ปฏิบัติบูชา... ทำได้ทุกวัน ทำได้ตลอดเวลา

ปฏิบัติบูชา... ทำได้ทุกวัน ทำได้ตลอดเวลา

ปฏิบัติบูชา... ทำได้ทุกวัน ทำได้ตลอดเวลา


อีกเพียงไม่กี่วันก็ถึงวันเพ็ญเดือน ๖ ตามปฏิทินจันทรคติของชาวพุทธของเรา นั่นก็หมายถึงวันวิสาขบูชาเวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง วันวิสาขบูชานั้นถือเป็นวันสำคัญไม่แต่เพียงของชาวพุทธ แต่ถือเป็นวันสำคัญสำหรับชาวโลก เพราะองค์การยูเนสโก ประกาศให้เป็นวันสำคัญของทั่วโลกอีกด้วย และสำหรับวันเพ็ญเดือน ๖ ของปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ นั้นมีความหมายยิ่งไปกว่าปีอื่น ๆ เพราะเป็นการครบรอบ ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยปีนี้ชาวพุทธถือว่าเป็นปี “พุทธชยันตี” หรือการระลึกถึงชัยชนะของพระพุทธองค์นั่นเอง

ในเทศกาลนี้ชาวพุทธคงจะคิดกันอยู่ว่าจะทำบุญกันอย่างไร บ้างก็เตรียมทำบุญบ้างก็เตรียมที่จะไปเข้าวัดฟังธรรม รับศีลรับพรจากพระท่าน บ้างก็วางแผนจะไปเวียนเทียนในวันสำคัญนี้ด้วย

แต่สำคัญไม่แพ้อื่นใดคือเรื่องของการ “ปฏิบัติบูชา”

ทำความดีละเว้นความชั่วและชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ คือหลักการสำคัญทางพุทธศาสนา แต่บ่อยครั้งชาวพุทธเราโดยเฉพาะในยุคดิจิทัล อาจจะมองเรื่องของพิธีกรรมก็ดี เรื่องของการเดินตามรอยธรรมว่าเป็นสิ่งที่แยกออกจากการดำรงชีวิตประจำวัน และมองว่าการเดินตามรอยธรรม เช่น การเข้าวัด การเวียนเทียน การฟังเทศน์ เป็นเรื่องเฉพาะช่วงที่ตรงกับวันสำคัญทางศาสนาแต่เพียงเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วหลักธรรมของพระพุทธศาสนานั้นเป็นหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับทุกมิติของชีวิต และสามารถปฏิบัติได้ทุก ๆ วันทุก ๆ เวลา โดยไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะช่วงวันหยุดทางศาสนา

และบ่อยครั้งที่จะมองว่าการทำบุญ นั้นมีเฉพาะมิติ “อามิสบูชา” เช่นการทำบุญตักบาตรถวายสังฆทาน โดยที่อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญของ “การปฏิบัติบูชา” ด้วยการทำความดี ละเว้นความชั่วและทำจิตใจให้บริสุทธิ์

หากถามว่า ปฏิบัติบูชานั้นจริง ๆไม่ได้ยากเย็นแสนเข็ญ เริ่มต้นจากการ “รักษาศีล ๕” ก็ถือเป็นการลดการเบียดเบียนต่อสัตว์โลก (จากที่เคยเบียดเบียนมาทุกวันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะพยายามยกเว้นเฉพาะบางเวลา) ลองพินิจพิเคราะห์ดูแล้วจะพบว่าการรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว หากว่าตั้งมั่นได้ต่อกันเป็นระยะยาว ๆ จะเป็นมหากุศลแก่ชีวิตและพระพุทธศาสนาทีเดียว

อีกหนึ่งคือเรื่องของการภาวนา ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ที่ไม่จำเป็นต้องมากับรูปแบบของการนั่งสมาธิ วิปัสสนาแต่อย่างเดียว การ “สร้างสติ” โดยต่อเนื่องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำเพื่อไม่ให้ตกเป็นทาสของโลภโกรธหลงก็ถือว่าเป็นการภาวนาแล้ว

ถึงตรงนี้ทำให้นึกถึง ท่านพุทธทาส (ที่วันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นวันชาตกาลล้ออายุ ๑๐๖ ปีของท่าน) ที่ท่านได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านหลากหลายครั้งว่า การรู้ตัวทั่วพร้อม เวลาทำงานก็รู้ว่าตัวเองทำงาน เพราะการทำงานก็สามารถปฏิบัติธรรมได้...เวลาล้างจานก็ล้างจานเพื่อล้างจาน ไม่ใช่ปล่อยให้จิตใจล่องลอยไป อดีตกาลหรืออนาคตกาล และจินตนาการอันเป็นการซ้ำเติมชีวิตตนเองต่อไปเรื่อย ๆ  หายใจทิ้งขว้างไปโดยไม่มีแก่นสารทางธรรมแม้แต่น้อย

นอกเหนือไปจากนี้ การปฏิบัติบูชา หรือการเป็นชาวพุทธที่ดี ไม่จำเป็นต้องรอวาระวันสำคัญทางศาสนา และไม่จำเป็นต้องหยุดเลิกหลังจากวันสำคัญทางศาสนาแล้ว เพราะการเป็นชาวพุทธที่ดี เป็นได้ตลอดเวลา เป็นได้ทุกวัน ปฏิบัติบูชา ยิ่งมากยิ่งดีครับ.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์