การบวชอยู่ที่บ้าน 2

การบวชอยู่ที่บ้าน 2


การบวชอยู่ที่บ้าน 2


หลักปฏิบัติในการบวชอยู่ที่บ้าน


๒. มีวิริยะ-มีความเพียรและกล้าหาญ

ทีนี้ ข้อที่ ๒ มีวิริยะ วิริยะแปลว่า ความเพียร หรือ ความกล้าหาญ, บวกกันทั้งความเพียรและความกล้าหาญเข้าด้วยกัน ก็เรียกว่า วิริยะ, ยิ่งมีศรัทธาในธรรมะหรือในตัวเองมาก่อนแล้ว วิริยะก็จะเข้มแข็งถึงที่สุด; อาศัยอำนาจของศรัทธา นั้นเป็นพื้นฐาน กระทำอย่างกล้าหาญ อย่างพากเพียร ในสิ่งที่ควรจะทำ ทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องเกี่ยวกับโลก หรือ เกี่ยวกับเหนือโลก.

เรื่องที่เราจะต้องทำ ถ้ากล่าวกันแต่ใจความสรุปสั้นๆ แล้วก็จะมีอยู่ ๔ ประการ ด้วยกัน คือ มีความพากเพียรกล้าหาญในการที่จะป้องกัน, พากเพียรกล้าหาญ ในการที่จะสละ, พากเพียรกล้าหาญในการที่จะสร้างสรรค์, และพากเพียรกล้าหาญในการที่จะรักษา. คำ ๔ คำนี้มีความหมายคลุมหมดในหน้าที่ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ป้องกัน สละ สร้าง และรักษา.

(๑) ป้องกัน คือ ป้องกันไม่ให้ สิ่งที่ไม่ควรจะเกิดจะมีนั้น เกิดมีขึ้นมา; เช่นศัตรูอย่างนี้ เราต้องใช้การป้องกันไม่ให้เกิด ไม่ให้มีขึ้นมา. กิเลสเป็นศัตรูร้ายกาจกว่าอะไรหมด ก็มีการป้องกัน อยู่อย่างถูกต้อง, ราวกับว่าป้องกันข้าศึกอันใหญ่หลวง ไม่ให้เกิดขึ้นได้.

แล้วก็อันที่ (๒) สละที่เกิดขึ้นแล้ว; ถ้าสิ่งที่ไม่พึงปรารถนานั้นได้เกิดขึ้นเสียแล้ว ก็ต้องพากเพียร เข้มแข็ง กล้าหาญ ในการที่จะสละมันออกไปเสีย.

ทีนี้ก็มาถึงส่วนที่ (๓) ต้องสร้างสรรค์ ได้แก่สิ่งที่ยังไม่มี ความดี ความงาม กุศล สุจริต ทุกอย่างทุกประการที่ควรจะมีในตนที่มันยังไม่เคยมี ก็ต้องสร้างให้มีขึ้นมา, ด้วยอาศัยความเชื่อในสิ่งนั้นๆ และเชื่อตัวเอง ว่าจะปฏิบัติได้ ดังที่กล่าวมาแล้วในข้อศรัทธา ก็สามารถจะสร้างสิ่งที่ยังไม่มีในตน, ความดีหรือกุศลที่ยังไม่มีในตน ให้เกิดมีขึ้นมาในตนให้จนได้, นี้เรียกว่า ในทางสร้างสรรค์.

ทีนี้ (๔) ข้อสุดท้าย ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้เท่าไร เพียงไร ต้องมีการรักษา, มีการรักษา หรือจะถึงกับพัฒนาให้เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นหน้าที่สุดท้าย คือรักษา. เหมือนกับว่าหาเงินมาได้ มันก็ต้องรักษาให้อยู่ในสภาพที่ถูกต้อง, ให้ใช้จ่ายในลักษณะที่ถูกต้อง, ให้มีอยู่อย่างถูกต้อง.

เราอยู่ที่เรือน บวชอยู่ที่เรือน แต่มีวิริยะ: ความพากเพียร หรือกล้าหาญถึงที่สุด ในการที่จะป้องกันไม่ให้ความชั่วร้ายอกุศลบาปใดเกิดขึ้นในตน, ป้องกันได้เต็มที่. แล้วถ้ามีบาป มีอกุศลที่ได้เกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอ ก็ละไปเสีย อย่างเต็มที่, แล้วก็สร้างที่มันยังไม่เกิด บุญกุศลความดีที่ยังไม่เกิด ก็สร้างให้เกิด, ทำให้เกิดขึ้นมา. ครั้นเกิดขึ้นได้แล้ว ก็รักษาให้เจริญรุ่งเรือง ยิ่งๆ ขึ้นไป, นี้เรียกว่า มีวิริยะอยู่ที่บ้านที่เรือน.

โดยมากไม่สนใจที่จะทำให้จริง คือปล่อยไปตามบุญตามกรรม: แต่เดี๋ยวนี้เราต้องการจะเป็นผู้บวช จะเป็นนักบวชอยู่ที่บ้าน ก็จะต้องตั้งใจเป็นพิเศษ ในฐานะที่ว่าเป็นนักบวช; แม้ว่าจะอยู่ที่บ้าน มีความระมัดระวัง ให้เกิดความถูกต้องในการที่จะป้องกัน หรือ สละ หรือ สร้าง หรือ รักษา ดังที่กล่าวมาแล้ว.

๓. มีสติ- ต้องใช้ในทุกกรณี
ทีนี้ ข้อถัดไป ก็คือ มีสติ, มีสติ สิ่งที่เรียกว่า สติ นี้เป็นธรรมะพิเศษ, เป็นธรรมะจำเป็นสำคัญที่จะต้องใช้ในทุกกรณี; ช่วยจำข้อความนี้ไว้ให้ดีๆ ว่าธรรมะที่จะ ต้องใช้ทุกกรณี ไม่ว่าที่ไหน อย่างไร ได้แก่ สติ. ทุกเรื่องมันต้องทำไป หรือเป็นไป ในความควบคุมของสติ; ถ้าไม่มีสติ มันก็ทำอะไรไม่ได้, แม้แต่จะลุกขึ้นยืนจะเดินไปมันก็ทำไม่ได้, มันก็หกล้มหกลุกซวนเซไป, แม้แต่จะรับประทานอาหาร ถ้ามันไม่มีสติ เดี๋ยวมันก็ป้อนอาหารเข้าจมูกไป, หรือว่าถ้าไม่มีสติ มันก็จะกินอาหารอย่างตะกละ อย่างที่เป็นกิเลส ไปคิดดูเองก็แล้วกันว่า เรื่องอะไร ทุกเรื่องที่อยู่ที่บ้านที่เรือน นับตั้งแต่ว่าจะทำงานชั้นหยาบ ตักน้ำ ผ่าฟืน ล้างหม้อล้างไห ก็ต้องทำไปด้วยความรู้สึกที่เรียกว่า สติ ถ้ามันเป็นเรื่องของกิเลสแล้ว ก็จะต้องระมัดระวังยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงมีหลักในชั้นสูงว่า มีสติในทุกผัสสะ, มีสติในทุกผัสสะ.

สิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ นี้ เข้าใจว่าคงจะเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้ว เพราะพูดกันมามากมายหลายสิบครั้งเต็มทีแล้ว พูดสรุปอีกทีหนึ่งก็ว่า เรา คนเรานี่ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างที่จะกระทบกันเข้ากับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ที่อยู่ข้างนอก ที่เป็นคู่กระทบ; เรียกว่า มันมีคู่ติดต่อ หรือ คู่กระทบ: ตาเป็นคู่กับรูป หูเป็นคู่กับเสียง จมูกเป็นคู่กับกลิ่น ลิ้นเป็นคู่กับรส ผิวหนังเป็นคู่กับโผฏฐัพพะที่จะมากระทบผิวหนัง; นี้เป็นฝ่ายกาย เป็นฝ่ายรูปธรรม, คู่สุดท้ายเป็น ฝ่ายนามธรรม คือ ใจ ที่จะรู้สึกกระทบต่อความรู้สึกคิดนึกของใจ ที่เรียกว่า ธัมมารมณ์ ใจนี้เป็นคู่กับธัมมารมณ์ จะต้องพบกันอยู่เสมอ คือ มันคิดนึกรู้สึกได้, จะอาศัยความจำแต่หนหลัง ที่จำอะไรๆ ไว้ได้มาก สิ่งเหล่านั้น ก็จะมากลายเป็นสิ่งสำหรับคิดนึกรู้สึกขึ้นมาแล้วก็กระทบใจ. นี้ก็เรียกว่า มีคู่กระทบ:

ตา      ก็มีสิ่งสำหรับกระทบ คือ  รูป, 
หู        ก็มีสิ่งสำหรับกระทบ คือ  เสียง
จมูก    ก็มีคู่กระทบ คือ               กลิ่น
ลิ้น      มีคู่กระทบ คือ                 รส
ผิวกาย ก็มีคู่กระทบ คือ              โผฏฐัพพะ
ใจ       ก็มีคู่กระทบ คือ               ธัมมารมณ์

เป็นสิ่งที่อยู่กับเนื้อกับตัว หรือเป็นเนื้อเป็นตัวของตนอยู่แท้ๆ แต่แล้วคนก็ไม่รู้จัก นี่พิจารณาดูกันถึงข้อนี้ก่อนเถอะว่า มันเป็นเนื้อเป็นตัวของตัวอยู่กับตัวแท้ๆ แต่คนก็ไม่รู้สึก ไม่รู้จัก ว่ามันมีอยู่อย่างไร ในฐานะอย่างไร

ถ้าจะศึกษาธรรมะให้เป็นธรรมะกันจริงๆ แล้ว จะต้องรู้จักสิ่งสำคัญ ๖ คู่นี้ ให้แจ่มแจ้งชัดเจนแน่นอน รู้กันให้ทั่วถึงเกี่ยวกับเรื่องทั้ง ๖ นี้; เพราะว่าอะไรๆ มันก็สำเร็จมาจากอายตนะ ๖ คู่นี้, หรือว่า โลก โลกทั้งโลกมันจะมีปรากฏอยู่ได้ก็เพราะว่าเรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. ถ้าเราไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็คือ ไม่มีอะไร, มันก็คือไม่มีโลก ไม่มีอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง. จงรู้จักสิ่งที่เรามี สำหรับทำให้สิ่งต่างๆ มี และเป็นเรื่องราวขึ้นมา ก็เพราะสิ่งทั้ง ๖ นี้, สิ่งทั้ง ๖ นี้จึงอยู่ในฐานะสำคัญว่า ถ้าจัดการกับมันถูกก็ดีไป ถ้าจัดการกับมันผิด ก็เป็นเรื่องร้ายเหลือที่จะร้าย ไม่มีอะไรจะร้ายยิ่งไปกว่านี้.

จึงขอชักชวนวิงวอนท่านทั้งหลายว่า จงรู้จักสิ่งทั้ง ๖ คู่นี้ให้ดีที่สุด ในฐานะที่มันมีอยู่ในตัวเรา หรือมันเป็นตัวเราอยู่นั่นเอง, แล้วก็มีสติเมื่อสิ่งนี้ทำหน้าที่: มีสติเมื่อตาทำหน้าที่เป็นรูป, มีสติเมื่อหูทำหน้าที่ได้ยินเสียง, มีสติเมื่อจมูกทำหน้าที่ดมกลิ่น, มีสติในเมื่อลิ้นทำหน้าที่รู้รส, มีสติเมื่อผิวหนังทำหน้าที่กระทบสิ่งที่มากระทบผิวหนัง, และมีสติเมื่อใจทำหน้าที่กระทบเข้ากับธัมมารมณ์ คือ ความรู้สึกนึกคิด ให้รู้โดยประจักษ์ว่ามันเป็นอย่างไร แล้วมันมีการกระทำสืบต่อต่อไปอย่างไร ซึ่งก็ควรจะทราบไว้ด้วยเหมือนกัน.

ยกตัวอย่างคู่แรก คือ ตากับรูป พอตากับรูปกระทบกัน มันก็เกิดวิญญาณทางตา คือการเห็นแจ้งทางตาขึ้นมา นี่เรียกว่า วิญญาณทางตา ตากับรูปที่มากระทบ และวิญญาณทางตา มีอยู่พร้อมกัน ๓ อย่างนี้ในหน้าที่เดียวกัน, นั่นแหละเรียกว่า ผัสสะ; ไม่ใช่เพียงแต่ตากระทบรูป นั้นมันพูดหยาบๆ เกินไป พูดตามพระบาลี ที่ชัดเจนแล้ว จะต้องมี ๓ เสมอ คือ มีอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และ วิญญาณ ที่เกิดออกมาจากอายตนะนั้นๆ เหมือนอย่างในทางตาดังที่กล่าวแล้ว พอตาเห็นรูป กระทบกับรูป ก็เกิดการเห็นทางตา คือ จักษุวิญญาณ, เลยได้เป็น ๓ อย่าง คือ ตา อย่างหนึ่ง รูป อย่างหนึ่ง จักษุวิญญาณอย่างหนึ่ง, จักษุวิญญาณทำหน้าที่สัมผัสรูปทางตา นี่เรียกว่า จักษุสัมผัส, จักษุสัมผัส มีการสัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ฯลฯ ก็เหมือนกันแหละ มันมีอยู่ ๓ อย่าง อย่างนี้ ทำหน้าที่รู้สึกอยู่ก็เรียกว่า ผัสสะ.

ทีนี้ ผัสสะมีแล้ว เช่น ผัสสะทางตามีแล้ว มันก็ จะเกิดเวทนา คือ ความรู้สึกที่พอใจ หรือไม่พอใจ หรือ เฉยๆ เป็นเวทนา ๓ อย่างขึ้นมา เรียกว่า เวทนาที่เกิดมาจากการสัมผัสโดยทางตา นี่เวทนาเกิดแล้ว มันไม่หยุดอยู่เพียงนั้น มันให้เกิดอันอื่นต่อไปอีก ถ้าในขณะสัมผัสนั้นเราเป็นคนโง่ คือ ไม่มีสติ หรือ ไม่มีปัญญา ใดๆ ในขณะที่สัมผัสทางตานั้น มันก็ เป็นสัมผัสโง่, มันก็ออกมาเป็น เวทนาโง่ ที่ไม่มีสติควบคุม. มันก็ปรุงความคิดนึกต่อไป คือ มีความยินดี เมื่อสัมผัสนั้นให้พอใจ ยินร้าย โกรธแค้นขัดเคือง เมื่อสัมผัสนั้น ไม่เป็นที่พอใจ หรือ เกิดพะวงหลงใหลอยู่ อยากจะรู้แต่ก็ไม่รู้ว่าอะไร อย่างนี้ เมื่อสัมผัสนั้น มันไม่แสดงว่าเป็นที่พอใจ หรือ ไม่เป็นที่พอใจ เมื่อเวทนานั้น ไม่ชัดลงไปว่า เป็นที่พอใจหรือ ไม่เป็นที่พอใจ.

นี่มัน เกิดโลภะ โทสะ โมหะ ขึ้นมาตรงนี้; ถ้ารับเอาด้วยความพอใจ ก็เกิดโลภะ รับเอาด้วยความไม่พอใจ ก็เกิดโทสะ รับเอาด้วยความไม่แน่ใจว่า พอใจหรือไม่พอใจ ก็เกิดโมหะ ถ้าเกิดโลภะ โทสะ โมหะ แล้ว มันเกิดไฟเสียแล้วนั่นเอง.

ทีนี้มันก็ จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา คือ อยากต่อไป ในกรณีที่เกิดโลภะ คือ เวทนาเป็นที่ถูกใจ เกิดโลภะ มันก็เกิดตัณหา สำหรับจะได้ จะเอา จะมีไว้ หรือ จะหามาอีก; หรือถ้าหากว่ามัน เกิดโทสะ คืออารมณ์นั้นไม่น่าพอใจ เกิดโทสะ มันก็เกิดความอยาก คือ ตัณหา อยากจะฆ่าเสีย อยากจะทำลายเสีย หรืออยากจะผลักไสออกไปเป็นอย่างน้อย ตามแบบของโทสะ ถ้าว่ามัน ไม่แน่ว่าอย่างไร มันก็วนเวียนอยู่ที่นั่น เป็นลักษณะของ โมหะ.

นี่มัน เกิดโลภะ โทสะ โมหะ อย่างนี้แล้ว มันก็คือ เกิดไฟ, เกิดไฟขึ้นในจิตใจ ถ้ามีสติเสียแต่ในขณะผัสสะ แล้ว มันไม่เกิดอย่างนี้ มันกลายเป็นเกิดอีกทางหนึ่ง คือ ทางที่ให้รู้ว่า นี่อะไรนะ นี่อะไรนะ ควรทำอย่างไรนะ นี่ควรทำหรือไม่ควรทำ ควรทำอย่างไร ก็ทำไปตามที่ควรจะทำ ไม่มามัวยินดียินร้ายโกรธแค้นขัดเคืองอะไรอยู่ มันก็เลยไม่เกิดไฟ ไม่เกิดทุกข์ นี่เพราะ อำนาจสติ แท้ๆ ที่ป้องกันไว้ไม่ให้เกิดไฟขึ้นมา ในเมื่อมีการกระทบทางผัสสะ

เมื่อมีตัณหา เป็นความอยากแล้ว มันก็ ปรุงแต่ไปเป็น อุปาทาน คือ ผู้อยาก ความรู้สึกอยาก มันก็จะปรุง ให้เกิดความรู้สึกว่า มีผู้อยาก ซึ่งเป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนอะไร; พอมีผู้อยากแล้ว มันก็ถึงที่สุดแล้ว ที่มันจะเป็นเรื่องสำหรับจะเป็นทุกข์ทรมาน คือมันมีความรู้สึกหนัก ด้วยความมีตัวตน ความมีตัวตน, และเมื่อมีตัวตนแล้ว มันก็มีอะไรเป็นของตน.

เมื่อเกิดตนขึ้นมาอย่างนี้แล้ว เกิดตนในความรู้สึก ไม่ใช่ตัวจริงอะไร เพียงแต่ในความรู้สึกว่าตัวตน มันเกิดตัวตนอย่างนั้นแล้ว มันก็เอาอะไรๆ มาเป็นของตน ทั้งภายนอกและภายใน เช่น ยึดถือเอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มาเป็นของตน มันก็หนักเท่าไร ทุกข์เท่าไร ร้อนเท่าไร ทีนี้ ภายนอก มันก็ยึดถือเอา ทรัพย์สมบัติสิ่งของ บุตรภรรยาสามี เป็นต้นว่า เป็นของตน, มันก็หนักเท่าไร มันก็เลยหนักรอบด้าน หนักทุกทิศทุกทาง เพราะเมื่อผัสสะ ทำผิดเมื่อผัสสะ แล้วก็ ความทุกข์มันก็เกิด อย่างนี้.

ถ้ามีสติเมื่อผัสสะ คือได้ศึกษาฝึกฝนมาดี มีสติมีปัญญา แล้วก็มีสติมาทันเวลาที่มันมีอะไรมากระทบตา มันก็เป็นการกระทบที่ฉลาด เป็นสัมผัสที่ฉลาด คือสัมผัสด้วยสติ มันไม่หลงปล่อยให้กิเลสเกิด แต่มันกลับรู้ว่า ควรทำอย่างไร แล้วมันก็ทำไปในทางที่ควรทำ ให้เกิดประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ไม่เกิดโทษ ถ้าไม่มีสติ มันก็ไปเกิดกิเลส แล้วมันก็เกิดโทษ มันเป็นได้อย่างนี้ทั้ง ๖ ทางคือ ทั้งทาง ตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ มีวิธีที่จะปรุงแต่งจนเกิดความทุกข์กันอย่างนี้

นี่เป็นวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ เรื่องของความทุกข์ ในเรื่องของความทุกข์ ตามหลักแห่งพุทธศาสนาเป็นหลักวิทยาศาสตร์ตามธรรมชาติ ในพระพุทธศาสนาว่ามีอยู่อย่างนี้ ความสุข และ ความทุกข์ มันเกิดขึ้น เพราะทำผิดหรือทำถูกในขณะแห่งผัสสะ; มันไม่ได้เกิดมาจากผีสางเทวดา เคราะห์ โชค ดวงดาวอะไรที่ไหน พระองค์จึงตรัสว่า มันไม่ได้เกี่ยวกับผลกรรมแต่ชาติก่อนด้วยซ้ำไป มันเกิดมาจากการกระทำผิดหรือกระทำถูก ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือผัสสะ นั่นเอง นี้เราก็มีผัสสะชนิดที่มีสติ เราจึงต้องมีสติ เพื่อจะได้ควบคุมผัสสะ

คำว่า สติ นั้นน่ะ มันประกอบอยู่ด้วยปัญญาเสมอ คำว่า สติ นั้น ต้องประกอบด้วยปัญญาอยู่เสมอ สติ คือ ระลึกได้ ระลึกก็คือ ระลึกความจริงของความจริงว่า เป็นอย่างไร นั้นคือ ปัญญา สติขนเอาปัญญามาทันเวลา ที่มีการกระทบทางอายตนะนี้, มันก็ รู้ว่าควรทำอย่างไร มันก็เลยทำไปในทางที่ไม่เกิดทุกข์ ไม่เกิดความรัก ไม่เกิดความโกรธ ไม่เกิดความเกลียด ไม่เกิดความกลัว ไม่เกิดความอิจฉาริษยา ไม่เกิดความหึงความหวง ไม่เกิดความอาลัยอาวรณ์ ไม่เกิดอะไรต่างๆ ที่เป็นที่ตั้งแห่งความทนทุกข์ทรมาน นี่เรียกว่า มีสติ

บวชอยู่ที่บ้าน แต่มีสติอย่างนี้ ลองคิดดูคำนวณดู; บวชอยู่ที่บ้านโดยการมีสติอย่างนี้ อยู่ที่บ้านมันดีกว่าที่บวชอยู่ที่วัดหลายๆ องค์ ที่ไม่ประสีประสาอะไร ไม่รู้จักแม้แต่ว่ามีสติคืออะไรด้วยซ้ำไป นี่ขอให้สนใจว่า ที่บ้านก็บวชได้ บวชได้อย่างยิ่ง ถ้ามีสติสมบูรณ์ ในลักษณะอย่างที่กล่าวมานี้.

เรามีหลักว่า ในขณะที่สัมผัส สัมผัสหรือกระทบต้องมีสติ เมื่ออะไรมากระทบจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต้องมีสติ ให้เป็นการสัมผัสสิ่งนั้นๆ ด้วยสติ ก็เรียกว่า สัมผัสด้วยวิชชา, สัมผัสด้วยปัญญา มีความลืมหูลืมตา ก็กระทำไปอย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาดใดๆ ไม่อาจจะเกิดทุกข์ได้ นี่เรียกว่า เราสัมผัสโลกด้วยสติปัญญาอยู่ทุกวันๆ ทุกวันๆ ทุกวันๆ สัมผัสโลก คือ สิ่งทั้งปวงที่มากระทบ ด้วยสติด้วยปัญญา อยู่ตลอดเวลา ก็ไม่เกิดความทุกข์

บวชอยู่ที่บ้าน เป็นนักบวชอยู่ที่บ้าน ทำได้อย่างนี้ ก็คือ ปฏิบัติสูงสุด ตามหลักพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว

นี่จำไว้ว่า ถ้าว่าทำผิดเมื่อผัสสะ คือเป็นสัมผัสด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา แล้วก็เกิดทุกข์ ถ้าสัมผัสด้วยวิชชา รู้จริงตามที่เป็นจริงอย่างไร เรียกว่า เป็นสัมผัสด้วยวิชชาแล้วก็ไม่เกิดทุกข์ ฉะนั้นอย่าได้มีการสัมผัสด้วยความโง่, อย่าได้มีการกระทบหรือรับอารมณ์ใดๆ ด้วยความโง่ แต่ให้รับหรือ รู้สึกอารมณ์นั้นๆ ด้วยสติ ด้วยปัญญา และให้ฝึกฝนอยู่เป็นประจำ

เรื่องนี้ พูดมันก็พูดได้ และพูดง่าย; แต่พอถึงคราวที่จะทำมันไม่ง่ายนัก มันอาจจะพลั้งเผลอ หรือทำไม่ได้ ต้องมีความทุกข์กันเสียก่อน ตั้งหลายครั้งหลายหนแล้วจึงค่อยๆ ทำได้ จึงค่อยๆ ทำได้ นี่มันจึงจะสำเร็จประโยชน์ ค่อยๆ ทำได้ ฉะนั้น จะต้องฝึกฝนอยู่ให้ดีที่สุด เหมือนที่เขาฝึกฝนอะไร ๆ ที่เขาพอใจ อย่างพวกที่เล่นกีฬา เล่นศิลปะหาเงินหาทอง เขาฝึกเหลือประมาณ เช่นว่าจะเตะตะกร้อลอดบ่วงได้ อย่างนี้ต้องฝึกเหลือประมาณ นี้ก็เหมือนกันแหละ เราก็ฝึกเหลือประมาณ ฝึกที่จะให้มีสติ ทุกครั้งที่ผัสสะ, แล้วถ้ามันล้มเหลว เผลอไป ก็ละอายๆ ละอายแก่ตัวเอง ว่าไม่สมควรแก่เราเลย ที่เป็นผู้ไม่มีสติ ขาดสติ พลั้งเผลอจนเกิดความทุกข์ เราไม่ได้เกิดมาเพื่อความทุกข์ แล้วทำไมจึงมากลายเป็นมาเกิดเพื่อความทุกข์อย่างนี้ ก็เสียใจอย่างยิ่ง ละอายอย่างยิ่ง ทุกๆ คราวที่พลั้งพลาด เผลอไป จนเกิดความทุกข์ ไม่เท่าไรมันก็จะไม่เผลอ ก็จะเผลอน้อยเข้าจนไม่เผลอ

อุปมาสมมติเหมือนอย่างว่า มันเดินตกร่อง ตกร่องที่นอกชาน หรือตกร่องที่ไหนก็ตาม มันเดินไม่ดี ไม่ดูให้ดี แล้วมันตกร่อง เดินตกร่องนั้นมันทั้งเจ็บด้วย แล้วมันทั้งน่าละอายด้วย ใครเห็นก็ละอายเขา ถ้าคอยสังวรอยู่ว่า มันเจ็บด้วย มันละอาย มันน่าละอายอย่างยิ่งด้วย ก็จะระวังดีขึ้น เมื่อระวังดีขึ้น มันก็ไม่ตกร่องอีกต่อไป นี่แหละการที่จะมีสติอย่างดีที่สุด ต่อสิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ นั้น ต้องตั้งใจอย่างนี้ ต้องอธิษฐานจิตอย่างดียิ่งที่จะไม่พลั้งเผลอ และกลัว ว่ามันเป็นทุกข์และละอาย ว่ามันเป็นสิ่งที่น่าละอาย

เดี๋ยวนี้เราไม่รู้สึกกันเสียทั้ง ๒ อย่าง หรือ ทั้งทุกอย่าง กลัวก็ไม่กลัว ละอายก็ไม่ละอาย มันก็เลยมีได้มากแล้วเป็นทุกข์อยู่ข้างใน; ก็เพราะว่าไม่มีใครรู้, แม้ว่าไม่มีใครรู้ แต่มันเป็นทุกข์อยู่ข้างใน ก็ขอให้กลัวและให้ละอายอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าที่มันมาข้างนอก จนคนอื่นเขารู้หรือเขาหัวเราะเยาะ

นี่ผู้ที่มีธรรมะแล้ว ก็จะต้องมีความกลัวและความละอายอย่างยิ่งอยู่ประจำตัว มีหิริ มีโอตตัปปะ ในธรรมะที่เป็นภายในอย่างนี้แหละ มีประโยชน์ดียิ่งกว่าที่เป็นภายนอก เป็นเรื่องภายนอก หมายความว่าที่ใครๆ เขารู้เขาเห็น ก็ยังไม่สำคัญเท่าที่ไม่มีใครรู้เห็น เรารู้เห็นของเราแต่คนเดียว นี่มันสำคัญมาก มันเสียหายมาก มันเป็นสิ่งที่จะยอมให้มีขึ้นมาไม่ได้

นี่ขอให้สนใจ มีสติเท่านั้นแหละ มันก็รอดจากความทุกข์ในทุกกรณี มันไม่สร้างความทุกข์ขึ้นมาได้ เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ ไม่ต้องไปโทษผีสางเทวดา ซึ่งเป็นความโง่อย่างยิ่ง เพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง มันโง่จนปล่อยให้ความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว นี้มันก็โง่หนึ่งแล้ว ทีนี้มันก็ไปโทษผีสางเทวดา มันก็เป็นอีกโง่หนึ่ง มัน ๒ โง่ ๓ โง่ ซ้ำเข้าไป แล้วมันก็น่าละอายสักเท่าไร ขอให้คิดดู

ความสุข และความทุกข์เกิดขึ้น เพราะเราทำผิดหรือทำถูกเมื่อมีผัสสะ ที่เรียกว่า ตามกฏอิทัปปัจจยตา, มีพระบาลีตรัสไว้ ซึ่งควรจะนึกถึงด้วยเหมือนกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า สุขทุกข์ไม่ได้เกิดมาจากพระเป็นเจ้า, สุขทุกข์ไม่ได้เกิดมาจากกรรมเก่า, และสุขทุกข์ก็ไม่ใช่ไม่มีเหตุ สุขทุกข์ก็มีเหตุ เหตุนั้นก็คือ ทำผิดหรือทำถูกต่อกฏอิทัปปัจจยตา ถ้าทำผิดต่อกฏอิทัปปัจจยตาก็เกิดทุกข์ ถ้าทำไม่ผิดก็ไม่เกิดทุกข์ ทำผิดต่อกฏอิทัปปัจจยตา ก็ทำเมื่อมีอารมณ์มากระทบนั่นเอง เมื่อมีผัสสะนั่นเอง, เป็นเวลาสำคัญที่สุด ที่จะต้องประพฤติให้ถูกต่อกฏอิทัปปัจจยตา แล้วมันก็ไม่เกิดความทุกข์

นี่ ถ้าทำสติได้ อย่างนี้ แม้บวชอยู่ที่บ้าน ก็ดีกว่าพวกที่บวชอยู่ที่วัดเป็นไหนๆ นี่พูดอย่างนี้มันชอบกลเหมือนกัน แล้วมันก็เสี่ยงอยู่ว่าจะอันตราย แต่ขอยืนยันว่า ถ้าบวชอยู่ที่บ้าน แล้วทำได้อย่างนี้ ดีกว่าพวกที่บวชอยู่ที่วัดโดยมากที่ไม่ทำอย่างนี้ ที่ไม่ได้ทำอย่างนี้ บวชละเมอๆ อยู่




โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ
http://www.buddhadasa.com/shortbook/homesika.html


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์