ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา (ท่านพุทธทาสภิกขุ)

 ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา (ท่านพุทธทาสภิกขุ)



ทาน

การให้ทาน การบริจาคนี้
ก็หมายความว่าให้ออกไป ให้หมดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู หรือ ของกู

ส่วนการทำบุญที่คิดว่าจะได้ผลตอบแทนกลับมาหลายเท่า
เช่น ทำบุญหน่อยหนึ่งก็ขอให้ได้วิมานหลังหนึ่ง อย่างนี้มันเป็นการค้ากำไรเกินควรไม่ใช่การให้ทาน

การให้ทานต้องเป็นการบริจาค
สลัดสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น ว่าเรา ว่าของเรานั่นแหละออกไป
เพราะฉะนั้น
ในขณะที่ผู้ใดมีจิตว่างจากความรู้สึกว่าตัวเรา-ว่าของเรา ในขณะนั้นเรียกว่าบุคคลนั้นได้บริจาคทานถึงที่สุด


เพราะว่าแม้แต่ตัวเขาเองก็ยังไม่มี
แล้วจะเอาอะไรมาเหลืออยู่
ส่วนของเราก็พลอยหมดไป
ตามความที่ไม่มีตัวเรา

เพราะเมื่อหมดความรู้สึกว่ามีตัวเรา
สิ่งที่เป็นของเราก็สลายตัวลงไปเอง

เพระฉะนั้นในขณะใดผู้ใดมีจิตใจว่างจากตัวตน ผู้นั้นได้ชื่อว่าได้บำเพ็ญทานอย่างยิ่ง
แม้แต่ตัวเราก็บริจาคไปจนหมดสิ้น และพ่วงความรู้สึกว่าของเราเข้าไปด้วยจนหมดสิ้น ดังนั้นในขณะที่มีจิตว่างอันแท้จริงนั้น
จึงได้ชื่อว่ามีการบำเพ็ญทานถึงที่สุด



ศีล

คนที่มีจิตว่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ตัวตน-ของตนนั้น
เรียกว่าเป็นคนที่มีศีลที่แท้จริง และเต็มเปี่ยมถึงที่สุดด้วยศีล

นอกนั้นเป็นศีลล้มลุกคลุกคลาน
คือศีลที่ตั้งเจตนาว่าเราจะเว้นอย่างนั้น เราจะเว้นอย่างนี้
แล้วก็เว้นไม่ได้ ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่นั่นเอง
เพราะว่าไม่รู้จักปล่อยวางตัวตนเสียก่อน
ไม่รู้จักปล่อยวางของของตนเสียก่อน
คือไม่มีความว่างจากตัวตนเสียก่อน
ศีลก็มีขึ้นไม่ได้

แม้จะมีก็ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่เป็นอริยกันตศีล คือไม่เป็นศีลชนิดเป็นที่พอใจของพระอริยะเจ้าได้ เป็นโลกียะศีล ที่ลุ่มๆดอนๆ อยู่เรื่อยไม่เป็นโลกุตตรศีลขึ้นมาได้ ถ้าเมื่อใดมีจิตว่างแม้ชั่วขณะหนึ่งวันหนึ่ง หรือคืนหนึ่งก็ตาม มันก็มีศีลที่แท้จริงตลอดเวลาเหล่านั้น



สมาธิ

ทีนี้ถ้าพูดถึง สมาธิ จิตว่างนั้น
เป็นสมาธิอย่างยิ่ง เป็นจิตที่ตั้งมั่นอย่างยิ่ง

สมาธิที่พยายามปลุกปล้ำล้มๆ ลุกๆ มันก็ยังไม่ใช่สมาธิ และยิ่งสมาธิที่มีความมุ่งหมายเป็นอย่างอื่น นอกไปจากเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์
แล้วล้วนแต่เป็นมิจฉาสมาธิทั้งนั้น

ท่านต้องทราบไว้ว่ามันมีทั้ง มิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ
เพราะฉะนั้นคำว่า "สมาธิ" ในที่นี้เราหมายถึง สัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิอย่างอื่นก็เป็นมิจฉาสมาธิไปหมด

จิตที่ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าเราว่าของเราเท่านั้น ที่จะมั่นคงเป็นสมาธิได้อย่างแท้จริงและสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีจิตว่างจึงเป็นผู้ที่มีสมาธิอย่างถูกต้อง


ปัญญา

ทีนี้เลื่อนขึ้นมาถึงปัญญา

ยิ่งบ่งชัดว่ารู้ความว่างหรือเข้าถึงความว่างหรือเป็นตัวความว่างนั้นเองก็ตาม
นั้นเป็นตัวปัญญาอย่างยิ่ง เพราะว่า ขณะที่มีจิตว่างนั้น เป็นความเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง

ขณะที่เป็นความโง่อย่างยิ่งก็คือ ขณะที่โมหะหรืออวิชชาเข้ามาครอบงำอยู่
แล้วทำให้ยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่ ว่าเป็นตัวตนหรือของตน

ลองคิดดูก็จะเห็นได้ง่ายๆ ชัดแจ้งด้วยคนเองว่า
พอสิ่งเหล่านี้ออกไปแล้ว มันจะโง่ได้อย่างไร
เพราะว่าความโง่มันเพิ่งเข้ามาต่อเมื่อมีอวิชชา
ไปหลงยึดมั่นว่าเป็นตัวเราว่าของเรา

ขณะใดที่จิตว่างจากความโง่อย่างนี้
ก็เข้าถึงความว่างจากตัวเราว่างจากของเรา
มันก็ต้องเป็นความรู้หรือเป็นปัญญาเต็มที่

เพราะฉะนั้นผู้ที่ฉลาดเขาจึงพูดว่า ความว่างกับปัญญาหรือสติปัญญานี้เป็นสิ่งเดียวกัน
ไม่ใช่เป็นของสองสิ่งที่เหมือนกัน แต่ว่าเป็นสิ่งๆเดียวกันเลย


ข้อนี้ย่อมหมายความว่าปัญญาที่แท้จริงหรือถึงที่สุดของปัญญานั้น
ก็คือความว่างนั่นเองคือว่างจากโมหะที่หลงยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง หมายความว่าพอเอาโมหะอันนี้ออกไปเสีย จิตก็ถึงสภพาเดิมของจิตที่เป็นจิตเดิมแท้ คือปัญญา หรือสติปัญญา


 ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา (ท่านพุทธทาสภิกขุ)


ขอบคุณธรรมจักร

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์