การปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ (พระอาจารย์สุรพจน์ สทฺธาธิโก)

การปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ (พระอาจารย์สุรพจน์ สทฺธาธิโก)


การปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ (พระอาจารย์สุรพจน์ สทฺธาธิโก)


>> เห็นว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจค่ะ จากหนังสือมหาสติปัฏฐาน ๔ ภาคปฏิบัติ แสดงธรรมโดย พระอาจารย์สุรพจน์ สทฺธาธิโก ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ บ้านวังเมือง ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ขอคัดมาบางตอนมาให้อ่านกันค่ะ >>

วิธีปฏิบัติเข้าสู่จิตภายใน

ปล่อยความกังวลในอดีตทิ้งไปก่อน ความกังวลในอนาคต ที่ยังมาไม่ถึง เราก็วางไว้...

ผ่อนคลายให้สบายๆ ทำความรู้สึกตัวให้ชัดเจน ว่าเราอยู่ในอิริยาบทไหน ไม่เกร็ง ปล่อยสบายๆ เป็นธรรมชาติ สูดลมหายใจเข้าไปช้าๆ อย่างนุ่มนวล ค้างไว้ตรงกลางทรวงอกบริเวณลิ้นปี่ ซึ่งเป็นตำแหน่งของจิต

...นิ่งสักครู่หนึ่ง...

จะมีความรู้สึกเต้นตึ้บๆ คล้ายชีพจรเต้น วุ้บๆ เหมือนตาน้ำที่ผุดขึ้นมา ติ๊กๆ เหมือนเสียงการทำงานของเข็มวินาที หรือมีความรู้สึกอุ่นๆ แน่นๆ

สังเกตที่กลางทรวงอก พอสังเกตได้แล้ว ก็ให้สังเกตความรู้สึกนี้ไว้

ปล่อยลมหายใจให้เป็นปกติ ไม่ต้องตามลมหายใจเข้าออก

ถ้ารู้สึกหายใจแรงขึ้นมา รู้สึกเหมือนเหนื่อยๆ ไม่ต้องไปตามลมหายใจ

แต่สังเกตความรู้สึกที่จิตไว้ ลมหายใจจะค่อยๆ ระงับ จนเข้าสู่ความเป็นธรรมชาติปกติ

เวลาฟังอยู่ ภายในก็รู้สึกไปด้วย จะนั่ง จะยืน จะเดิน แม้แต่อ่านหนังสือ แม้ขณะฟังพระเทศน์อยู่ สังเกตความรู้สึกภายในไปตลอด นี่แหละ... จะเป็นที่พึ่งภายในตัวเราเอง

บางคน รู้สึกย้าง นิ่งบ้าง มันมีความเปลี่ยนแปลงในตัวของมันเอง เราก็สังเกตความรู้สึกที่จิตตรงนั้นไว้ ดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปตลอด ไม่ต้องกังวลว่า แรงหรือเบา ชัดหรือไม่ชัด ใส่ใจอยู่ เห็นความไม่เที่ยงอยู่ทุกขณะ

สำหรับผู้ที่ยังรู้สึกว่า "ทำไม่ได้" บางที เราไปอยู่กับความคิด เราไม่ได้สังเกตความรู้สึก ไปอยู่กับความสงสัย เหมือนน้ำ... ถ้ามันนิ่งๆ เราก็มองเห็นว่า มีก้อนหินอยู่ มีปลาว่ายอยู่ แต่ถ้าเกิดมีก้อนหินโยนลงไปในน้ำ ตู๋ม... มันก็แผ่คลื่น เราก็ไม่สามารถมองเห็นได้ว่า มีอะไรอยู่ในน้ำ...

ถ้าเรานิ่งๆ สังเกตความรู้สึกไปตรงกลางทรวงอก มันก็มีธรรมชาติเกิด-ดับของมันอยู่แล้ว เพียงแต่เราไปอยู่กับความคิด ความสงสัยว่า ใช่หรือเปล่า ? ลังเล ไม่แน่ใจ ไม่ได้กลับมาสังเกตความรู้สึกภายใน...

บางท่านที่รู้สึกว่า เรานั่งแล้วไม่นิ่งเลย... ความคิดเยอะ... เราปฏิบัติไม่ได้หรอก... สมาธิสั้น... ลองนิ่งสังเกตดู...

ที่บอกว่า "ไม่นิ่ง" นั้น แล้วใครล่ะที่เห็นว่า "มันไม่นิ่ง"

ก็จิตแห่งผู้รู้ ที่นิ่งเงียบอยู่นั่นแหละ ที่ "เห็น" อยู่ จึงเห็นความคิด เห็นอารมณ์ต่างๆที่วิ่งผ่านไปผ่านมา แต่เพราะเราไม่รู้ -- ไปยึดถือความคิดว่า เป็นตัวของเราเอง... จึงรู้สึกว่า "เราไม่นิ่ง"

พอเราปรับความเห็นให้ถูกต้อง ว่าจิตภายในนั้นนิ่งสงบเงียบอยู่ เมื่อเรารู้สึกเข้าไปอยู่ ส่วนที่ไม่นิ่ง มันเป็นความคิด เป็นอารมณ์ ที่วิ่งไปวิ่งมา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีหน้าที่ไปห้ามความคิด แต่เราต้องรู้สึกธรรมชาติของความคิด คือ "ความคิด มันก็คิดของมันอยู่อย่างนั้น"

เมื่อเราปรับความเห็นให้ถูกต้องแล้ว เราก็สังเกตความรู้สึกไปที่ฐานของจิต เป็นความรู้สึกวุ้บๆ เหมือนน้ำที่ผุดขึ้นมาจากตาน้ำตลอดเวลา

บางคนรู้สึกนิ่งๆ ก็สังเกตไปที่ความรู้สึกนั้นก่อน ประคองไว้ก่อน ประคองไว้ตลอด เหมือนคนที่ถือขันน้ำ ที่มีน้ำอยู่เต็ม... เผลอแล้ว เผลอไปนะ นึกได้ตอนไหน ดูตอนนั้น ไม่ต้องไปอยู่กับความคิดความกังวลว่า "แหม เราไม่น่าเผลอไปเลย เราเผลอไปตั้งนาน"

สำหรับผู้ที่มีความทุกข์ เนื่องจากนอนไม่หลับ... สังเกตดูให้ดี ที่นอนไม่หลับ... ไม่ทุกข์หรอก ที่ทุกข์... เกิดจากความคิด "อยากจะนอนหลับ" ต่างหาก

ทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะความจริงเป็นอย่างหนึ่ง แต่ความต้องการเป็นอีกอย่างหนึ่ง... เมื่อความจริงและความต้องการไม่ตรงกัน ก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้น นี่แหละ คือสภาวะแห่งทุกข์

เมื่อเรานอนไม่หลับ เราก็ทำในใจว่า ไม่หลับก็ไม่หลับ เรายอมรับสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ไม่ไปขัดแย้ง แล้วเราก็นอนดูจิต รู้สึกไปเนืองๆ วุ้บๆ จิตข้างในมันก็รวมตัว เวลาหลับ เราก็สบาย...

ในทางตรงกันข้าม บางครั้งเราต้องการอ่านหนังสือถึงเช้าเพื่อเตรียมสอบ แต่กลับนอนหลับไป เราก็ทุกข์... สาเหตุแห่งความทุกข์ ก็เกิดจาก "ความคิด ความอยาก" ที่จะไม่นอนนั่นเอง...






ขอบคุณบทความจาก ธรรมจักร

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์