ทาสทาน, สหายทาน, สามีทาน


ทาสทาน, สหายทาน, สามีทาน โดย หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

ทานสามประเภทที่กล่าวถึงนี้คือ ทาสทาน, สหายทาน, สามีทาน


ทาสทาน หมายความว่า การให้ของที่เลวกว่าที่เรากิน หรือของที่เลวกว่าที่เราใช้
สหายทาน หมายความว่า การให้ของเสมอที่เรากินอยู่ หรือที่เราใช้อยู่
สามีทาน หมายความว่า การให้ของที่ดีกว่าที่เรากินที่เราใช้อยู่

ถ้าจะถามว่า ทาสทานมีอานิสงส์ไหม ก็ต้องดูตัวอย่าง ท่านอาฬวีเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์ แปดสิบโกฏิ พระราชาตั้งเป็นมหาเศรษฐี แต่ว่าผ้าที่แกนุ่งนี่ ผ้าใหม่แกนุ่งไม่ได้ นุ่งผ้าที่ใกล้จะขาดแกจึงนุ่งได้ ข้าวที่จะกินเม็ดสวยๆ ก็กินไม่ได้ ต้องกินข้าวหักหรือปลายข้าวจึงจะกินได้ ของทุกอย่างที่แกใช้ทุกอย่างต้องเป็นของเลว แต่อย่าลืมว่า เขาก็เป็นมหาเศรษฐีได้ การตั้งใจว่าจะใส่บาตรด้วยของดีๆ น่ะดี แต่ว่าวันไหน มีอาหารที่เราคิดว่าไม่ดีก็ใส่บาตรได้

การให้ทาน พระพุทธเจ้าบอกว่า อย่าให้เบียดเบียนตัวเอง ถ้าเบียดเบียนตัวเองเป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นการทรมานตัวเอง และการให้ทานพระพุทธเจ้าให้ดูอีกว่า ควรให้หรือไม่ควรให้ ให้แล้วไปกินเหล้าเมายา ไปสร้างอันตรายให้กับคนอื่น เราไม่ให้ดีกว่า เป็นการต่อเท้าให้โจร ให้พลังแก่โจร เวลาจะให้
ท่านวางกฎไว้ดังนี้

๑. ผู้ให้บริสุทธิ์
๒. ผู้รับบริสุทธิ์
๓. วัตถุทานบริสุทธิ์


ถ้าผู้ให้บริสุทธิ์ ผู้รับบริสุทธิ์ วัตถุทานไม่บริสุทธิ์ ความดีก็ลดน้อยลง

แต่ถ้าผู้ให้บริสุทธิ์ ผู้รับไม่บริสุทธิ์ วัตถุทานไม่บริสุทธิ์ ให้บาทหนึ่งจะได้สักสตางค์หรือเปล่าก็ไม่รู้ รวมความว่าต้องบริสุทธิ์ทั้ง ๓ อย่าง ถ้าลดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง อานิสงส์ก็ลดตัวลงมา

แต่ว่าการให้ทาน พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อีกประเภทหนึ่ง ต้องให้ครบ ๓ กาล จึงจะมีอานิสงส์สูง

มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยหนึ่ง เมื่อท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีจนลง เพราะเคราะห์กรรมบางอย่างทำลายท่าน เงินที่เขากู้ไปก็ถูกโกง คนที่อยู่ภายในบ้านก็ขโมยของ ทรัพย์ที่ฝังไว้ชายทะเล ชายแม่น้ำ แผ่นดินก็พังทรัพย์จมไปหมด ท่านจนขนาดข้าวเป็นเม็ดแทบไม่มีกิน ต้องกินปลายข้าว แต่ว่าศรัทธาท่านยังไม่ถอย ท่านนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์ ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ท่านเอาปลายข้าวละเอียด เรียกว่าข้าวปลายเกรียนต้ม แล้วก็เอาน้ำผักดองเปรี้ยวๆ เค็มๆ ทำเป็นกับมาถวาย พระพุทธเจ้าก็เสวยแบบนี้เหมือนกัน เวลาที่พระพุทธเจ้าเสวยอยู่ ท่านก็นั่งอยู่ใกล้ๆ กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "เวลานี้ทานของข้าพระพุทธเจ้าเศร้าหมอง พระพุทธเจ้าข้า"

พระพุทธเจ้าถามว่า "เธอมีเจตนายังไง....ก่อนจะให้เธอมีความรู้สึกยังไง....."

ท่านจึงบอกว่า "ก่อนจะให้เต็มใจพร้อมเสมอ เตรียมใจไว้ก่อนแล้ว"

พระพุทธเจ้าก็ถามว่า "ในขณะที่ให้เธอมีความรู้สึกยังไง"

ท่านก็บอกว่า "ในขณะที่ให้ก็มีความรู้สึกปลื้มใจพระพุทธเจ้าข้า"

พระพุทธเจ้าก็ถามว่า "เมื่อให้แล้ว เป็นยังไง....."

ท่านก็บอกว่า "ให้แล้วเกิดความเลื่อมใส ดีใจว่าให้แล้ว"

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสว่า "ดูก่อนมหาเศรษฐี ลูขัง วา ปะณีตัง วา"

ลูขัง แปลว่า เลว , ปะณีตัง แปลว่า ดี หรือประณีต

ท่านตรัสว่าถ้าคนให้ทานมีเจตนาพร้อมเพียงทั้ง ๓ กาลคือ

๑. ก่อนจะให้ก็ตั้งใจว่าจะให้
๒. ขณะที่ให้ก็ดีใจ
๓. เมื่อให้แล้วเกิดความเลื่อมใส


อย่างนี้ของดีก็ตาม ของเลวก็ตาม ย่อมมีอานิสงส์เลิศ มีอานิสงส์สูง แต่ที่ท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีท่านทำนั้น ท่านถวายพระพุทธเจ้า และพระที่ฉันก็เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด นับเป็นยอดของทาน

ถ้าหากว่าเราไม่รู้จะเลือกอย่างไร องค์นี้จะเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ หรือเป็นพระโปเก พระเชียงกง ถ้าไม่รู้ก็ถวายเป็นสังฆทาน มีอานิสงส์สูงมาก รองจากวิหารทาน

พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้ตอนหนึ่งบอกว่า สมัยพระพุทธกัสสปท่านเทศน์อย่างนี้คือ

"บุคคลใดทำบุญด้วยตนเอง ไม่ชักชวนคนอื่น ถ้าเกิดในชาติต่อไปจะร่ำรวยโภคสมบัติ แต่ขาดเพื่อน ขาดบริวารสมบัติ"

"ถ้าดีแต่ชักชวนเขาไม่ทำเอง ชาติต่อไป มีเพื่อนมาก แต่ตัวเองจน"

"ถ้าทำบุญด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นด้วย รวยด้วย มีพรรคพวกมากด้วย"

นี่ท่านเทศน์แบบนี้นะ
"ถ้าเราทำคนเดียวได้ก็ทำ ทีนี้ถ้าเราชวนเขาด้วย แต่ว่าการชวนนี่ก็ลำบากนะ ถ้าเราชวนเขาด้วย ก็อย่าหวังว่าเขาจะให้เรานะ คิดว่าเขาให้หรือไม่ให้ก็เป็นเรื่องของเขา คือแนะนำเขาว่าเราทำโน่นทำนี่ จะทำบุญร่วมไหม....ถ้าบังเอิญเขาไม่ทำร่วมด้วยก็อย่าไปโกรธ เราถือว่าเราชวนเขาทำความดี ถ้าเราโกรธเขาเข้า บุญเราจะด้อยลงไปเพราะตัวโกรธเข้ามาตัด"




บทความจากhttp://www.dhammajak.net

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์