ความผิดในความถูก...ธรรมอุปมา 1

ความผิดในความถูก...ธรรมอุปมา 1


๑. จะหลุดพ้นได้ต้องเริ่มจากการเห็นโทษ

ให้เอาจิตพิจารณากายนี้ให้รู้จัก เมื่อรู้จักแล้วมันก็เป็นสิ่งไม่แน่นอน เป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น

เมื่อเห็นเช่นนี้ จิตใจของเราก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายในใจในกายนี้ว่าไม่แน่นอน

ไม่คงเส้นคงวา ก็อยากจะหาทางออก หาทางพ้นทุกข์

เปรียบประหนึ่งนกที่อยู่ในกรง เห็นโทษว่าจะบินไปมาที่ไหนไม่ได้

ใจพะวักพะวนดิ้นรนจะออกจากกรงอันนั้น เบื่อกรง เบื่อที่อยู่ ถึงแม้ว่าจะให้อาหารให้กินอยู่

ใจมันก็ยังไม่สบาย เพราะมันเบื่อกรงที่ขังมันไว้


จิตใจเราก็เหมือนกัน เมื่อเห็นโทษ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในรูปในนามนี้แล้ว

มันก็จะพยายามพิจารณาให้ออกจากวัฏสงสารอันนั้น


จากเทปพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ชา ม้วนที่ ๑
หนังสือมรดกธรรม เล่มที่ ๑๓ เรื่อง ความผิดในความถูก หน้า ๑


ความผิดในความถูก...ธรรมอุปมา 1


๒. กราบพระ แต่ไม่เห็นพระ

คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นทำ คนให้หมดให้พระเกิดขึ้นมา ก็คือ ทำความผิดให้มันหมดไป
ความถูกจึงจะเกิดขึ้นมา ทำความชั่วให้หมดไป ความดีก็จะเกิดขึ้นมา


อย่างบ้านของเรามันสกปรกไม่สะอาด ถ้าเราเอาไม้กวาดมากวาดแล้วก็เช็ดสกปรกออกมันก็สะอาด
เพราะสกปรกมันหายไป


ถ้าความผิดยังไม่หมด ความถูกก็เกิดขึ้นไม่ได้
นี่ถ้าเราไม่ภาวนาเราก็ไม่รู้ความจริง
ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีอำนาจมาก ถ้าทำความเปลี่ยนจิตใจไม่ได้ก็ไม่ใช่ธรรมะที่มีอำนาจ
แต่ธรรมะนี้ทำปุถุชนสามัญชนให้เป็นอริยชนได้
เพราะธรรมะให้คนที่มีความเห็นผิด เกิดความเห็นถูกขึ้นมาได้


จากเทปพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ชา ม้วนที่ ๒
หนังสือมรดกธรรม เล่มที่ ๑๓ เรื่อง ความผิดในความถูก หน้า ๒

ความผิดในความถูก...ธรรมอุปมา 1



๓. เอาตนเองเป็นพยาน

ธรรมะนี้เปรียบเหมือนผลไม้ที่เราไปบ้านญาติบ้านเพื่อน
แล้วเขาเอาผลไม้ฝากเราหยิบผลไม้ไว้ในมือของเรา แต่เราก็ไม่รู้เปรี้ยว หวาน ฝาดอะไรต่างๆ
คือจับผลไม้แล้วก็ยังไม่รู้รสของผลไม้ จะรู้รสก็ต้องเอามาทานขบเคี้ยว
จึงจะรู้ว่ามันเปรี้ยว มันหวาน มีรสชาติต่างๆ ตามสัญญาของเรา


ธรรมะนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น
ทุกอย่างท่านให้เอาตนเองเป็นพยาน ไม่ต้องเอาคนอื่น
เรื่องของคนอื่นตัดสินได้ยากลำบาก เพราะเป็นเรื่องของคนอื่น


ถ้าเป็นเรื่องของเราแล้วมันง่ายที่สุด เพราะความจริง มันอยู่กับเรามีเราเป็นพยาน
ธรรมะนี้เมื่อฟังแล้วก็ต้องเอามาภาวนาให้เป็นปริยัติศาสนา ปฏิบัติศาสนา ปฏิเวธศาสนา
ปริยัติคือการเรียนรู้ รู้แล้วเอามาปฏิบัติตามก็เกิดความรู้ขึ้นมาตามความเป็นจริง
ถ้าฟังเฉยๆ ก็รู้ด้วยสัญญา เอาไปพูดก็ตามสัญญา ไม่ได้พูดความจริงให้ฟัง
นี่เราจึงยังเข้าไม่ถึงธรรมะ ไม่สอดส่องธรรมะ ใจยังไม่เป็นธรรมแต่พูดเป็นธรรมได้ ทำเป็นธรรมได้
นี่เรียกว่ายังไม่สมบูรณ์แบบ ตามทางพุทธศาสนา


จากเทปพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ชา ม้วนที่ ๒
หนังสือมรดกธรรม เล่มที่ ๑๓ เรื่อง ความผิดในความถูก หน้า ๓

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์