ความรัก หรือ กรรม ทำให้ตาบอด


ความรัก หรือ กรรม ทำให้ตาบอด

เคยถามตัวเองไหมว่า “ทำไมฉันจึงรักเธอ” เมื่อเริ่มต้นรู้สึกว่ารักใครสักคนหนึ่ง บางครั้งมันอาจเป็น
รักแรกพบ บางครั้งมันอาจจะเป็นความรักที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว รู้อีกทีก็รักเขาเข้าแล้ว

ในยามที่เรามีความสุขเราอาจไม่สนใจอยากหาคำตอบมากมายว่า“ทำไมฉันจึงรักเธอ”เพราะเมื่อใดที่เรามีความสุขโดยมากเรารู้สึกพอใจความรู้สึกพอทำให้ไม่ได้คิดค้นอยากหาข้อเสีย หรือคิดคำถามให้ต้องหาคำตอบ

แต่เมื่อเวลาที่เราทุกข์ ที่เราเสียใจ บางคนก็อาจมีคำถามขึ้นมาว่า ทำไมฉันจึงรักเธอหรือฉันรักเธอไปได้ยังไง(เนี่ย!) เพราะเธอนั้น หน้าตาก็ไม่หล่อเหมือนเคนธีรเดชไม่ได้รวยเหมือนบิลเกตส์ 
แถมยังช่างใจร้ายใจดำ ทำกันได้ลง และอื่นๆ.... (มากมายแล้วแต่ว่าอะไรจะผุดขึ้นมาในหัวเวลาโกรธ) แต่ก็ยังไม่พบคำตอบอยู่ดี ^^

ในทางพุทธศาสนา เราเชื่อว่าอะไรใดๆ ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ  การที่เราจะได้เป็นคู่รัก และครองคู่กับใครนั้นย่อมมีเหตุ

“เหตุที่ทำให้เรามีคู่ก็มาจากกรรมเก่าที่เคยร่วมทำกันมา และจะคบหายืนยาวอยู่ได้ด้วยร้ายด้วยดีต่อๆไปนั้น มาจากกรรมที่ทำเอาไว้ในปัจจุบัน กล่าวกันง่ายๆ คือ จะคบแล้วมีความสุข หรือทุกข์ 
เป็นผลของกรรมซึ่งสะท้อนสิ่งที่ผู้รับผลนั้นกระทำมาก่อนทั้งอดีตชาติ และชาติปัจจุบันทั้งสิ้น”

ดังนั้นหากมีความทุกข์จากรักขึ้นมา ถ้าจะถามว่าทำไมเราต้องมาทุกข์ใจกับคนๆนี้ ก็ต้องตอบว่ามันเป็นผลมาจากกรรมที่คนทั้งสองได้ทำร่วมกัน และที่เราทำมา กรรมเก่าพาเราลงมาติดกับ

“กรรมมันเริ่มส่งผลตั้งแต่วันแรกที่ใจคุณเข้าไปผูกกับเขา กรรมส่งผลที่ใจให้มารัก ให้มาหลง บังตาไว้ไม่ให้เห็นความสมเหตุสมผลทั้งหลาย หรือรู้ทั้งรู้ก็ยังรัก ถูกดูดเข้าไปใช้กรรม”

“ที่ว่าความรักทำให้คนตาบอดต้องกล่าวให้เป็นธรรมขึ้นว่า ‘กรรมบังตา’ คือกรรมบังคับใจให้ไปรู้สึกติดใจ ชอบ ใช่ รัก ผูกพันกับคนที่จะนำเราไปรับผลที่เราเคยก่อไว้ทั้งดีและร้ายนั่นเอง”

เริ่มตั้งแต่ต้นที่จะรู้สึกดีกับใคร ก็กรรมกำหนด ที่จะไปได้เจอกันในเวลาที่แสนจะพอดีอย่างไรก็กรรมกำหนด กรรมจัดฉากไว้ให้ต้องไปเจอ และรู้สึกไปอย่างนั้น จนกระทั่งจิตส่งออก ทะยานออกไปเกาะเกี่ยวยึดไว้ หลงไปยึดเอาว่าของเรา คนของเรา ไปแปะป้ายว่า นี่เป็นคนที่เราต้องการ นี่เป็นแฟนเรา ต้องดีกับเรา ห้ามไปดีกับคนอื่น พอเชื่อใจ คลายความคลางแคลง มั่นใจว่าใช่แน่ๆ มอบทุกอย่างให้หมด อาจจะแต่งหรือไม่แต่งก็สุดแท้แต่ ก็จะถึงเวลาที่ของจริงส่งผล แสดงตัวจริงของจริงให้เห็น ใจก็ “จี๊ด” ขึ้นมาจนกระทั่งต้องไปถาม อาจจะเริ่มด้วยการถามเพื่อน หรือไม่ก็ไปถามเจ้าคู่กรณี ว่าเดิมไม่ใช่อย่างนี้ ทำไมเปลี่ยนไป ที่รับปากไว้ ที่สัญญาไว้ ทำไมไม่ทำ ปรับโทษ อาละวาด ตีโพยตีพาย

กรรมทั้งนั้น

ซึ่งไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน ถ้ายังมีความเห็นยึดมั่นว่า ความรู้สึกเป็นเรา ความคิดนี้เป็นของเรา ก็จะเชื่อความรู้สึกและความคิด โดยจะหลง คิดไปเองแต่แรกว่าเขาคนนั้นต้องดีอย่างนั้นอย่างนี้ คือมีใจพร้อมจะเชื่อไปก่อนอยู่แล้ว พอเขาพูดโน่นพูดนี่นิดหน่อยก็ทึกทักเอาเองว่าต้องใช่อย่างนั้น(อย่างที่ใจขอมา)แน่นอน เราจึงพร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้อยู่ใกล้ เป็นคู่ มีความสัมพันธ์ หลงรักคนที่ในอนาคตต่อไปจะรานน้ำใจเราซึ่งเป็นผลจากการที่เราเชื่อความรู้สึกและความคิด (ไปเอง) “ของเรา” ที่กรรมส่งมาจนในที่สุดมาพบความจริงว่า เขาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เป็นเราที่เข้าใจผิดไปเชื่อใจที่สั่งมาเอง แต่กว่าจะถึงตอนนั้น แทนที่จะรู้ตัว เห็นตามจริงว่าเป็นเราที่คิดไปเอง ก็กลายเป็นโทษกันระหว่างสองฝ่ายไปแทนว่าไม่รักษาสัจจะวาจาที่เคยมีให้กันสมัยความหลงยังครอบงำอยู่ และสร้างกรรมใหม่ต่อกันไปเสียอีกโดยไม่ได้ใช้หนี้กรรมเก่าเลย

อธิบายเป็นกงกรรมกงเกวียน หรือกฎแห่งกรรมก็คือ กรรมเก่าของเรา กรรมใหม่ของเขา มันเป็นวงจร เพราะกรรม (๑) ที่เราเคยทำไว้ส่งผลให้เรามาเจอกับคนที่มีอนุสัย(นิสัย)แบบนี้เพื่อส่งผลทางใจให้เขาทำกรรม (๒) กับเรา (ตามที่เราเคยทำกับคนอื่นให้ทุกข์แบบนั้น) ซึ่งคนที่ก่อกรรม (๒) กับเราก็จะต้องไปรับผลที่ทำกรรม (๒) โดยไปเจอกับคนที่ก่อกรรม (๓) และทอดต่อๆ สืบกรรมกันไปเป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่มีวันจบ วนไปวนมาอย่างนี้และซับซ้อนยิ่งๆขึ้น การตัดวงจรก็ควรตัดที่ส่วนของเราให้ได้ก่อน เป็นการชิงออกจากเกมงูกินหาง โดยกรรมจะหมดช้าจะหมดเร็วนั้น ขึ้นอยู่กับที่แต่ละคนสะสมไว้

กฎแห่งกรรมนั้นไม่เคยไม่เที่ยงตรง สร้างเหตุไว้อย่างไรก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้นแน่นอน ที่จะไม่ยอมรับเพราะบอกว่าเราดีกับเขา แต่เขาไม่ดีกับเรานั้นจึงเป็นการเข้าใจผิดของเราเองที่ว่า เราทำกรรมกับคนนี้อย่างไร คนนี้จะต้องทำกรรมแบบเดียวกันกับเราคืนมาเป๊ะๆเดี๋ยวนี้ตอนนี้ (ลองคิดง่ายๆว่าเราดีกับทุกๆคนที่เข้ามาดีกับเรา ตอบแทนเขาได้เท่าที่เขาทำให้เราหรือเปล่า) เช่น เราคิดว่าเราดีกับแฟนคนนี้ แฟนคนนี้ก็ต้องดีกับเรา จึงจะเรียกได้ว่า ทำดีได้ดี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว “กรรมจะเลือกจัดสรรให้เราได้รับผลทั้งร้ายและดีที่เราเคยทำไว้แน่นอน แต่ไม่จำเป็นต้องได้รับตอบจากคนๆ เดิมที่เราเคยทำเสมอไป”

เช่นกรรมที่เราเคยทำไว้กับพ่อแม่ อาจจะเคยพูดไม่ดีกับท่าน ทำให้ท่านเสียใจ เราก็อาจได้รับผลนี้จากแฟน จากเพื่อนที่ทำงาน และคนอื่นๆได้ เพราะเราไม่เคยแคร์พ่อแม่ เราจึงพูดไม่ดีกับท่าน และเพราะว่าเราไม่แคร์ท่าน ดังนั้นถ้าท่านพูดไม่ดีกับเรา เราก็อาจจะไม่รู้สึกเจ็บช้ำแบบเดียวกัน กรรมจึงจะจัดสรรให้เราพบ เราเจอ เรายึด เรารักคนๆใหม่ ที่จะสามารถดึงดูดให้เราต้องทุกข์ แบบเดียวกับที่พ่อแม่ทุกข์มากเพราะรัก เพราะยึดเรามาก

ดังนั้นเวลาจะกล่าวอ้างถึงกฎแห่งกรรมนี้ ก็ต้องใช้กับทั้งสองข้าง อย่าใช้ข้างเดียว อย่างที่มักจะได้ยินใครหลายคนพูดกันเป็นประจำ เวลาเผชิญกับคนไม่ดีที่มาทำสิ่งที่เขาไม่ชอบใจว่า“เดี๋ยวมันก็เห็น ว่ากรรมมีจริง” หรือ “ทำกับเราอย่างนี้ เดี๋ยวกรรมก็สนองเข้าให้บ้าง” นี่คือการเข้าใจข้างเดียวเพราะถ้าเข้าใจอย่างถ่องแท้และมองอย่างเป็นกลางจะรู้ว่า กฎแห่งกรรมได้ให้ผลกับคนที่กล่าวเช่นนั้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์