ทําบุญละลายบาป

ทําบุญละลายบาป



ทำบุญละลายบาป จะได้หรือไม่

การทำบุญละลายบาปนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คือใช้ความดีละลายความชั่วให้เจือจาง เช่น ความชั่วเกิดขึ้นในใจ เมื่อความดีเกิดขึ้นความชั่วย่อมถอยไป ถ้าความดีเกิดขึ้นบ่อย ๆ ไม่ให้โอกาสแก่ความชั่ว ความชั่วก็เกิดขึ้นไม่ได้ เรียกว่าเอาความดีมาไล่ความชั่วหรือละลายความชั่ว

อีกอย่างหนึ่ง ความชั่วที่บุคคลทำลงไปแล้วซึ่งจะต้องมีผลในโอกาสต่อไป ถ้าผู้นั้นเร่งทำความดีให้มากขึ้น จนท่วมท้นความชั่ว ผลของกรรมชั่วนั้นก็จะค่อย ๆ จางลงจนไม่มีอานุภาพในการทำอันตรายให้ทุกข์ เปรียบเหมือนกรด (เอซิด) ซึ่งมีคุณสมบัติทำลายชีวิตได้ แต่ถ้าเติมด่าง (อัลคอไลน์) ลงไปเรื่อย ๆ กรดนั้นก็เจือจางลง หมดคุณสมบัติในการทำลายให้โทษ

เปรียบอีกอย่างหนึ่ง เหมือนเกลือกับน้ำ สมมติว่าเอาเกลือกำมือหนึ่งใส่ลงไปในน้ำแก้วหนึ่ง น้ำนั้นจะเค็มมากเพราะน้ำน้อย แต่ถ้าเราเอาเกลือจำนวนนั้นใส่ลงไปในถังน้ำใหญ่ ๆ ความเค็มจะไม่ปรากฎแม้เกลือจะยังมีอยู่เท่าเดิม มันกลายเป็นมีเหมือนไม่มี ที่ทางพระท่านเรียก “อัพโพหาริก” แปลว่า “มีเหมือนไม่มี” เรียกไม่ได้ว่ามีหรือไม่มี เหมือนน้ำในก้อนดินแห้งหรือในเนื้อไม้ เรารู้ได้ว่ามีความชื้นอันเป็นคุณสมบัติของน้ำ เมื่อเราจุดไฟเผามีควันขึ้นมา

เอาน้ำเกลือในแก้วซึ่งเค็มมากนั้น เทลงไปในถังใหญ่ ๆ แล้วเติมน้ำลงไปเรื่อย ๆ โดยไม่เติมเกลือ ในที่สุดน้ำนั้นจะไม่ปรากฎความเค็มเลย เพราะจำนวนน้ำเหนือจำนวนเกลือมากนัก ข้อนี้ฉันใด การทำความดีละลายความชั่ว หรือละลายผลแห่งกรรมชั่วก็เป็นฉันนั้น ในที่นี้ความชั่วเปรียบเหมือนเกลือ ความดีเปรียบเหมือนน้ำ ในทางกลับกัน กรรมดีเล็กน้อยอาจถูกกรรมชั่วละลายได้เช่นกัน เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีพระพุทธภาษิตอ้างอิงดังนี้


“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นนำเขาไปสู่นรก บางคนทำบาปเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน แต่บาปนั้นให้ผลเพียงในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น (ทิฏฺฐธมฺมเวทนียัง) ไม่ปรากฎผลอีกต่อไป

บุคคลเช่นไรทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก คือบุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมศีล มิได้อบรมจิต มิได้อบรมปัญญา มีคุณธรรมน้อย ใจต่ำ บุคคลเช่นนี้แหละ ทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก

บุคคลเช่นไรทำบาปเพียงเล็กน้อย แต่บาปนั้นให้ผลแสบเผ็ดเพียงในชาติปัจจุบัน แล้วไม่ให้ผลอีกต่อไป คือบุคคลผู้ได้อบรมกายแล้ว อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณธรรมมาก มีใจใหญ่อยู่ด้วยคุณ มีเมตตาเป็นต้น อันหาประมาณมิได้
เปรียบเหมือนบุคคลใส่ก้อนเกลือลงไปในจอกน้ำเล็ก ๆ น้ำนั้นย่อมเค็มเพราะน้ำน้อย แต่ถ้าใส่ก้อนเกลือนั้นลงไปในแม่น้ำคงคา น้ำในแม่น้ำคงคาจะไม่เค็มเพราะก้อนเกลือนั้นเลย เพราะน้ำมีมาก ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนทำบาปเล็กน้อย บาปนั้นนำเขาไปสู่นรก (เพราะเขามีคุณน้อย) บางคนทำบาปเล็กน้อย บาปนั้นให้ผลเพียงในปัจจุบัน ไม่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป (เพราะเขามีคุณมาก) ฉันนั้น”

(อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ๒๐/๓๒๑ ข้อ ๕๔๐)

คนที่มีคุณธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงเพียงเล็กน้อย เหมือนน้ำในถ้วยเล็ก ๆ เมื่อทำบาป บาปย่อมให้ผลมาก ส่วนคนมีคุณมากเหมือนน้ำในแม่น้ำ เมื่อทำบาป บาปให้ผลเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่ให้ผลเลยก็ได้ คุณธรรมหรือความดี จึงมีอาณุภาพทำลายบาป ล้างบาปไปในตัว บุคคลยิ่งมีคุณธรรมสูงมากขึ้นเพียงใด โอกาสที่จะล้างบาปหรือละลายบาปก็มีมากขึ้นเพียงนั้น เพราะคุณความดีหรือความบริสุทธิ์ของใจนั้น มีคุณสมบัติ มีอานุภาพในการทำลายบาป ดังพระพุทธภาษิตว่า “หม้อที่คว่ำย่อมคายน้ำออก ไม่ทำให้น้ำไหลเข้าไปข้างใน ฉันใด ผู้อบรมแล้ว ทำให้มากแล้วซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ย่อมคายบาป คายอกุศลธรรมออก ไม่ให้บาปอกุศลธรรมเข้าไปข้างใน ฉันนั้น” (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ๑๙/๗๒)

“ผู้มีกายสะอาด วาจาสะอาด ใจสะอาด ไม่มีอาสวะ คือกิเลสที่หมักหมม นักปราชญ์เรียกผู้สะอาด สมบูรณ์ด้วยความสะอาดเช่นนั้นว่าเป็นผู้ล้างบาปได้” (อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ๒๐/๓๕๒)

ด้วยประการดังกล่าวมานี้ แสดงว่าการทำความดีละลายความชั่วในใจ และการทำความดีละลายผลแห่งกรรมชั่วที่ทำลงไปแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนผู้เคยผิดพลาดได้กลับตัว ในเรื่องชีวิตธรรมดา สมมติว่ามีใครคนหนึ่งเคยทำความเดือดร้อน เจ็บช้ำใจให้แก่เรา ต่อมาเขารู้สึกตัวรีบทำความดีต่อเรา และทำเป็นการใหญ่ เราเห็นใจเขา กลับรักเขา ให้อภัยในความผิดพลาดของเขา จริงอยู่สิ่งที่เขาได้ทำลงไปแล้วนั้นก็เป็นอันทำแล้ว ทำคืนไม่ได้ แต่ความดีใหม่ที่เขาทำลงไปเป็นอันมากนั้นย่อมมีผลลบล้างความชั่วได้ นอกจากนั้นยังมีกำไรเสียอีก อีกอุปมาหนึ่ง เหมือนคนเคยเป็นหนี้ เมื่อได้ใช้หนี้แล้ว ใช้หมดแล้ว ยังมีเงินเหลือให้ผู้ที่เขาเคยเป็นหนี้อีกมากมาย อย่างนี้เจ้าหนี้ย่อมจะพอใจเป็นอันมาก เขาได้ชื่อว่าเคยเป็นหนี้เท่านั้น หนี้สินหาได้ติดตัวเขาอยู่จนบัดนี้ไม่ การทำชั่วเหมือนการก่อหนี้ ส่วนการทำดีเหมือนการปลดเปลื้องหนี้ การทำความดีจึงดีกว่าการทำชั่ว
อีกตอนหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงปรารภพระองคุลิมาลแล้วตรัสว่า 
“บาปกรรมที่บุคคลทำแล้ว ย่อมละเสียได้ด้วยกุศลกรรม บุคคลเช่นนั้นย่อมยังโลกให้สว่างเหมือนดวงจันทร์ที่พ้นจากเมฆหมอกฉะนั้น” นี่แสดงว่าบุคคลสามารถละลายหรือล้างบาปกรรมด้วยกุศลกรรมได้ ความจริงเรื่องนี้ ทำให้ผู้ที่เคยทำชั่ว มีกำลังใจในการทำความดีในการกลับตัว ไม่ถลำลึกลงไปในความชั่ว คนที่เคยทำความชั่วมา ถ้าเขารู้สึกตัวแล้วและพยายามทำความดี อาจทำความดีได้มากกว่าและเป็นคนดีได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยทำชั่วมาเสียอีก

มหาตมะคานธีมีวาทะว่า “การทำผิดเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่ถ้าค้นพบความผิดแล้วแก้ไขและตั้งใจว่าจะไม่ทำอีกเป็นซ้ำสอง ก็น่ายกย่องนับถือยิ่งขึ้น”

รวมความว่า ตามหลักพุทธศาสนานั้น บาปย่อมล้างได้ด้วยบุญ กรรมชั่วล้างได้หรือละลายได้ด้วยกรรมดี แต่ต้องใช้เวลานาน กุศลกรรมที่แรง ๆ เช่น อรหัตมรรค อรหัตผล สามารถลบล้างความชั่วในใจได้หมด และมีอานุภาพห้ามผลแห่งกรรมชั่วเก่า ๆ ที่เคยทำมาแล้วได้หมดสิ้น จะให้ผลอยู่บ้างก็เฉพาะเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น พอท่านนิพพานแล้วผลกรรมต่าง ๆ ก็เป็นอโหสิกรรมไปหมดสิ้น.........



ขอบคุณ : จากหนังสือหลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด...อาจารย์วศิน อินทสระ  และ postjung

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์