ความผิดในความถูก...ธรรมอุปมา 2

ความผิดในความถูก...ธรรมอุปมา 2



๔. บรรลุความจริง คือ บรรลุธรรม

การบรรลุธรรมะ การตรัสรู้ ถ้าเราคิดไปก็ดูเหมือนว่าเป็นของสูงเกินไป
ไม่ควรจะเอามาพูดว่าเราบรรลุธรรมะ ความเป็นจริงก็คนเหมือนเรานี่แหละเสมอแล้วที่จะบรรลุธรรมะได้


บรรลุธรรม ก็คือ เข้าใจว่าอันนี้มันบาป คือ มันผิดไม่เกิดประโยชน์ตนและคนอื่นทั้งนั้น
เข้าใจชัดเจนเช่นนี้ก็เรียกว่า เราบรรลุธรรมะ ซึ่งเป็นในทางที่ควรละ คือการรู้แจ้งธรรมะ
เช่นเราเดินไปท่าน้ำ จะบรรลุท่าน้ำหรือท่าเรือก็เมื่อไปถึงท่าน้ำท่าเรือนั่นเอง
ถ้าขึ้นมาถึงศาลาเราก็เรียกว่า เราบรรลุศาลาแก้ว

ถ้าเรารู้จักความเป็นจริงที่ถูกต้อง ก็เรียกว่า เราบรรลุความจริง บรรลุธรรมะ
เมื่อบรรลุธรรมะแล้วกิเลสทั้งหลายมันก็สร่างไป ลดไป เมื่อมีความเห็นชอบ
ความเห็นผิดมันก็เลิกไปเป็นธรรมดา


จากเทปพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ชา ม้วนที่ ๓
หนังสือมรดกธรรม เล่มที่ ๑๓ เรื่อง ความผิดในความถูก หน้า ๔

ความผิดในความถูก...ธรรมอุปมา 2



๕. สำรวจที่ตนเอง

ความอยากนั้นมันรู้ที่จิต เหมือนชาวประมงออกไปทอดแห พอได้ปลาก็รีบตะครุบ ปลามันก็กลัว
คนกลัวปลาจะออกจากแหเมื่อเป็นอย่างนั้น ใจมันสับสน บังคับมันมาก เดี๋ยวปลามันก็ออกจากแห


โบราณจึงให้ค่อย ๆ คลำมันไป ทำไปเรื่อยๆ ขี้เกียจก็ทำ ขยันก็ทำ ทำไปมาก ๆ ถูกทางความสงบมันก็ระงับ
การปฏิบัติท่านก็ให้ไปเรื่อยๆ อย่าหยุด ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็ทำ แต่ปฏิบัติเหมือนบุรุษสีไฟ
เดี๋ยวหยุด เดี๋ยวทำ ใจร้อนก็ไม่สำเร็จเพราะใจมันร้อน


การภาวนาการปฏิบัติไม่ต้องคิดอะไรมาก ให้สำรวจที่ตนเอง ไม่ต้องไปสำรวจที่อื่น
ถ้าเราเห็นตัวเรา เราก็เห็นคนอื่น เหมือนยาทันใจกับยาปวดหาย เพราะมันมีลักษณะรักษาโรคอันเดียวกัน
คือยาแก้ปวด คนที่ปฏิบัติกับคนเรียนนั้นชอบโทษกัน เหมือนกับการที่เราหงาย-คล่ำฝ่ามือ
ซึ่งมันไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก มันอยู่ของมันตรงนั้นแหละ แต่เรามองไม่เห็น การเรียนแล้วไม่ปฏิบัติ
เราก็จะไม่รู้ตามความเป็นจริง มันจะทำให้หลงไป


จากเทปพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ชา ม้วนที่ ๔
หนังสือมรดกธรรม เล่มที่ ๑๓ เรื่อง ความผิดในความถูก หน้า ๕

ความผิดในความถูก...ธรรมอุปมา 2


๖. เลือกที่ตรงจริต

การพิจารณากรรมฐานให้เลือกดูว่าอะไรมันถูกจริตเรา เหมือนกับอาหารในสำรับกับข้าว
เราเองพิจารณาเลือกว่าอะไรมันถูกกับธาตุกับขันธ์ของเรา เหมือนกับเราเลือกการพิจารณากรรมฐาน
ว่าอะไรมันถูกกับเรา ลมเข้าออก หรือพิจารณาสังขาร หรือลมเข้าลมออก


การทำความเพียรให้ทำไปเรื่อยๆ เหมือนน้ำหยดในโอ่งเรื่อยไม่แห้ง สัตว์ที่อยู่ในโอ่งก็ไม่ตาย

น้ำก็ไม่แห้ง ถ้าเราพิจารณาธรรม เรื่องความไม่เที่ยง เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เมื่อเราเข้าใจก็เหมือนกับเราคลายเกลียวนอตไปทางซ้าย มันก็ไม่แน่นก็เลยทำให้เราไม่ยึดมั่นถือมั่น
ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


จากเทปพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ชา ม้วนที่ ๔
หนังสือมรดกธรรม เล่มที่ ๑๓ เรื่อง ความผิดในความถูก หน้า ๖

ความผิดในความถูก...ธรรมอุปมา 2


๗. ทุกข์เพราะไม่ยอมปล่อย

คนถ้าไม่ทุกข์ไม่ลืมตา ถ้ามันสุขมันดับสนิทขี้เกียจไปเลย

ทุกข์มันแทงขึ้นมาให้มีความคิดมาก ให้ขยายตัวขึ้นมามาก


ยิ่งมีความทุกข์มาก ทุกข์มันเกิดมาเพราะอะไรจะต้องดูมัน ไม่ใช่นั่งให้มันหมดทุกข์เฉย ๆ


บัดนี้ฉันหนักแล้วเพราะอะไร เพราะยกแก้วขึ้นมามันถึงหนัก ถ้าปล่อยมันเฉยๆ แก้วนี้มันไม่หนัก

หนักก็ไม่ปรากฏกับเรา เพราะเราไม่ไปสัมพันธ์กับมันมันก็ไม่หนัก เรื่องทุกข์มันเป็นอย่างนั้น

แล้วทำไมมันถึงหนัก ทำไมมันถึงทุกข์ เพราะไปจับทุกข์มาไว้ แต่เราไม่เข้าใจว่าทุกข์

ว่าทุกข์นั้นจะเป็นของประเสริฐ ว่าทุกข์จะเป็นของดี ให้วางก็วางไม่ได้

ให้ปล่อยก็ปล่อยไม่ได้ ก็หนักอยู่อย่างนั้น ก็ทุกข์อยู่อย่างนั้น


จากเทปพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ชา ม้วนที่ ๕
หนังสือมรดกธรรม เล่มที่ ๑๓ เรื่อง ความผิดในความถูก หน้า ๗

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์