ดูจิต-รู้จิต-ให้ติดต่อ

ดูจิต-รู้จิต-ให้ติดต่อ


ส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง สิ่งที่ประทับอยู่ในใจ โดยอุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง ในวารสาร "ธรรมมาตา" ฉบับวันพุทธทาส ปีที่ ๕เล่มที่ ๑ พฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๕


"ดิฉันได้รับคำแนะนำจากผู้ปฏิบัติธรรมอาวุโสท่านหนึ่ง ที่เห็นดิฉันมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมว่าควรหาโอกาสไปลองปฏิบัติธรรมที่สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง ราชบุรี ดูบ้าง เป็นสำนักปฏิบัติธรรมสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เงียบสงบ เพราะผู้พำนักอยู่ที่นี่ล้วนมุ่งหน้าในการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง


ประมาณปีพ.ศ.๒๕๑๙ จึงมีโอกาสไปกราบนมัสการท่านอุบาสิกา กี นานายน ผู้ก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ดิฉันพอใจที่จะใช้คำว่า "นมัสการ" เพราะการประพฤติปฏิบัติของท่านควรแก่การนมัสการบูชา...

คำสอนที่ประทับใจประหนึ่งสรุปการปฏิบัติให้เข้าใจได้ง่ายและชัดเจน คือ "ดู
จิต-รู้จิต-ให้ติดต่อ" ดิฉันท่องจำติดใจแต่บัดนั้น จนบัดนี้ แต่การปฏิบัติตามนั้นไม่ง่ายเลย จะต้องใช้เวลาตลอดชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าผู้ใดปฏิบัติตามได้ก็จะเป็นการรักษาอินทรียสังวรศีลไปใตัว

การรักษาอินทรียสังวรเป็นสิ่งที่ท่านเน้นอยู่ตลอดเวลาว่าผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องมี เพื่อเป็นการส่งเสริมความเป็นไปได้ของการ "ดู
จิต-รู้จิต-ให้ติดต่อ" เพราะเป็นสิ่งที่อิงอาศัยกัน

ดิฉันลองถามตัวเองว่า ถ้าจะสรุปการอบรมธรรมของท่านอุบาสิกา กี นานายน แห่งสำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง ราชบุรี ว่าท่านสอนเรื่องอะไร ? ดิฉันตอบตัวเองได้ทันทีว่า ท่านสอนเรื่อง
จิต ท่านพูดเรื่อง จิต เรื่องเดียวเท่านั้น และคำสอนนั้นลัดตัดตรงเข้าสู่การปฏิบัติแต่อย่างเดียว เพื่อฝึกอบรมจิตให้มีสติสมบูรณ์ ให้เป็นจิตว่าง ให้เป็นจิตอิสระจากความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา-ตัวตน เพื่อให้ลุถึงซึ่งความสิ้นทุกข์

เพราะฉะนั้น ข้อห้ามหรือคำกำหราบที่ท่านใช้เสมอคือ "อย่าพูดเดรัจฉานกถากันนักเลย" ดิฉันได้ฟังครั้งแรกก็รู้สึกแปลก ทึ่ง แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นจริงตามที่ท่านปรามไว้ เพราะถ้าพอใจ "เดรัจฉานกถา" แล้ว
จิตย่อมมีแต่ความวุ่นวาย สติสัมปชัญญะหายตกหล่น แล้วจิตนั้นก็ตกจมเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน อย่างถอนไม่ขึ้น เป็นอันว่า พลัดพรากจากหนทางไปสู่ความว่างและความสิ้นทุกข์...

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์