั้น ไม่ใช่เหตุปัจจัยที่จำเป็นในการเริ่มต้นพบกับความเป็นอิสระทางจิตวิญญาณ แม้การบวชจะช่วยให้การเดินทางบนวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณได้ไกลมากกว่า ซึ่งอาจจะเร็วและลงลึกมากกว่า แต่กระนั้นการบวชก็เป็นเพียงการสืบเนื่องของการเดินทางตลอดทั้งชีวิต

ขอให้เราก้าวต่อไปบนหนทางแห่งการปฏิบัติด้วยความศรัทธา หลวงพี่หวังว่าคำตอบเหล่านี้จะช่วยให้เห็นวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณได้กระจ่างมากขึ้น


***

ภิกษุฟับคิ (Brother Phap Khi) ชื่อของท่านมีความหมายว่า อุปกรณ์ธรรม (Dharma Instrument) ท่านเป็นชาวฝรั่งเศสอายุ 37 ปี ท่านบวชเป็นสามเณรกับหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2544 อุปสมบทเป็นภิกษุในปี พ.ศ.2547 และเพิ่งได้รับตะเกียงธรรมาจารย์จากหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ที่มา หมู่บ้านพลัม


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์