ความสิ้นกรรม

ความสิ้นกรรม



 


"ความสิ้นกรรม"


ความสิ้นกรรม --- >
ไม่มีกรรม กรรมดับสนิท หมดไป พอสิ้นกรรมก็สิ้นทุกข์ เพราะกรรมนั้นมันเกิดจากกิเลส มีความไม่รู้อริยสัจ ก็เกิดความอยากได้เพื่อตนเอง อยากให้ตัวเองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ไปทำกรรมตามความยึดถือ ทำกรรมแล้วก็ได้รับผลวิบากเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง พอได้รับผลสุขบ้างทุกข์บ้างก็ยังไม่หมดอวิชชา ก็ไม่หมดตัณหา มันไม่อิ่มก็ทำวนเวียนไปเรื่อย ๆ

แต่เมื่อใด เราฝึกฝนจนรู้ความจริง ตัณหาก็ถูกละได้ ละความอยาก ละความต้องการ ละความคาดหวังได้ นั่นแหละจึงจะสิ้นกรรม กรรมสิ้นไป ทุกข์ก็สิ้นไป

ที่เรียนเรื่องกรรมนี่นะ ไม่ใช่เพื่อให้ท่านทั้งหลายไปทำกรรมให้เยอะๆ หรอก แต่เรียนเพื่อที่จะฝึกฝนตนเองให้ถูกวิธี ถ้ายังทำผิดอยู่ จะได้แก้ไขให้ถูกต้อง หยุดแล้วก็สำรวมระวัง แล้วก็ชำระล้าง ลดโอกาสที่สิ่งไม่ดีจะมาให้ผล จนกระทั่งปิดไปได้ แล้วก็ถึงที่สุด คือให้สิ้นกรรมหมดกรรมไป เริ่มต้นก็สิ้นกรรมไม่ดีก่อน ท้ายสุดแม้แต่ดีก็ไม่เอาด้วย หนทางฝึกฝนก็ตามหลักโพธิปักขิยธรรมมีอริยรรคมีองค์ ๘ ประการเป็นกลุ่มสุดท้าย

ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ตัณหักขยสูตร พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๙ ข้อ ๒๐๗ พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“เพราะละตัณหาได้ กรรมย่อมถูกละได้”

เมื่อเกิดปัญญา รู้ความจริงว่า สังขารทั้งปวงมันเป็นอย่างนั้น เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนได้รู้อริยสัจ ก็ละตัณหาได้กรรมก็ถูกละได้ เจตนาจะทำเพื่อตนเอง จะเอานั่นจะเอานี่เพื่อตนเองก็ไม่มี การกระทำก็เป็นเพียงสักว่าการกระทำ เป็นเพียงกิริยาเท่านั้น

“เพราะละกรรมได้ ทุกข์ย่อมถูกละได้”

ถ้ายังไปทำกรรมเพื่อตัวเอง ตามกำลังของตัณหา อุปาทาน ก็เป็นการก่อภพต่อชาติ ความเกิดขึ้นของกองทุกข์ก็มีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะละกรรมได้นั่นแหละ ทุกข์จึงจะถูกละได้ พระองค์สรุปว่า

อิติ โข อุทายิ ตณฺหกฺขยา กมฺมกฺขโย, กมฺมกฺขยา ทุกขกฺขโย

ดูก่อนอุทายี ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล เพราะความสิ้นไปของตัณหา ความสิ้นไปของกรรมจึงมีได้ เพราะความสิ้นไปของกรรม ความสิ้นไปของทุกข์จึงมีได้

ถ้าเราเรียนเรื่องกรรมแล้ว มัวแต่ไปหลงทำกรรมวนเวียนอยู่ ก็ย่อมไม่อาจจะพ้นไปจากทุกข์ได้ เพราะ
ความสิ้นกรรมเท่านั้น ความสิ้นทุกข์จึงมีได้ กรรมจะถูกละได้ก็ต่อเมื่อละตัณหาได้ ตัณหาจะถูกละได้ก็ต่อเมื่อรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่มันเป็นจริง รู้จนเลิกอยากได้ อยากเอา อยากมี อยากเป็น พอเลิกอยาก เลิกคาดหวัง ตัณหาก็ไม่มี ที่จะทำเพื่อตัวเอง ให้ตัวเองได้นั่นได้นี่ก็ไม่มี กรรมไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี ก็จบเรื่องกันไป

พระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ที่ถึงความสิ้นไปของกรรมทั้งปวงแล้ว พระองค์ได้ทำก่อน แล้วก็บอกทางให้เราทั้งหลายแล้ว ในขุททกนิกาย อิติวุตตกะ โลกสูตร พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๕ ข้อ ๑๑๒ มีคาถาแสดงคุณของพระพุทธเจ้าเอาไว้ว่า

เอส ขีณาสโว พุทฺโธ อนีโฆ ฉินฺนสํสโย
สพฺพกมฺมกฺขยํ ปตฺโต วิมุตฺโต อุปธิสงฺขเย
เอส โส ภควา พุทฺโธ เอส สีโห อนุตฺตโร
สเทวกสฺส โลกสฺส พรฺหมฺจกฺกํ ปวตฺตยิ

พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระขีณาสพ เป็นผู้ไม่เบียดเบียน เป็นผู้มีความสงสัยสิ้นไปแล้ว เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะความสิ้นไปของอุปธิ

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นประดุจสีหะ เป็นผู้ไม่มีผู้ใดยิ่งกว่า ทรงประกาศพรหมจักร แก่ชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก

ในคาถานี้มีคำว่า สพฺพกมฺมกฺขยํ ปตฺโต เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง นี้เป็นคุณของพระพุทธเจ้า พระองค์ถึงความสิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง ทรงทำก่อนแล้ว ตอนออกบวช พญามารก็มาหลอกล่อบอกว่าพระองค์จงไปครองราชย์เถิด จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีทรัพย์เงินทองมากมาย ได้ทำบุญเยอะๆ จะได้เสวยผลที่ดีๆ พระพุทธเจ้าก็บอกกับมารว่า ดูก่อนมารผู้มีบาปท่านจงไปพูดเรื่องบุญกับคนที่ต้องการบุญเถอะ

เราทั้งหลายผู้เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เป็นยังไงกันบ้าง อยากได้บุญ ตกอยู่ภายใต้บ่วงมารกัน แต่ที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมนั้น ก็เพื่อให้เราทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ

ความสิ้นกรรม


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์