ที่มาของรองเท้าพระ

"ที่มาของรองเท้าพระ"


บุตรเศรษฐีตระกูลโกฬิวิสะชื่อโสณะ เป็นหนุ่มหน้าตาดี ผิวพรรณเกลี้ยงเกลา ได้ชื่อว่าเป็นสุขุมาลชาติ เกิดมาก็พิเศษกว่าชาวบ้าน คือที่ฝ่าเท้าทั้งสองมีขนตั้งแต่กำเนิด เป็นเรื่องประหลาดจนเลื่องลือไปไกล แว่วถึงพระกรรณพระเจ้าพิมพิสารเลยทีเดียว

ตระกูลโกฬิวิสะนี้อยู่ในเมืองจัมปา และเมืองจัมปาเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งในแคว้นอังคะ แคว้นอังคะในเวลานั้นอยู่ในปกครองของพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นราชาแห่งแคว้นมคธ

คราวที่พสกนิกร ๒ แว่นแคว้นร่วมประชุมกันครั้งใหญ่ โดยมีพระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นประธาน จากนั้นพระองค์พร้อมด้วยพสกนิกรทั้งปวงได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อสดับพระพุทธโอวาทที่เขาคิชฌกูฎ โสณะบุตรเศรษฐีก็ได้ตามเสด็จคราวนี้ด้วย วันนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมด้วยอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ พสกนิกรทั้งหมดหายสงสัยในพระรัตนตรัย จึงขอเป็นอุบาสกอุบาสิกา มอบกายถวายชีวิตแก่พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

โสณะบุตรเศรษฐี ซาบซึ้งในพระสัจธรรมเป็นอย่างยิ่ง ไม่ยอมกลับบ้าน เมื่อได้โอกาสผู้คนเขากลับหมดแล้ว เขาจึงคลานเข่าเข้าเฝ้า กราบทูลขออุปสมบท ณ ที่ตรงนั้น เมื่ออุปสมบทแล้วก็ระดมความเพียรอย่างหนักทั้งกลางคืนและกลางวัน ซึ่งในขณะนั้นท่านได้พำนักอยู่ที่ป่าสีตวัน เดินจงกรมจนฝ่าเท้าอันบอบบางละเอียดอ่อนปริแตกทั้ง ๒ ข้าง มีรอยเลือดเป็นทางเปื้อนอยู่ที่ทางจงกรม กระนั้นก็ยังไม่บรรลุธรรม ภิกษุหนุ่มเกิดความท้อแท้ รำพึงในอกว่า ตัวเราไร้บุญวาสนาบารมีธรรมเสียแล้ว จึงคิดจะสึก พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณ จึงเสด็จไปโปรด ทรงแสดงธรรมและทรงให้กำลังใจ จนเกิดความมุมานะและได้บรรลุอรหันต์ในที่สุด

พระพุทธองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นทางจงกรมเปื้อนรอยเลือดเป็นทางของพระโสณะด้วย

ในเวลาต่อมา ได้รับสั่งกับพระโสณะว่า ท่านปรารภความเพียรอย่างหนักจนเท้าทั้งสองข้างได้รับบาดเจ็บ จึงอนุญาตให้ใช้รองเท้าชั้นเดียวได้ เมื่อสิ้นพระกระแสรับสั่งลง พระโสณะนั่งกระหย่งประนมมือกราบทูลพระพุทธองค์ว่า “ข้าพเจ้าทิ้งกองเงิน ๘๐ เล่มเกวียน ทิ้งกัมพลเป็นอันมาก ทิ้งช้าง ๗ เชือกและคฤหาสถ์ออกมาบวช อาจมีคนพูดกันว่า โสณะอุตส่าห์ออกบวช ทิ้งสมบัติพัสถานมหาศาล ก็ยังมาติดข้องกับรองเท้าชิ้นเดียว ดูไม่เหมาะไม่ควรเอาเสียเลย หากจะเป็นพระกรุณา ก็โปรดได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งปวง ได้ใช้รองเท้าได้ด้วยกันเถิด ข้าพระพุทธเจ้าเองก็จะรับพระกรุณา ใช้รองเท้าตามที่ทรงอนุญาต หาไม่ก็มิบังอาจที่จะน้อมรับพระกรุณาอนุญาตได้”

ด้วยคำกราบทูลนี้เอง จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายใช้รองเท้าชั้นเดียวได้ตั้งแต่บัดนั้น

ที่มาของรองเท้าพระก็มีมาด้วยประการฉะนี้ครับ

จากหนังสือนิตยสารน่านฟ้า เล่มที่ ๓๑ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ (ผู้เขียนเด็กวัดเก่า)

ที่มาของรองเท้าพระ


ที่มาของรองเท้าพระ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์