บริหารใจเจริญจิต

บริหารใจเจริญจิต



ความสุขมีหลายอย่าง ทั้งความสุขที่ต้องอาศัยเหยื่อและไม่ต้องอาศัยเหยื่อ ความสุขที่คนอื่นหามาให้เราและที่เราหาให้คนอื่น ความสุขที่ได้ช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่น

แต่เราตระหนักดีแล้วว่าเงินซื้อความสุขอย่างแท้จริงไม่ได้ เพราะเงินซื้อได้แต่เพียงวัตถุข้าวของที่ให้ความสะดวกสบายทางกาย สำหรับความสุขทางใจนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า "จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้ สุขอื่นเหนือความสงบไม่มี" ถ้าอยากมีความสะดวกจึงต้องขยันหาเงิน ถ้าอยากมีความสุขจึงต้องฝึกจิตให้สงบ เงินซื้อจิตที่ฝึกแล้วพัฒนาแล้วไม่ได้ เราต้องปฏิบัติเอง ถ้าอยากมีทั้งความสุขและความสะดวกสบายก็ต้องฝึกจิตให้สงบ แล้วค่อยเอาจิตที่สงบไปทำงานหาเงิน!

คนเรามักจะคิดว่าการทำร้ายตัวเองหมายถึงการกระทำภายนอก เช่น ทุบตีตัวเอง แต่จริงๆ แล้วการคิดไม่ดีก็เป็นการทำร้ายตัวเอง พูดไม่ดีก็เป็นการทำร้ายตัวเอง ทำสิ่งที่ไม่ดีไม่เหมาะสมก็เป็นการทำร้ายตัวเอง ดังนั้นในการแก้ไขพัฒนาตนเอง อาจเริ่มจากก่อนนอนบอกตัวเองว่า "พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้...นิดนึง" ตื่นขึ้นมาก็บอกตัวเองว่า "วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน...นิดนึง" แล้วฝึกฝนตัวเองให้ดีขึ้นในด้านต่างๆ ทีละเล็กละน้อย เช่น ตื่นเช้าขึ้น ดูแลบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ออกกำลังกายเสียบ้าง รวมถึงปฏิบัติดีต่อผู้อื่นรอบตัว หากเราต้องการมีความสุขในบ้าน ให้เปลี่ยนจากการ "จับผิด" เป็น "จับถูก" จาก "เพ่งโทษ" เป็น "เพ่งคุณ" จาก "ติเตียน" เป็น "ชื่นชมให้กำลังใจกัน" เวลาเกิดปัญหาก็ควรใช้เหตุผลแก้ปัญหาแทนการใช้อารมณ์ แต่ถ้าเหตุผลจะทำให้ทะเลาะกันก็ควรใช้สติปัญญา เอาความรักและความสงบเป็นใหญ่ ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ทะเลาะกัน เพราะทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ไข

เมื่อกายมีปัญหาก็แก้ปัญหาทางกาย ใจมีปัญหาก็แก้ปัญหาทางใจ กายจะมีปัญหาก็เมื่อขาดแคลนปัจจัยสี่ (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค) แต่ใจจะมีปัญหาเมื่อขาดความสงบ ขาดธรรมะ เพราะใจกินความสงบเป็นอาหาร วันไหนใจสงบวันนั้นจะมีพลัง วันไหนใจฟุ้งจะเหนื่อยเพลียไม่มีแรง เพราะใจแห้ง ไม่สดชื่น หากให้อาหารกาย กายก็แข็งแรงมีภูมิต้านทานโรค หากให้อาหารใจ ใจก็แข็งแรง มีภูมิต้านทานอารมณ์ที่มากระทบ ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่างๆ ได้ง่าย

หากร่างกายไม่สบายหนักก็ต้องเข้าห้องไอซียู แต่ถ้าใจไม่สบายหนักก็ต้องเข้าห้อง "I See You" คือ กลับมาศึกษาลงไปที่ความรู้สึกสดๆ ที่เกิดขึ้นที่จิตในแต่ละครั้งของการกระทบอารมณ์ หลักปฏิบัติในการศึกษาพุทธศาสนาที่แท้จริง คือ ศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจตนเอง และฝึกควบคุมตัวเองให้ได้ ให้อยู่ในศีลธรรม ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ตนแลเป็นผู้สอนยาก" เพราะเรามักจะให้อภัยตัวเองเมื่อทำผิดอยู่เสมอนั่นเอง

"บริหารกายเจริญวัย บริหารใจเจริญจิต เจริญธรรมเป็นนิจจิตผ่องใส บำเพ็ญอยู่เสมอไม่เผลอใจ อะไรๆ ก็จะโปร่งเบาเท่านั้นเอง"

พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณโณ ผู้เขียนหนังสือ "หักหอกเป็นดอกไม้" ได้เล่าเรื่องเมื่อครั้งที่ท่านไปนั่งสมาธิสงบอยู่ในถ้ำ จู่ๆ ก็ได้ยินเสียงฝีเท้าและเสียงพูดว่า "เห็นรึยัง ทราบแล้วเปลี่ยน" ท่านก็พยายามดึงลมหายใจให้อยู่ในความสงบไม่ให้จิตกระเพื่อม แต่เสียงพูดประโยคนั้น "เห็นรึยัง ทราบแล้วเปลี่ยน" ก็ดังขึ้นอีกเป็นระยะ ทั้งเสียงฝีเท้าก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ สักพักก็มีมือมาจับเข่าท่านเขย่าและถามแบบเดิมอีก ท่านลืมตาขึ้นจึงเห็นชายคนหนึ่งกำลังจ้องท่านเขม็งแล้วก็ถามท่านอีก "เห็นรึยัง ทราบแล้วเปลี่ยน" ท่านไม่ค่อยพอใจนักจึงตอบว่า "หลับตาก็ดำปี๋ ลืมตาก็เห็นหน้าโยมนี่แหละ มีอะไร" ชายคนนั้นก็บอกว่า "ใช้ไม่ได้! มันต้องเห็นเป็นตัวเลขขึ้นมาชัดๆ ไม่งั้นก็เป็นจุดๆ อย่างนี้ๆ" กลายเป็นว่าชายคนนั้นมาขอหวยนั่นเอง เมื่อไม่ได้อย่างหวังก็จากไป

พระอาจารย์จึงหลับตานั่งสมาธิภาวนาต่อ แต่เมื่อกำลังจะรวบรวมจิตได้ทีไรก็จะได้ยินเสียง "เห็นรึยัง ทราบแล้วเปลี่ยน" ดังขึ้นอีกครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งที่ตัวคนพูดไม่อยู่ที่นั่นแล้ว เป็นอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าจนท่านไม่สามารถสงบได้ แต่ในที่สุดพอท่านตัดสินใจชันเข่าจะลุกขึ้น ท่านก็เกิดความเข้าใจแวบขึ้นมาถึงความหมายลึกซึ้งของ "เห็นรึยัง ทราบแล้วเปลี่ยน"

"เห็นหรือยัง" หมายถึง เห็นอารมณ์ที่เปลี่ยนไปเพราะเราไปข้องแวะวุ่นวายกับเรื่องภายนอก "ทราบแล้วเปลี่ยน" หมายถึง เมื่อเห็นแล้วทราบแล้ว ก็เปลี่ยนกลับสู่สภาพใจที่เป็นปกติ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตของคนเราเปรียบเสมือนพระจันทร์วันเพ็ญที่สว่างไสว กิเลสเหมือนเมฆที่ลอยผ่านมาบังดวงจันทร์ เมฆไม่ใช่พระจันทร์ พระจันทร์ก็ไม่ใช่เมฆ เมฆบังพระจันทร์สักพักก็ผ่านไป พระจันทร์ (ใจ) ก็ใสสว่างเหมือนเดิม ฉะนั้นเมื่อกิเลสเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่ากิเลสมาแล้ว แต่กิเลสไม่ใช่เรา เราเพียงแต่รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปคิดปรุงแต่ง ถ้าเข้าใจแบบนี้อยู่ในที่ร้อนเราก็อบอุ่น อยู่ในที่วุ่นเราก็สบาย ไม่มีปัญหากับใครกับสิ่งใดทั้งสิ้น เพราะเราสามารถอยู่อย่างเป็นปกติได้เสมอ พระอาจารย์จึงนึกขอบใจชายคนนั้นอย่างยิ่งที่มาสอนท่านเรื่องการทำความเข้าใจตนเองถึงในถ้ำเลยทีเดียว แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

"ทราบแล้วเปลี่ยนปุ๊บปั๊บจับให้ถูก จิตไม่ผูกเป็นจริงอิงอาศัย ทุกสิ่งล้วนมายาพาเราไป เลิกหลงใหล ทราบแล้วเปลี่ยน ไม่เพี้ยนเอย"

แล้วเราๆ ท่านๆ ล่ะ เห็นหรือยัง...ทราบแล้วเปลี่ยน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์