คว่ำบาตร-สังฆกรรม-อัปเปหิ-สังคายนา

คว่ำบาตร-สังฆกรรม-อัปเปหิ-สังคายนา



คว่ำบาตร-สังฆกรรม-อัปเปหิ-สังคายนา

“ฝ่ายค้านคว่ำบาตร” เป็นคำพาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ รวมทั้งสื่ออื่นๆ ก็รายงานข่าวการคว่ำบาตรของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย ซึ่งหลายคนอาจจะคิดติดตลกไปว่า “ฝ่ายค้านเป็นพระหรืออย่างไรถึงมีบาตรให้คว่ำ” หรือว่า “ฝ่ายค้านไปยืมบาตรจากสมณะแห่งสันติอโศกมาหรือ จึงมีบาตรให้คว่ำ” ในขณะที่พุทธศาสนิกชนคนไทยก็ย่อมนึกไปถึงวัตรปฏิบัติของพระเณรในพุทธศาสนาว่า ทำไมท่านต้อง “คว่ำบาตร” ทั้งๆ ที่ “บาตร” จัดอยู่ใน “อัฐบริขาร” เป็นเครื่องใช้สำคัญในการดำรงชีวิตประจำวัน สำหรับพระภิกษุสามเณรใช้เป็นอุปกรณ์ในการบำเพ็ญบุญ หรือออกโปรดสัตว์ รับการถวายอาหารจากประชาชนที่เรียกว่า “บิณฑบาต”

คำว่า “คว่ำบาตร” เป็นคำกิริยา ใช้ในบริบทของวัฒนธรรมชาวพุทธ เมื่ออุบาสก อุบาสิกา กระทำการที่เป็นอกุศล ขัดแย้งกับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์จะมีวิธีการแสดงออกที่แสดงว่าไม่เห็นด้วยต่อการกระทำนั้นๆ โดยการคว่ำบาตร ไม่รับของถวายจากบ้านนั้นๆ เรื่องเช่นนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล

ในพระพุทธศาสนาเมื่อมีคำ “คว่ำบาตร” ก็มีคำ “หงายบาตร” คู่กัน นั่นคือเมื่อประกาศ “คว่ำบาตร” ใครแล้ว ต่อมาคนผู้นั้นสำนึกรู้สึกตน กลับมาประพฤติดี คณะสงฆ์จึงประกาศเลิก “คว่ำบาตร” ยอมให้ภิกษุทั้งหลายคบค้าสมาคม รับบิณฑบาต รับนิมนต์ รับเครื่องถวาย (ไทยธรรม) ได้ เรียกว่า “หงายบาตร” เป็นสำนวนคู่กัน

จากนั้นคำว่า “คว่ำบาตร” ก็ถูกนำมาใช้ในเพื่อการตอบโต้เมื่อเกิดความไม่เห็นด้วยในหมู่ฆราวาส เช่น คว่ำบาตรทางการเมือง คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ค่ำบาตรทางการค้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสมัยหนึ่งมีนักวิชาการทางภาษาพยายามเปลี่ยนแปลง โดยให้ใช้คำว่า “ไม่ร่วมสังฆกรรม” ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้รับความนิยม สุดท้ายแล้วก็กลับไปใช้คำว่า “คว่ำบาตร” เช่นเดิม

พระสงฆ์คว่ำบาตร ในยุคปัจจุบันเกือบไม่มีให้เห็นในสังคมไทย แม้ว่าจะมีความขัดแย้งในแนวความคิดระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาสอยู่เป็นประจำ แต่ฆราวาสกลับนำไปใช้มากที่สุด ทั้งๆ ที่ไม่มีบาตรให้คว่ำ

แต่เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๔๗ ที่ผ่านมานี้ บรรดานายพลในคณะรัฐบาลพม่านำอาหารไปถวายพระสงฆ์ มีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งประมาณ ๒๐ รูป แสดงอาการ “คว่ำบาตร” กล่าวคือ ไม่ยอมฉันอาหารที่นายพลถวาย

การคว่ำบาตรของพระพม่าในครั้งนั้น แท้ที่จริงแล้วการจะฉันอาหารหรือไม่ เป็นสิทธิของพระสงฆ์ ซึ่งไม่ว่ารัฐนั้นจะเป็นรัฐบาลทหารหรือไม่ ไม่ควรล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อาการ “คว่ำบาตร” ที่พระสงฆ์พม่าแสดงเป็นความหมายที่ต้องการจะสื่อให้รัฐบาลทหารทราบว่า สิ่งที่รัฐบาลทำ พระสงฆ์อย่างน้อยที่สุด ๒๐ รูปนี้ ไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากรัฐ เพราะทำให้เสียการปกครอง

อย่างไรก็ตาม “คม ชัด ลึก” ได้รวบรวมคำวัดและคำในวงการพระสงฆ์ที่วงการเมืองรวมทั้งวงการอื่นๆ นิยมใช้มากที่สุด ซึ่งมีอยู่ ๔ คำ ที่มักได้ยินอยู่บ่อยๆ คือ คว่ำบาตร สังฆกรรม อัปเปหิ และ สังคายนา

ทั้งนี้ได้นำคำอธิบายความหมายจากหนังสือ “คำวัด” ของ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ.๙ ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตสถาน เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ผู้รวบรวมและเรียบเรียง ซึ่งเป็นคำที่ใช้พูดใช้เขียนกันเป็นปกติในแวดวงคนวัด คือ พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยแต่ละคำมีความหมายดังนี้

๑. คว่ำบาตร หมายถึง การที่พระสงฆ์พร้อมใจกันทำสังฆกรรมสวดประกาศลงโทษคฤหัสถ์ผู้คิดร้ายต่อพระพุทธศาสนาหรือพระสงฆ์เพื่อให้รู้สึกตัวและเข็ดหลาบ วิธีลงโทษคือ ไม่คบหา ไม่พูดคุยด้วย และไม่รับอาหารบิณฑบาต โดยอาการเหมือนคว่ำบาตรเสีย ไม่ยอมเปิดบาตรรับอาหารจากผู้นั้น วิธีการเช่นนี้สมัยก่อนถือว่าเป็นการลงโทษที่รุนแรง สำหรับผู้ที่เป็นพุทธมามกะ ทำให้ผู้นั้นได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะไม่ได้ทำบุญใส่บาตรพระ เป็นการขาดโอกาสที่จะได้สร้างบุญบารมี

หงายบาตร หมายถึง การที่พระสงฆ์พร้อมใจกันทำสังฆกรรม ประกาศยกโทษให้แก่ผู้ที่ถูกคว่ำบาตร หลังจากผู้นั้นรู้สำนึกและยอมขอโทษพระสงฆ์ พร้อมทั้งปฏิญาณว่าจะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีก

๒. สังฆกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำ หมายถึง กิจกรรมทางพระวินัยที่ภิกษุจำนวน ๔ รูปขึ้นไป ถือว่าเป็นสงฆ์จะพึงร่วมกันทำเป็นสังฆสามัคคี ในการทำสงฆ์จะต้องพร้อมเพรียงกันทำ ต้องทำในเขตสีมาที่เรียกว่าอุโบสถ หรือโบสถ์ ต้องนั่งให้ได้หัตถบาสอยู่ในที่ประชุมตลอดเวลาที่ทำ เวลามีมติต้องเป็นเอกฉันท์ โดยใช้วิธีเงียบหรือรับว่าสาธุ และเป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรม ไม่มีอคติ เช่นนี้จึงจะเป็นสังฆกรรมแท้

กิจกรรมหรืองานที่ต้องทำเป็นสังฆกรรม ได้แก่ การทำปาฏิโมกข์ การปวารณา การสมมติสีมา การให้ผ้ากฐิน การอุปสมบท เป็นต้น

๓. อัปเปหิ อเปหิ หมายถึง ขับไล่ ผลักไสให้ออกไป อัปเปหิ มาจากคำวัดว่า อเปหิ ซึ่งแปลว่า จงออกไป จงไปให้พ้น เป็นคำพูดขับไล่ไสส่ง ในคำไทยจึงให้ความหมายว่า ขับไล่ ผลักไสให้ออกไป เช่นพูดว่า

“เขาถูกอัปเปหิออกจากงานไปแล้ว”

“ชาวบ้านไม่ยอมคบหาเขาเพราะรังเกียจความประพฤติ เขาจึงอัปเปหิตัวเองออกจากหมู่บ้านไปอยู่ที่อื่น”

๔. สังคายนา แปลว่า การซักซ้อม การสวดพร้อมกัน การร้อยกรอง คำว่า สังคายนา ใช้เรียกการที่พระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน แล้วช่วยกันสอบทานชำระสะสาง และซักซ้อมทำความเข้าใจพระธรรมวินัย อันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อรักษาความไม่ถูกต้องไว้แล้ว จัดเป็นหมวดหมู่ พร้อมทั้งจดจำสาธยายกันไว้ การนี้เรียกว่า สังคายนาพระธรรมวินัย หรือเรียกเป็นคำวัดว่า ธรรมสังคีติ การสังคายนามีเป็นระยะๆ นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานมา

สังคายนา ถือว่าเป็นวิธีการรักษาพระพุทธศาสนาส่วนที่เป็นหลักคำสอนได้ดีที่สุดกว่าวิธีอื่น เพราะเป็นการรักษาหลักพระธรรมวินัยไว้มิให้ผิดเพี้ยนจากที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้


หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก เรื่องโดย สุทธิคุณ กองทอง
ฉบับวันที่ 01 มีนาคม พ.ศ.2549

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์