ถอนพิษความทรงจำอันเจ็บปวด


ถอนพิษความทรงจำอันเจ็บปวด


พระไพศาล วิสาโล

ในชีวิตของเราย่อมมีเหตุการณ์มากมายที่ยากจะลืมเลือนได้

จะวิเศษเพียงใดหากเหตุการณ์เหล่านั้นล้วนเป็นเรื่องที่หวานชื่นระรื่นใจ แต่ความจริงก็คือ มันมักเป็นเรื่องราวที่ขมขื่น หนาวเหน็บและเจ็บปวด นึกทีไรความเศร้าโศก โกรธแค้น หรือรู้สึกผิดก็เกาะกุมใจ ครั้งแล้วครั้งเล่าที่อยากกำจัดมันออกไปจากความทรงจำ แต่ยิ่งพยายามกำจัด มันก็ยิ่งประทับแน่น ยิ่งผลักไสมันให้ไกล มันก็ยิ่งโผล่หน้ามาหลอกหลอน


จะว่าชะตากรรมชอบเล่นตลกกับเราก็ได้ แต่อันที่จริงแล้วตัวการมิใช่อะไรอื่นเลย หากเป็นธรรมชาติของใจเราเอง สิ่งใดที่เราเกลียดหรือรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ มันจะมีแรงดึงดูดต่อใจของเรา

สังเกตไหมเวลาเราโกรธเกลียดใคร เราจะนึกถึงคน ๆ นั้นบ่อย ๆ เศร้าโศกเสียใจเรื่องอะไร มันก็จะยิ่งผุดโผล่ขึ้นมาในใจ แต่นั่นยังไม่เท่าไร ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อเราพยายามผลักไสหรือกำจัดมัน มันยิ่งตามมารบกวนจิตใจบ่อยขึ้น แม้กระทั่งในยามหลับ


ที่ออสเตรเลียเคยมีการทดลองกับนักศึกษาจำนวน ๑๐๐ คน โดยให้แต่ละคนเลือกความนึกคิดมาหนึ่งเรื่องที่เขาไม่ชอบแต่มักปรากฏในจิตใจ จากนั้นก็ให้นักศึกษาครึ่งหนึ่งกดข่มความคิดนั้นก่อนนอน ๕ นาที เมื่อตื่นขึ้นมาให้ทุกคนรีบเขียนบันทึกเกี่ยวกับความฝันในคืนนั้นทันที การวิเคราะห์พบว่า นักศึกษากลุ่มหลังนี้ ฝันถึงความคิดดังกล่าวมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กดข่มมัน


การทดลองนี้ยืนยันว่า ยิ่งอยากกำจัดความคิดหรือความทรงจำอย่างใดอย่างหนึ่ง มันยิ่งตามมารบกวนทั้งในยามตื่นและหลับ


ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

การค้นพบทางด้านประสาทวิทยาอาจให้คำตอบในเรื่องนี้ได้

เมื่อประสบเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด โกรธแค้น หรือเศร้าโศก ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนความเครียด ซึ่งไปกระตุ้นให้อามิกดาลา (สมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับอารมณ์) สั่งการให้มีการบันทึกความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น ฮอร์โมนดังกล่าวหลั่งออกมามากเท่าไร ความจำในเรื่องนั้น ๆ ก็จะยิ่งฝังลึกโดยมีอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปย้ำ

อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากเหตุการณ์เหล่านั้น จึงเป็นตัวการสำคัญที่ตอกย้ำความทรงจำให้ประทับแน่นมากขึ้น ยิ่งเจ็บปวดมากเท่าไร ก็ยิ่งลืมเลือนได้ยาก แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนี้เท่านั้น ตอนที่หวนระลึกถึงเหตุการณ์นั้นอีก แล้วเราเกิดความรู้สึกเจ็บปวดตามมาแถมยังพยายามจะไปกำจัดมัน ความเครียดที่เกิดจากกระบวนการดังกล่าว ยิ่งทำให้ความทรงจำนั้นฝังลึกมากขึ้น

ดังนั้นถ้าไม่อยากให้มันฝังลึกมากไปกว่านี้ อย่างแรกที่ต้องทำก็คือ อย่าไปรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับความทรงจำดังกล่าว

เมื่อเหตุการณ์ใด ๆ ผุดโผล่ขึ้นมาในใจ อย่าไปหงุดหงิดหรือโกรธเกลียดมัน ปล่อยมันไป ไม่ต้องสนใจมัน รวมทั้งไม่ต้องอยากไปกำจัดมันด้วย เพราะถ้าเราหงุดหงิดใส่มัน โกรธเกลียดมัน หรืออยากกำจัดมันเมื่อไร ฮอร์โมนความเครียดจะหลั่งออกมาและทำให้ความทรงจำในเรื่องนั้นฝังลึกขึ้น

เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ในอดีตได้แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงท่าทีหรือความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้ แทนที่จะพยายามปฏิเสธมัน หรือผลักไสกดข่มความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านั้น เราลองหันมายอมรับมันหรือวางใจเป็นกลางกับมัน ใหม่ ๆอาจทำได้ยาก แต่เราสามารถฝึกใจได้ ด้วยการนั่งนิ่ง ๆ ทำใจให้สงบ แล้วค่อย ๆ นึกถึงเหตุการณ์นั้น เมื่อความรู้สึกเจ็บปวดเกิดขึ้น ก็ให้รับรู้เฉย ๆ โดยไม่พยายามกดข่มหรือปฏิเสธมัน เปิดใจต้อนรับเสมือนเป็นเพื่อนสนิทของเรา หากอยากร้องไห้ ก็ขอให้ร้องไห้ออกมา หากมีเพื่อนหรือประจักษ์พยานรับรู้ด้วย ก็ยิ่งดี การที่เรากล้าเปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้ให้เขาฟัง แสดงว่า เราทำใจยอมรับมันได้มากขึ้นแล้ว

เมื่อใดก็ตามที่เราวางใจเป็นกลาง สงบ ไม่หวั่นไหวกับเหตุการณ์ในอดีต เหตุการณ์เหล่านั้นก็ไม่อาจโบยตีหรือหลอกหลอนเราได้อีกต่อไป มันอาจจะไม่เลือนรางในเร็ววัน แต่ก็จะรบกวนจิตใจเราน้อยลง ถึงจะมาปรากฏในมโนสำนึกอีก แต่ก็ไร้พิษสง ไม่ทำให้เราเจ็บปวดอีก แต่เดิมที่เคยเป็นเสมือนแผลเรื้อรัง ที่แตะต้องเมื่อไร ก็เจ็บเมื่อนั้น บัดนี้แผลได้สมานสนิท แม้จะเป็นแผลเป็น แต่ก็แตะต้องได้โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดอีกต่อไป

ความทรงจำเกี่ยวกับความผิดหวัง พลัดพราก สูญเสียในอดีตนั้น ไม่จำเป็นต้องพ่วงมากับความรู้สึกเจ็บปวด โกรธแค้น เศร้าโศกเสมอไป และมันมิใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียหมด แต่ยังสามารถเป็นต้นทุนที่เพิ่มประสบการณ์ชีวิต ทำให้เราเข้มแข็งและมีปัญญามากขึ้น ใช่หรือไม่ว่านี้คือ หัวใจสู่ชีวิตที่สงบเย็นและเป็นสุข




ที่มา..นิตยสารIMAGE กรกฎาคม ๒๕๕๒
http://board.palungjit.com/

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์