ความตายกับความเจ็บไข้ไม่สบาย 16 ข้อ

ความตายกับความเจ็บไข้ไม่สบาย 16 ข้อ




พระพุทธองค์ทรงแนะนำสั่งสอนเรื่อง ความตายกับความเจ็บไข้ไม่สบาย มีความสำคัญว่า


๑. ถ้าร่างกายไม่ดี ให้พิจารณามรณานุสสติ บวกอุปสมานุสสติถูกต้องแล้ว เพื่อความไม่ประมาทในชีวิต เพราะความตายอาจเกิดขึ้นได้ในทุกๆขณะจิต และที่คิดว่าไม่รู้จักดิ้นรนไปทำไมเพราะทุกชีวิตมีความตายเป็นของธรรมดา จุดนั้นก็เป็นการถูกต้องแล้ว เพราะคนไม่ตายไม่มีในโลก และที่ตั้งใจปลอบจิตตนเองไม่ให้หวั่นไหวในความตายด้วยอุบายว่า ถ้าไม่ตายก็ไปพระนิพพานไม่ได้ คนไปพระนิพพานได้ก็คือคนที่ตายแล้ว ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกจุดนี้ก็ถูกต้อง เพราะฉะนั้นให้รักษาอารมณ์จิตให้แน่วแน่อยู่เสมอๆ มิใช่จักมาทำเอาเฉพาะที่ร่างกายมันป่วยหนักเท่านั้น


๒. ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง จงอย่ามีความประมาทในชีวิต อาการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นการบอกเตือนให้ระลึกถึงร่างกายตามความเป็นจริง โดยให้พิจารณารูป เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ ว่าไม่เที่ยง และไม่ใช่เรา มิใช่ตัวตนของใคร ปล่อยวางให้สบายๆ การรักษาให้ยาก็จำเป็นที่จักต้องรักษาเพื่อบรรเทาทุกขเวทนาชั่วคราว มิใช่รู้ว่าไม่ใช่เราแล้วปล่อยช่างมัน ไม่รักษา ทุกขเวทนายิ่งเบียดเบียนหนักยิ่งขึ้น ทุกอย่างจักต้องอาศัยปัญญา

๓. ร่างกายไม่มีแก่นสารก็จริงอยู่ แต่การระงับทุกขเวทนา มีความจำเป็นอย่างยิ่งแก่ร่างกาย สภาวะของจิตใจก็เช่นกัน ถ้าปล่อยให้ทุกขเวทนาเบียดเบียนมาก ก็ทำความทุกข์ทรมานให้เกิดแก่จิตใจมากเช่นเดียวกัน ดังนั้นจงพยายามปลดทุกข์ให้มาก หรือระงับเวทนาได้ด้วยสติ-ปัญญา แต่มิใช่การคิด การคาด การเดาเอาเอง จักต้องอาศัยคำสอนของพระตถาคตเจ้า คือพระธรรมที่มีพุทธบัญญัติอยู่แล้ว ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั่นแหละจึงพ้นทุกข์ได้ นอกเหนือจากนั้นมิใช่คำสอนของพระตถาคตเจ้า และจงจำหลักทุกอย่างในไตรภพ ไม่มีอันใดเที่ยง ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง มีการอนัตตาไปในที่สุด แล้วทุกอย่างก็พังสลายตัวไปหมด ยึดเมื่อไหร่เป็นทุกข์เมื่อนั้น จักพ้นทุกข์ก็จักต้องประพฤติตามโลกุตรธรรม ธรรมที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อการปล่อยวาง เพื่อการพ้นจากไตรภพ พวกเจ้ามุ่งหวังการไม่เกิด ก็จงหมั่นดูกาย วาจาใจ ของตนให้บริสุทธิ์อยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา หรืออริยมรรค ๘ นั่นแหละ


๔. ชีวิตสุขภาพของร่างกาย ย่อมกำหนดไม่ได้ที่จักให้เที่ยงแท้หรือแน่นอน เพราะมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ดูแต่กระแสของจิตหรือที่เรียกกันว่าอารมณ์ ฝึกแล้วฝึกอีกก็ยังยากที่จะกำหนดได้ การฝึกฝนร่างกายอย่างนักกีฬา ก็ฝึกฝนได้เพียงชั่วขณะหนึ่ง แต่ไม่ช้าไม่นานเมื่อวัยมากขึ้น โรคและชราก็มาเยือนร่างกายนี้ให้แปรปรวนให้ทรุดโทรมลง ต่างกับจิตใจ ยิ่งฝึกยิ่งเข็มแข็ง ยิ่งมีความอดทนผ่องใสยิ่งกว่าอื่นใด ไม่ได้ทรุดไม่ได้โทรมเหมือนกับร่างกาย ความสำคัญอยู่ที่ว่า เวลาฝึกฝนจิตใจให้อดทนเข็มแข็งนั้นเพียงพอหรือยัง หากยังไม่เพียงพอ ต้นเหตุก็เพราะจิตนั้นยึดเกาะเวทนาของร่างกายมากจนเกินไป ให้พยายามใช้ปัญญาเป็นตัวปลด จึงจักปล่อยวางได้ การที่จักดูว่าปล่อยวางได้หรือไม่ได้ ก็เอาเวทนาที่เกิดขึ้นของร่างกายนี่แหละเป็นตัววัด


๕. อย่ากังวลเรื่องสิ่งของ เพราะเป็นปกติธรรมของการเกิดเป็นมนุษย์ ไม่หาก็ไม่มีเครื่องอยู่ เมื่อหาแล้วคำว่าพอดี ก็ไม่ค่อยจักมี ส่วนใหญ่ให้รู้สึกขาดและเกินพอดีมากกว่า การนึกเบื่อนั้นนึกได้ แต่เป็นความเบื่อผสมกับความทุกข์ เพราะไม่ได้ใช้ปัญญา จักต้องเบื่อแล้วปล่อยวาง เห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ทุกข์นั่นแหละ จึงจักเป็นการวางอารมณ์ที่ถูกต้อง


๖. ให้พิจารณาอารมณ์ของจิต ให้ทราบอารมณ์ของจิตว่า ที่มีความอึดอัดขัดข้องอยู่นี้ เป็นด้วยเหตุประการใด อย่าให้โมหะจริตหรือวิตกจริตเข้าครอบงำดวงจิตให้มากจนเกินไป พิจารณาให้ลงตัวให้ได้ แล้วจิตจักมีความสุขเกิดขึ้นได้ อย่าให้ความกังวลใดๆมาเป็นตัวถ่วงความเจริญของจิต ให้รู้ว่าจิตที่เสื่อมมีอะไรเป็นต้นเหตุ ให้รู้ว่าจิตที่เจริญมีอะไรเป็นต้นเหตุเช่นกัน อย่าให้จิตตกอยู่ในกระแสของโลกนานเกินไป พยายามให้จิตอยู่ในโลกพระนิพพานนานเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น


๗. อนึ่งการเจ็บไข้ได้ป่วยนี่แหละเป็นการวัดกำลังใจของตนเอง อันที่จักปล่อยวางร่างกายได้ขนาดไหน การดูแลรักษาจำเป็นต้องมีเพื่อระงับทุกขเวทนา แต่ในขณะเดียวกัน จิตจักวางความกังวลในร่างกาย ความรู้สึกเหมือนกับเราดูแลเด็กไปตามหน้าที่ แต่ความห่วงใยวิตกกังวลในเด็กนั้น ไม่มี เด็กจักเป็นอย่างไรก็เรื่องของเด็ก อารมณ์มีความสุข ความเดือดร้อนทุกข์ใจนั้นไม่มีเลย ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่การพิจารณาร่างกายให้เห็นตามความเป็นจริง เอาจิตเข้าไปยอมรับนับถือร่างกายว่าเป็นอย่างนี้ เราคือจิตไม่สามารถฝึกฝนหรือบังคับร่างกายไม่ให้แก่ไม่ให้ป่วยได้เลย แล้วในที่สุดมันก็ตาพิจารณาให้ลงตัวให้จิตเป็นเอกัตคตารมณ์ จิตจึงจักคลายหรือวางความวิตกกังวลลงได้


๙. ให้อดทนเข้าไว้ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นให้อดทน ถือว่า ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ทนไม่ได้ก็ต้องทน แล้วพยายามมีสติปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง พยายามปลดทุกข์ออกจากจิตให้ได้มากที่สุด โดยใช้ปัญญาพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง อย่าฝืนธรรม อย่าฝืนโลก แล้วจิตจักเป็นสุข


๑๐.ร่างกายที่เห็นอยู่ในปัจจุบันอย่าไปคิดว่ามันจักทรงตัวอยู่อย่างนี้ตลอดไป ให้คิดพิจารณายอมรับนับถือตามความเป็นจริงว่า ร่างกายมันเสื่อมลงไปทุกวัน หาความจีรังยั่งยืนอะไรไม่ได้ แล้วให้สังเกตอารมณ์ของจิต มักจักฝืนความจริงอยู่เสมอ จิตมันถูกกิเลสหลอกว่าร่างกายจักดีอยู่เสมอ และแม้ว่าขณะป่วยๆอยู่นี่แหละกิเลสมันยังจักหลอกว่า พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ทนเอาหน่อย ประเดี๋ยวก็หายป่วย จิตมันไม่เคยคิดว่า วันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ร่างกายมันอาจจักตายก็ได้ หรือบางขณะคิด แต่จิตก็หาน้อมยอมรับนับถือตามที่คิดก็หาไม่ มันคิดว่าหายากิน แล้วก็เป็นผลดีหายป่วยแน่ๆนี่แหละสอบอารมณ์จิตไว้ให้ดีๆ จิตมันหลอกเก่งมาก การเตรียมพร้อมที่จักไปพระนิพพาน จักต้องเห็นร่างกายพังได้อยู่ตลอดเวลา ร่างกายของตนเอง ของบุคคลอื่น สัตว์ วัตถุธาตุพังหมดไม่มีเหลือจิตจักต้องมีอารมณ์คลายจากการเกาะยึดสิ่งเหล่านี้ ปลดจากอารมณ์ยึดมั่นถือมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความทรงตัว นั่นแหละจึงจักไปพระนิพพานได้ จงอย่าท้อใจ และจงอย่าละความเพียร ในเมื่อต้องการจักไปพระนิพพาน ก็ต้องจักทำให้ได้ตามนี้


๑๑. อย่าตีตนไปก่อนไข้ แต่การที่ไม่ประมาทนั้นเป็นของดี เพราะชีวิตของเรานั้นสั้นนิดเดียว ให้พิจารณาชีวิตตามความเป็นจริงแล้ว จักเห็นสิ่งที่เป็นความตายแฝงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก แต่ในยามปกติร่างกายอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุ ๔ คนเราจึงไม่มีความรู้สึกตามความเป็นจริง มีแต่ความรู้สึกสบาย ไม่เคยว่ามันจักแปรปรวน ทั้งๆที่ร่ายกายก็แปรปรวนของมันอยู่เป็นปกติตลอดเวลา ความโง่เข้ามาบดบังจิต ทำให้มองความจริงไม่เห็นต่อไปนี้จักต้องดูให้มากๆ เมื่อถึงเวลาละร่างกาย จิตจักได้ปล่อยวางได้


๑๒. อย่าประมาทต่อการสร้างความดี ให้ทำจิตให้มั่นคงไว้เสมอ ทำอะไรไม่หวังผลตอบแทน นอกจากพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น ให้โจทย์จิตเอาไว้อยู่เสมอ มองชั่วแก้ชั่วเท่านั้น ความดีก็จักเข้ามาถึงเอง เรื่องประการอื่นๆจงอย่ากังวลและอย่าห่วงใยให้มากนัก ทุกอย่างให้ทำเป็นหน้าที่เท่าที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จักทำได้ นอกเหนือจากนั้นก็รักษากำลังใจให้เสมอต้นเสมอปลาย อย่าท้อแท้ เพราะอุปสรรคทั้งหลายที่เข้ามาทดสอบจิตนี้แหละเป็นครู


๑๓. “รักษากาย วาจา ใจ ให้เป็นสุข มีความผ่องใสให้แน่วแน่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างทำเพื่อพระนิพพาน การทำเพื่อพระนิพพาน คือการกระทำกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในกรอบของศีล สมาธิ ปัญญา แล้วใครที่ไหนอื่นก็ไม่สำคัญเท่ากับกาย วาจา ใจ ของตนเอง อย่าไปเพ่งโทษตำหนิใครที่ไหนอื่น ให้เพ่งโทษตำหนิ กาย วาจา ใจของตนเองเข้าไว้ จักได้ประโยชน์กว่า เรื่องกฎของกรรมไม่มีใครเขาทำเราไว้หรอก มีแต่ตัวของเราเองทำเอาไว้มาแต่อดีตทั้งสิ้น ให้พิจารณาแล้วจงยอมรับนับถือในกฎของกรรมพยายามรักษา กาย วาจา ใจ ให้มั่นคง อย่าได้ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงที่เข้ามารุมเร้า รักษากำลังใจให้ตั้งมั่น จักอดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานในชาตินี้จุดเดียวเท่านั้น เป็นใครจักเป็นอย่างไรอย่าสนใจ


๑๔. ร่างกายที่เห็นๆเป็นของใครก็ไม่รู้ ดูให้ถนัดๆจักเห็นสภาวะธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีอากาศธาตุและวิญญาณธาตุเข้ามาอาศัยอยู่เท่านั้นเป็นสมบัติของโลก ถ้าหากยังหลงติดอยู่ในร่างกาย ก็เท่ากับถูกจองจำอยู่ในโลกไม่มีที่สิ้นสุด ไปๆมาๆ เกิดๆดับๆอยู่กับร่างกาย ไม่มีที่จักหลุดพ้นออกไปได้ ในเมื่อพวกเจ้าต้องการที่สุดของตัณหา ก็จงพิจารณาร่างกายให้ปรากฏชัด ถึงอาการ ๓๒ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ สิ่งเหล่านี้เป็นของใคร ของเราหรือ ยึดได้ไหม ให้พิจารณา อย่าสักแต่ว่ารู้อย่างเดียว จิตยังไม่แจ้งแทงตลอด จิตรู้แต่ก็ยังไม่วางร่างกาย ยังคงยึดมั่นถือมั่นอยู่ จักต้องให้แจ้งแทงตลอดขึ้นมาในจิตนั่นแหละ จึงจักวางร่างกายลงได้อย่างสนิท

๑๕. เรื่องของร่างกายให้หมั่นดูเอาไว้อยู่เสมอ จักได้ปัญญาเกิดขึ้นกับจิต มิใช่ท่องจำเอาเป็นเพียงสัญญา รู้สึกเพียงแต่ว่ารู้ แต่ปล่อยวางอะไรไม่ได้เลย ให้มองชีวิตและร่างกายที่เห็นอยู่นี้มันคืออะไรกันแน่ เป็นของเราหรือเป็นของใคร มันมีความเที่ยงแท้แน่นอนหรือ ควรยึดถือหรือไม่ควรยึดถือ ให้ดูให้ชัด จักต้องฝึกสติสัมปชัญญะ ค่อยๆหัดดู อันจิตนี้มันชินกับกิเลสมารมานาน ร่างกายชีวิตมันหลอก หรือว่าจิตของเรามันหลอก ดูให้ชัดๆ หมั่นดูบ่อยๆ จึงจักวางอุปทานขันธ์ลงได้ ต้องค่อยๆเป็นไป แต่จักต้องฝึกจิตให้มันดูร่างกาย พิจารณาชีวิตให้เห็นถึงที่สุดของความทุกข์นั่นแหละจึงจักวางทุกข์ลงได้ อย่าใจร้อน ให้ค่อยๆฝึกจิตไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็จงอย่าแชเชือนปล่อยปละละเลยกรรมฐาน จนไม่มีอะไรก้าวไปข้างหน้า ดีไม่ดีก็จักถอยหลังเข้าคลองเสียอีก ให้ดูอารมณ์จิตเอาไว้ด้วย


๑๖. ดูร่างกายที่มันเสื่อมลงไปทุกวัน ทรุดโทรมลงไปทุกวัน นี่แหละคือความจริงของร่างกาย ซึ่งทุกรูปทุกนามเหมือนกันหมด ไม่มีใครสามารถหนีความจริงไปได้ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้ดูร่างกายตามความเป็นจริงอยู่เสมอ พิจารณาให้เห็นอยู่เนืองๆ กล่าวคือเห็นจนกระทั่งจิตวางร่างกายให้เป็นไปตามกฎธรรมดา การอยู่จักต้องรักษาไปตามหน้าที่ แต่ถ้าหากตายจิตก็ไม่ผูกพันพร้อมที่จักปล่อยวางในทันทีทันใด จุดนี้เป็นจุดสำคัญมาก ถ้าหากไม่ก้าวผ่าน การไปให้ถึงซึ่งพระนิพพานก็เป็นของยาก พิจารณาเข้าไว้วันละเล็กวันละน้อย ให้จิตมันชินอยู่กับการพิจารณาร่างกาย ทำบ่อยๆ คือ พยายามฝึกจิตให้เห็นร่างกายตามความเป็นจริงจิตจักคลายความเกาะติดร่างกายไปได้ทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดจักปล่อยวางร่างกายลงได้สนิท อย่าทิ้งความพยายาม ทำไปแล้วจักเห็นผลที่ได้เอง



ข้อพิจารณา
๑. ธรรมของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัส ล้วนผูกพันเกี่ยวเนื่องโยงถึงกันได้หมด จะตรัสพระธรรมจุดใดที่ไหน เป้าหมายก็เพื่อให้จิตละปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกายขันธ์ ๕ ว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา หรือวางอุปาทานขันธ์ให้ได้ ด้วยอุบายทางธรรม เพื่อนำไปสู่ความพ้นทุกข์อย่างถาวร คือพระนิพพานทั้งสิ้น


๒. ทรงให้หาความจริงที่ร่างกายให้พบ ด้วยจิตของตนเอง ด้วยความเพียรอย่างยิ่งจนกระทั่งจิตยอมรับความเป็นจริงแล้ววางอุปาทานขันธ์ได้ในที่สุด


๓. คำสั่งสอนมีมากถึง ๘๔๐๐๐พระธรรมขันธ์ ทุกตอนล้วนกล่าวเรื่องกายกับจิตทั้งสิ้น ทุกคนที่เกิดมาต่างก็มีกายกับจิตด้วยกันทุกคน การปฏิบัติจึงเน้นให้ฝึกจิตตนเอง ให้รู้ความจริงของร่างกายของตนเอง อย่าไปยุ่งกับกายและจิตของผู้อื่น พระธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น (ทุกข์อย่างถาวร) ล้วนอยู่ที่กายเรา จิตเราทั้งสิ้น ใครไปหาธรรมนอกกายตัว นอกจิตตัว ถือว่ายังไม่เข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์อย่างแท้จริง


๔. พระธรรมที่ยกมา ๒ ตอนนี้ ล้วนมีเป้าหมายเพื่อละอุปาทานขันธ์ หรือละสักกายทิฏฐิ หรือเพื่อความไม่ประมาททั้งสิ้น

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์