การสวดมนต์จัดเป็นบุญใหญ่หรือเล็กเพียงใด?

การสวดมนต์จัดเป็นบุญใหญ่หรือเล็กเพียงใด?
ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและท่าทีในการสวด
การสวดที่ดีที่สุดมีผลทันทีในชาตินี้
คือ ฟุ้งซ่านน้อยลง
ด้วยการเอาจิตไปผูกอยู่กับ
แหล่งบันดาลความสงบอย่างใหญ่
จิตใจนุ่มนวลเป็นสุข
ด้วยการใช้ปากสรรเสริญผู้ควรได้รับการสรรเสริญ
ชีวิตรุ่งเรืองขึ้น
ด้วยความสว่างออกมาจากภายในอย่างต่อเนื่องทุกวัน
นอกจากนั้นยังมีผลในภายภาคหน้า
คือ มีใจผูกพัน นอบน้อม
ต่อบรมครูผู้ชี้ทางสวรรค์และนิพพาน

ธรรมชาติของใจเมื่อผูกพันกับสิ่งใดโดยดี
ก็ย่อมไปได้ดิบได้ดีอยู่กับสิ่งนั้น
หรืออย่างน้อยก็แนวทางนั้นๆ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถาม : สวดมนต์ก่อนนอน ควรสวดบทไหนบ้างคะ?

ดังตฤณ :
อิติปิโสได้ผลเป็นจิตที่มีเมตตา
เมื่อหลับด้วยเมตตาจิต
สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้คือ
จะไม่ฝันร้าย ตื่นมาสดชื่น
พร้อมจะมีกุศลจิตกับชีวิตต่อไปครับ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถาม : สวดมนต์ออกเสียง กับสวดมนต์ในใจ อย่างใดดีกว่าคะ?

ดังตฤณ :
ตอนยังฟุ้งๆ สวดออกปากดีกว่าครับ
ลองอ่านสเตตัสเมื่อวานดูนะครับ
https://www.facebook.com/dungtrin/posts/628803587176803

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถาม : สวดมนต์ออกเสียงทุกวันค่ะ แต่สวดทุกครั้งจะมีอาการขนลุกทุกครั้ง ผิดปกติหรือเปล่คะ?

ดังตฤณ :
ขนลุกเป็นอาการปีติชนิดไม่ค่อยดี แต่ไม่ผิดปกติ
ถ้าสวดแล้วเกิดปีติเย็นซ่าน เป็นสุข
เป็นเหตุให้กายใจระงับ อันนั้นดี

วิธีเปลี่ยนจาก ‘ปีติแบบขนลุก'
เป็น ‘ปีติแบบเย็นซ่าน'
คือให้ยอมรับว่าขนลุก
แล้วเห็นว่าอาการขนลุก
เป็นระลอก วูบๆวาบๆนั้น ไม่เที่ยง
เป็นแค่ภาวะอะไรอย่างหนึ่ง
ปรากฏให้ดูความไม่แน่ไม่นอน ไม่สม่ำเสมอ

พอถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึกจริงๆว่า
นี่มันแค่ภาวะอะไรอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ตัวเรา
ก็จะเกิดความปล่อยวาง
บันดาลปีติแบบสม่ำเสมอเองครับ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถาม : เราสวดยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎกทีมีอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ไหมคะ เห็นมีพระบางรูปว่าไม่สมควรเอามาสวด เพราะภาษาไม่ถูกต้องแปลไม่ได้บ้าง บ้างก็ว่าไม่มีบัญญัติ ตัวเองก็งง เพราะทุกวันนี้ก็สวดอยู่ สับสนว่าจะทำไงดี ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

ดังตฤณ :
ตามความเห็นของผม
ไม่ว่าผู้เจนบาลีใดรจนาบทสวดขึ้นใหม่
จะมีสรรพคุณบรรยายไว้ยิ่งใหญ่แค่ไหนยังไง
ก็ไม่มีทางนำมาเทียบกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองแน่ๆครับ

อิติปิโสเป็นบทที่รินเมตตา
ทำให้จิตแผ่เป็นสมาธิได้ง่ายที่สุดเท่าที่ผมพบมาแล้ว
และเมื่อจิตแผ่เป็นสมาธิ
ประจุแน่นด้วยพลังพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณในตัว
ผมก็ไม่คิดว่าจะมีสิ่งใด
ศักดิ์สิทธิ์ได้เท่าจิตของคุณขณะนั้นอีกแล้ว

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถาม : ก่อนสวดมนต์ มีความรู้สึกว่าต้องใช้ความอยากที่จะสวด และความอยากก็เป็นตัณหา แบบนี้การสวดมนต์จะนับเป็นการสร้างตัณหาหรือไม่ครับ?

ดังตฤณ :
จะทำอะไรต้องมีแรงบันดาลใจนำถึงจะดีครับ
เมื่อพิจารณาถึงคุณประโยชน์ของการสวดตามจริง
หมั่นนึกถึงความสุขที่ได้จากการสวด
ก็เกิดการกระตุ้นให้เกิด ‘ฉันทะ'
หรือความพึงใจในการสวดโดยไม่ต้องฝืน

‘ตัณหา' กับ ‘ฉันทะ' นั้น พูดง่ายๆว่า
ต่างกันโดย ‘อยากแล้วปั่นป่วน' กับ ‘อยากแล้วมุ่งมั่น'
ดูที่จิตครับ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถาม : ปกติถ้าสวดอิติปิโส จะสวด "อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ" จริงๆ แล้วควรสวดบทสรรเสริญพระธรรมและพระสงฆ์ไปพร้อมกันด้วยเลยใช่ไหมคะ?

ดังตฤณ:
ควรครับ
เพราะเป็นที่ตั้งของการระลึกถึงพระรัตนตรัยครบองค์
อีกทั้งยาวพอจะช่วยให้จิตเริ่มคลี่คลายจากความฟุ้งได้

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถาม : ต้องสมาทานศีล ๕ ก่อนสวดมนต์ไหมคะ?

ดังตฤณ :
ไม่จำเป็นครับ
การสวดอย่างถูกต้องจะช่วยสะสางจิตให้สะอาด
จิตที่สะอาดจะอยากรักษาศีลด้วยตนเอง
โดยความสมัครใจ

การสมาทานศีลที่ดีที่สุด
คือการตั้งใจจริงในการไม่เอาบาป
ถามว่าเมื่อใดที่ใจไม่อยากเอาบาป
ก็คือตอนที่จิตใจสะอาด รู้สึกดีกับความสะอาด
กระทั่งไม่อยากเสียความสะอาดไป
เพื่อแลกกับความรู้สึกอดใจไม่ได้ทั้งหลาย

การสมาทานศีล
คือการตั้งใจรักษาศีล
ด้วยการปฏิบัติจริงทางกายและวาจา
มีความสำคัญและจำเป็น
ในช่วงที่จิตใจเรายังไม่มั่นคง
พร้อมจะหวั่นไหวกับสิ่งยั่วยุ
นิยมทำต่อหน้าพระ
เหมือนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพยาน
แต่ที่สุดแล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายใน
คือใจของเราที่สว่างเป็นกุศล
เป็นพยานให้กับตนเอง
และจะเป็นพี่เลี้ยงคอยเตือนตัวเองเป็นเงาตามไป
ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นใดภายนอก
ที่ช่วยเราได้มากไปกว่านั้น

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถาม : อาราธนาศีลแบบเปล่งเสียงกับแบบนึกในใจ อานิสงส์ต่างกันไหมคะ?

ดังตฤณ :
แบบไหนที่ทำให้ใจเราตั้งมั่น
คิดเอาจริงในการรักษาศีล
ก็แบบนั้นแหละครับที่ได้อานิสงส์สูงสุด
ไม่เกี่ยวกับรูปปากขยับของเราเลย

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ถาม : ฉะนั้นการสมาทานและรักษาศีลเงียบๆอยู่บ้าน โดยไม่ต้องไปพบเห็นสิ่งที่ไม่ถูกจริตก็น่าจะดีใช่ไหมคะ?

ดังตฤณ :
ตรงข้ามครับ
คนเราจะรู้ตัวว่ามีศีลจริงหรือไม่
ไม่ใช่อยู่ในที่ที่ปราศจากการยั่วยุ
เพราะนั่นจะทำให้เราไม่ต้องอาศัยกำลังใจ
ในการห้ามปากห้ามมือเท้า
แต่เมื่ออยู่ในที่ที่มีการยั่วยุให้ฆ่าแล้วเราไม่ฆ่า
ยั่วยุให้ขโมยแล้วไม่ขโมย
ยั่วยุให้ผิดกามแล้วไม่ผิดกาม
นั่นแหละ จึงเรียกว่าได้มีโอกาสพิสูจน์ศีลของตน


การสวดมนต์จัดเป็นบุญใหญ่หรือเล็กเพียงใด?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์