ธรรมะคือคุณากร (หลักบริหาร) : ความเป็นธรรม

ธรรมะคือคุณากร (หลักบริหาร) : ความเป็นธรรม



          ปรากฏการณ์ทางสังคมประการหนึ่ง ที่มีให้เราได้พบเห็นอยู่บ่อยๆ ก็คือ การเรียกร้องขอความเป็นธรรมของกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น ลูกจ้างร้องขอความเป็นธรรมจากนายจ้าง เกษตรกรพากันร้องขอความเป็นธรรมเรื่องราคาผลผลิตทางเกษตร ข้าราชการชั้นผู้น้อยร้องขอความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา และ ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุกสังคม ทุกกลุ่มอาชีพตลอดถึงปัจเจกชนทุกคน ต่างก็พากันเรียกร้องหาความเป็นธรรมกันทั้งนั้น

ความเป็นธรรม มีสภาวะลักษณะที่ให้ความปลอดภัยในทุกสาขาอาชีพ ที่ใดมีความเป็นธรรม ที่นั่นจะมีแต่ความปลอดภัย

นักปกครอง มีภาระหน้าที่หลักในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน จึงไม่ผิดถ้าจะพูดว่านักปกครองคือผู้ที่มีบทบาทในการสร้างสรรค์ความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน

แต่ปัญหาที่จะต้องขบคิดก็คือ ความเป็นธรรมนั่นเอง เป็นสิ่งที่พูดง่าย แต่เข้าใจยาก เพราะปรากฏการณ์อันเดียวกัน บางทีก็มีคนมองเห็นไม่เหมือนกัน คือบางคน บางกลุ่มเห็นว่า นั่นคือความเป็นธรรม ในขณะเดียวกัน อีกคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งเห็นว่านั่นคือความไม่เป็นธรรม

ก่อนที่จะลงความเห็นว่าสิ่งใดเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ความเป็นธรรมนั้นคืออะไร มิฉะนั้นจะพูดกันไม่รู้จักจบ

ความเป็นธรรม คือสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ถูกต้อง

ปัญหาต่อไปก็คือ อะไรคือสิ่งที่ดีงาม และสิ่งที่ถูกต้อง

คนส่วนใหญ่มักจะยึดเอาประโยชน์ส่วนตนหรือความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง สิ่งใดที่ขัดต่อประโยชน์ตนหรือความเห็นของตนก็มักจะลงความเห็นว่า สิ่งนั้นไม่เป็นธรรม

แต่ตรงข้ามถ้าสิ่งใดหรือการเปลี่ยนแปลงใดเป็นไปเพื่อประโยชน์ตน พวกของตนก็ลงความเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม

ความขัดแย้งในสังคมเกิดขึ้น ก็เพราะความเห็นแก่ตัวของสมาชิกในสังคมมากเกินไปนั่นเอง

ความถูกต้องหรือความเป็นธรรมนั้น มี ๒ ระดับ คือ

ความถูกต้องที่สามารถพิสูจน์ได้ โดยไม่มีข้อโต้แย้งเรียกความถูกต้องในระดับนี้ว่า ปรมัตถสัจจะ หรือ ปรมัตถธรรม แปลว่าความถูกต้องอันประเสริฐสามารถพิสูจน์ได้โดยไม่เลือกสถานที่ และกาลเวลา เช่น คนเกิดมาแล้วต้องตาย, ไฟเป็นของร้อน เป็นต้น นี่เป็นความถูกต้องระดับแรก

ความถูกต้องระดับรองลงไปก็คือ ความถูกต้องที่สังคมนั้นๆ สมมติขึ้น และยอมรับที่จะถือเป็นข้อปฏิบัติ เรียกความถูกต้องในระดับนี้ว่า สมมติสัจจะ หรือ ความยุติธรรม ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่สมาชิกในสังคมพากันสมมติขึ้นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นข้อ "ยุติ" กัน เช่น เรายอมรับว่า การบริหารงานต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมายและกฎหมายได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ไว้แตกต่างกันตามฐานะความรับผิดชอบ

การกระทำใดๆ ที่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ การกระทำนั้นๆ ย่อมถือว่าถูกต้อง เป็นธรรม หรือยุติธรรมแล้ว (กฎหมายก็คือสมมติสัจจะอย่างหนึ่งที่สังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง) ถ้าจะตำหนิก็ต้องตำหนิกติกาหรือกฎหมายที่สังคมนั้นๆ สร้างขึ้นไม่ควรตำหนิผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย

ความถูกต้องในระดับ "ปรมัตถธรรม" นั้น เป็นสิ่งที่สูงเกินไปที่จะนำมาใช้กับสังคมที่สมาชิกส่วนใหญ่ยังเป็นทาสความเห็นแก่ตัว ยังอิจฉาริษยาอาฆาตมาดร้ายกัน และความงมงายหลงผิด

ความถูกต้องที่สามารถนำมาใช้ในสังคมทั่วๆ ไปได้ก็คือ "สมมติสัจจะ" หรือ "ความยุติธรรม"

สังคมจะสงบสุขได้ก็ต่อเมื่อมีความยุติธรรม โดยยึดกติกาหรือตัวบทกฎหมายเป็นหลักในการวินิจฉัย

ถ้าสังคมใดไม่ยอมรับแม้ความยุติธรรม สังคมนั้นก็คือสังคมของคนป่าเถื่อน เป็นอนารยชน หากเรายอมรับว่าเราอยู่ในสังคมที่เจริญแล้ว เราก็ต้องยอมรับกติกาของสังคมกติกาใดไม่ดี เราก็ต้องช่วยกันคิดช่วยกันแก้ไขกติกานั้นได้

นักปกครองจะสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคมได้ ก็คงจะต้องเป็นระดับ "ความยุติธรรม" ถ้าจะสร้างสรรค์ความเป็นธรรมในระดับปรมัตถธรรม ก็คงจะลำบาก เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงหรือตามไม่ทัน แทนที่จะเป็นความสงบก็อาจจะกลายเป็นความวุ่นวายไปก็ได้

ความเป็นธรรม เป็นคนละเรื่องกับผลประโยชน์ส่วนบุคคล ความเป็นธรรมอาจจะทำให้ผลประโยชน์ส่วนบุคคลเสียไปบ้างก็ได้ ถ้าจะเอาผลประโยชน์มาวัดว่าสิ่งใดหรือปรากฏการณ์ใดเป็นธรรมหรือไม่ จะต้องเอาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่มาวัด การใดคนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์มากกว่าคนส่วนน้อย ย่อมกล่าวได้ว่าการนั้นเป็นธรรม



ที่มาhttp://board.palungjit.com/


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์