ธรรมะท่านพุทธทาส ชาตินี้ ชาติหน้า


คำบรรยายธรรม "อบรมพระธรรมฑูต" ๒๕๑๐ โดย "พุทธทาสภิกขุ" คัดจาก หนังสือ ดอกโมกข์ รายตรีมาส ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ สิงหาคม - ตุลาคม ๒๕๔๒

บัดนี้ วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๑๐ สำหรับพวกเรา ได้ล่วงมาถึงเวลา ๕.๐๐ น.แล้ว เป็นเวลาที่เรา กำหนดกันไว้ว่า จะพูดจา เรื่องใดเรื่องหนึ่งกัน เป็นประจำวัน

วันนี้จะได้กล่าวถึงเรื่อง ชาตินี้-ชาติหน้า, เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญแก่คน ทุกคน ในฐานะที่เป็นปัญหา, และพวกธรรมฑูต ก็จำเป็น ที่จะต้องสอน เรื่องนี้ นอกจาก จะเป็นเรื่อง ที่จะถูกถามแล้ว ยังเป็นเรื่อง ที่จะถูกถามหรือไม่ถูกถาม ก็ ต้องสอนให้รู้จัก, ให้เข้าใจ ในการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่แล้วมาได้สังเกตเห็น ว่า ความเข้าใจผิด ในเรื่องนี้ มีอยู่มากทีเดียว, เมื่อเข้าใจผิด ก็ทำให้การปฏิบัติ เกี่ยวกับเรื่องนี้ พลอยผิดไปด้วย หรือไปสนใจ ในทาง หรือ ในแนวที่ผิดๆ.

การที่จะสันนิษฐาน หรือ แม้แต่ตัดสินใจ ลงไปว่า เรื่องใดผิด เรื่องใดถูก นี้ก็มี ปัญหา อยู่บางอย่าง, คือ ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะเอามาแสดงกันได้ โดยเปิดเผย ชัดเจน, มันก็กลายเป็น เรื่องที่ขึ้นอยู่กับ เหตุผล, และมักจะเป็น เหตุผลของการ พูดจาเสียมากกว่า เช่น โลกหน้า เป็นต้น ดังนั้น มันมีทางออก อีกทางหนึ่ง ที่จะ วินิจฉัย หรือตัดสินเกี่ยวกับเรื่องนี้. คือว่า ความเห็นหรือเหตุผลนั้นจะต้องฟังดู อีกทีหนึ่งว่าการกล่าวลงไปเช่นนั้น มันมีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์, ถ้ามันมี ประโยชน์ ก็ต้องนับว่า เป็นการสันนิษฐาน หรือความเข้าใจที่ถูกต้อง, ถ้ามันเป็น ประโยชน์เต็มที่ ในเมื่อความเห็นอีกทางหนึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลยอย่างนี้ ก็ต้อง เอาอย่าง ที่เป็นประโยชน์เต็มที่ นี่แหละ เรื่องเกี่ยวกับ ชาติหน้า หรือชาติอื่นที่เอา มาให้ดูไม่ได้, เพราะไม่ใช่เรื่องวัตถุ จะต้องเป็นไป ในทำนองที่ว่า ความคิดเห็น หรือหลักเกณฑ์อย่างไรเป็นประโยชน์ ความคิดเห็น หรือหลักเกณฑ์อันนั้นถูกต้อง

การที่จะสอนเรื่อง โลกหน้า กันไปตามตัวหนังสือ, หรือ ตามความเข้าใจ ที่ทำ สืบๆ กันมา อย่างหลับหู หลับตานั้น อาจจะกลายเป็นผู้ทำผิด, หรือเป็นผู้โง่เขลา เกี่ยวกับเรื่องนี้เสียเอง. ดังนั้น เราในฐานะ ที่เป็น นักศึกษาธรรมฑูต จักไม่ตกหลุม ตกบ่อ ของตัวเอง, ของความโง่เขลา ของตัวเอง มากเหมือนอย่างนั้น, ยิ่งตั้งอยู่ใน ฐานะที่จะไปสอน เข้าด้วยแล้วก็จะต้องระวังให้ดี, หรือควรจะรับผิดชอบให้เต็มที่, ให้มันเป็นเรื่อง ที่มีประโยชน์ จึงจะเรียกว่า ถูกต้อง

ที่นี้ เราจะได้พูดกัน ถึงเรื่องนี้ ชาตินี้ ชาติหน้า โลกนี้ หรือ โลกหน้า ต่อไป. ข้อนี้ มันเกี่ยวกับ คำว่า "ชาติ" คือ ความเกิด เป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่เรียกว่า ความเกิด นั้น มันต้องรู้กันด้วยว่า เป็นความเกิดของอะไร. เป็นความเกิดของเนื้อหนังร่างกาย, หรือว่าเป็นความเกิดของจิตใจ แน่นอนความเกิดนั้น ยังเป็นความเกิดของตัวเรา หรือตัวกู แต่มันยังมีเป็น ๒ อย่าง, คือเกิดทางร่างกาย, หรือเกิดทางจิตใจ ตัวเราเกิดทางร่างกาย หรือ เกิดจากท้องแม่ เกิดทีเดียว ก็เสร็จไปตลอดชาติ,แต่ว่า การเกิดทางจิตใจนั้น เกิดได้เรื่อยไป, วันหนึ่งเกิดได้หลายๆหน หรือ หลายสิบ หน ปัญหาจึงมีขึ้นเป็นชั้นแรกว่า ความเกิดชนิดไหน เป็นความเกิด ที่เป็น ปัญหา สำหรับมนุษย์เรา ที่เราจะต้องรู้, ที่เราจะต้อง เอาชนะให้ได้, โดยมีหลักอยู่ว่า ความเกิดเป็นทุกข์, หรือ ความเกิดทุกที เป็นทุกข์ทุกที.

ถ้าเกี่ยวกับความเกิดจากท้องแม่ มันก็เป็นเรื่องเสร็จสิ้นไปแล้ว, ไม่มีปัญหาอะไร เหลืออยู่, แต่ถ้าเป็นการเกิดทางจิตใจ มันยังจะเกิดอีกเรื่อยไป, คือมันเป็นการเกิด ทางจิตใจ มันยังจะเกิดอีกเรื่อยไป, คือมันยังจะต้องมีความทุกข์อีกเรื่อยไป, นี่เป็น การเกิดทางใจ ทางนามธรรม เป็นการเกิดของอุปาทานว่าตัวเรา ว่าของเรา. พระ พุทธองค์ก็ได้ตรัสว่า เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นเป็นทุกข์ ด้วยเหตุนี้ เราพอจะจับหลักได้ว่า เบญจขันธ์มีอุปาทานว่า ตัวกู ของกู ขึ้นในขณะใด, ขณะนั้น เบญจขันธ์นั้น จะต้องมีความทุกข์ เพราะมีการยึดถือเบญจขันธ์ นั้นเอง ว่าเป็นตัวกู บ้าง ว่าเป็นของกูบ้าง ในขณะใด เบญจขันธ์ ปราศจากความรู้สึกว่า มีอุปาทาน ใน ขณะนั้นก็ไม่มีทุกข์

เบญจขันธ์ ของพระอรหันต์ เรียกว่า เบญจขันธ์บริสุทธิ์, ปราศจากกิเลสอุปาทาน จึงไม่เป็นทุกข์ ตลอดเวลา ตลอดกาล, ส่วนเบญจขันธ์ของคนธรรมดา นั้น เดี๋ยวก็ เกิดอุปาทาน เดี๋ยวก็เกิดอุปาทาน มีความรู้สึก ไปในทำนอง เป็นตัวกู ของกู เกิดอยู่ บ่อยๆ จึงเป็นทุกข์บ่อยๆ พร้อมที่จะเกิดและจะเป็นทุกข์ และง่ายดายที่สุดที่จะเกิด และเป็นทุกข์มันแตกต่างกันอยู่อย่างนี้, นี้คือการเกิดและเป็นการเกิดของตัวกู หรือ ของกู ในฝ่ายนามธรรม หรือ ทางจิต, ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่า ชาตินี้ หรือชาติหน้า ใน ทางฝ่ายร่างกาย และทางฝ่ายนามธรรม มันจึงต่างกันอย่างยิ่ง อีกเหมือนกัน, ชาติ หน้า ฝ่ายร่างกาย หรือฝ่ายวัตถุนั้น มันต้องเข้าโลง ตายเข้าโลง เน่าไปแล้ว จึงจะมี ชาติหน้า.

ส่วนเรื่องชาติหน้าของการเกิดฝ่ายนามธรรม หรือฝ่ายจิตนั้น มีสลับกันอยู่ในชาตินี้ และกระทั่งในวันนี้มีชาตินี้ชาติหน้าสลับกันอยู่ จนกล่าวได้ว่า ในกรณีที่มีความรู้สึก ว่า ตัวกูของกู เกิดขึ้นครั้งหนึ่งนั้นคือชาติหนึ่ง, พอกรณีนั้นสิ้นสุดไป ก็เรียกว่า ชาติ นั้น สิ้นสุดไป พร้อมที่จะมีชาติหน้าใหม่, คือจะมีกรณีที่ทำให้เกิดตัวกู ของกู ต่อไป ใหม่ นี้เรียกว่าระหว่างชาตินี้ กับชาติหน้า, แม้ในภายในวันหนึ่งก็มีได้ตั้งหลายชาติ, ผลที่ทำไว้ในชาติที่แล้วมา คือ ในกรณีก่อนจะมามี ความทุกข์เกิดขึ้นในกรณีหลัง, อย่างนี้เป็นสิ่งที่แน่นอน, เห็นได้ชัดด้วยตา ด้วยใจ อย่างชัดแจ้ง เปิดเผย, เช่นตัวกู เกิดขึ้น กระทำอย่างโจร, เสร็จแล้ว ตัวกูก็เกิดขึ้น ในลักษณะที่ กลัวความผิด, หรือ ร้อนใจ คือตัวกูกระทำความชั่วไว้ในกรณีหลัง ที่เกิดตัวกู รู้สึกในเรื่องนี้ขึ้นมา, แล้ว ก็ร้อนใจ และเป็นทุกข์ดังนี้เป็นต้น. เรียกว่าผลในชาติก่อนให้ผลแล้ว ในชาติถัดมา, ดังนั้นในวันหนึ่งจึงมีการเกิดตัวกูของกูอย่างนี้ได้หลายๆชาติมีทั้งชาตินี้มีทั้งชาติ หน้า.

ถ้าจะเรียกอีกอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่าเป็นกรณีๆ ไปทีเดียว, กรณีหนึ่งก็คือ ชาติหนึ่ง, แต่คำว่า "กรณี กรณี" ในที่นี้ ต้องสมบูรณ์ จริงๆ, หรือ เป็นกรณีที่มี ความรู้สึก เป็นตัวกู ของกู เกิดขึ้นมา อย่างสมบูรณ์, เรียกว่า การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การดับ ไป โดยสมบูรณ์ ในกรณีของการที่อุปาทาน ได้เกิดขึ้น, การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของจิต ในขณะจิต ตามธรรมดานั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ และไม่มีความหมายอะไร, การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของอุปาทาน เนื่องด้วยตัวเรา เนื่องด้วยของเรานี้มีความ หมายเต็มที่ และปัญหาอยู่ที่นี่ ดังนั้น จึงต้องจัดการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้ดีๆ ให้เห็น ว่า มันอยู่ใกล้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เราจึงจะกำจัดความทุกข์ที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้.

คนโง่ ย่อมคิดไกลเกินไป จนไม่มีประโยชน์ "คนโง่ก็ไปคิดเอา สิบเบี้ยไกลมือ, คนฉลาดก็ไปคิดเอา หนึ่งเบี้ย สองเบี้ย ใกล้มือ" นี้เป็นคำพูดพื้นบ้าน, ซึ่งดูเหมือน จะมีอยู่ทั่วไป ว่า คนโง่คิดไกลอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ชาติหน้าของคนโง่ จะต้องอยู่ ไกล หลังจากตายไปแล้วอยู่เสมอ แต่ชาติหน้าของคนฉลาด ต้องอยู่ที่นี่ และเดี๋ยว นี้ ติดต่อกันไปทีเดียว จึงสามารถ ป้องกันมันได้ คนโง่จะเอาเรื่องเหตุ ไว้ที่ชาติอื่น, เอาผลไว้ที่ชาติอื่น, แล้วมันจะทำกัน ได้อย่างไร, เช่นว่าเดี๋ยวนี้ เราจะมีความทุกข์ เราต้องการ จะตัดต้นเหตุ ของความทุกข์, แล้วเราเอาเหตุ ของความทุกข์ ไปไว้ที่ ชาติอื่น คือ ชาติที่แล้วมา อย่างนี้ มันจะตัดต้นเหตุ ของความทุกข์ ได้อย่างไร นี่ พูดถึง ชาติ ของร่างกาย

มันต้องอยู่ในชาติ ทางร่างกายเดียวกันนี้, ทั้งเหตุและผล เราจึงจะสามารถ ตัด ต้นเหตุ แห่งความทุกข์นั้นได้ และได้รับผล เป็นความไม่ทุกข์ได้ สิ่งต่างๆ ต้อง อยู่ในวิสัย ที่เราจะเกี่ยวข้องได้ จัดการได้ มันจึงจะเป็นประโยชน์, ถ้าเอาไปไว้กัน เสีย คนละชาติแล้ว มันแทบจะ ไม่มีประโยชน์อะไร และในบางกรณี มันทำไม่ได้ เหมือนกับที่ เราจะดับทุกข์ ของชาตินี้ แต่เหตุของมัน อยู่ที่ ชาติก่อนโน้นแล้ว จะ ไปดับได้อย่างไร.

ธรรมะท่านพุทธทาส ชาตินี้ ชาติหน้า

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์