ปฐมเหตุการทอดกฐิน

"ปฐมเหตุการทอดกฐิน" 

...สมัยเมื่อพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ วัดเชตวันมหาวิหารอารามของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี แคว้นโกศล ครั้นนั้น พระภิกษุ ภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป (ระดับภูมิธรรมระหว่างพระโสดาบัน – พระอนาคามี) ชาวเมืองปาไฐยรัฐ ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ (ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร) บิณฑปาติกธุดงค์ (ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร) และเตจีวริกธุดงค์ (ถือการครองผ้า ๓ ผืน เป็นวัตร) เดินทางไปพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่เดินทางมาไม่ทัน เพราะจวนเข้าพรรษา จึงต้องหยุดจำพรรษา ณ เมืองสาเกต พระภิกษุเหล่านั้น จำพรรษาด้วยใจรัญจวนว่า : พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้ ๆ เราระยะทางห่างกันเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระพุทธองค์

ครั้นล่วงไตรมาส พระภิกษุเหล่านั้นออกพรรษา ทำปวารณาเสร็จแล้ว ได้มุ่งตรงมายังวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ขณะนั้นในชมพูทวีปยังมีฝนตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลนโคลนตม มีน้ำขังอยู่ในที่ต่างๆ ตามทางที่เดินทางผ่านมา พระภิกษุทั้ง ๓๐ รูป ได้รับความลำบากจากการเดินทาง มีจีวรชุ่มชื้นไปด้วยน้ำและมีหล่มเลนโคลนตม อีกทั้งยังต้องฝ่าแดด กรำฝน ลำบากกาย จีวรขาดวิ่น จนมาถึงวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ก็มิได้รั้งรอ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลายนั้นเป็น พุทธประเพณี

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระภิกษุเหล่านั้นว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้า : 
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกันร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ ”

พระภิกษุภัททวัคคีย์ : 
“ พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้ เป็นภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษาไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง พวกข้าพระพุทธเจ้านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้ๆ เราระยะทางเห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

ครั้นล่วงไตรมาส พวกข้าพระพุทธเจ้าออกพรรษา ทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ และมีหล่มเลน โคลนตม มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ฝ่าแดด กรำฝน ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า... “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้วจักได้อานิสงส์กฐิน ๕ ประการคือ
๑. อนามนฺตจาโร เที่ยวไปไหน ไม่ต้องบอกลา (ภิกขาจารไปโดย ไม่ต้องบอกลา)
๒. อสมทานจาโร ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ (ผ้า ๓ ผืน : สบง จีวร สังฆาฏิ)
๓. คณโภชนํ ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันเป็นหมู่ ได้ คือภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป เจ้าภาพสามารถบอกชื่ออาหาร คือ โภชนะ ๕ ได้แก่ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ)
๔. ยาวทตฺถจีวรํ เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ปกติเก็บไว้ ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน)
๕. โย จ ตตฺถ จีวรุปฺปาโท โส เนสํ ภวิสฺสติ จีวรลาภอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่ พวกเธอ (ลาภสักการะที่สมควรแก่พระภิกษุ เช่นไตรจีวร ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า เครื่องใช้ต่างๆ เจ้าภาพถวายแล้ว พระภิกษุเก็บไว้ได้เอง โดยไม่เป็นของสงฆ์)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ จักได้แก่พวกเธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว ”

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภเรื่องนี้เป็นปฐมเหตุ ทรงมีฉันทานุมัติตามพุทธประเพณีที่มีมา มีพระภิกษุ ๓๐ รูป ซึ่งเป็นพระภิกษุปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบในธุดงควัตร อยู่ป่าเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นวัตร และปฏิบัติกิจด้วยผ้า ๓ ผืน เป็นวัตร อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะท่านได้สะสมบารมีมา พระภิกษุภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ รูป เคยได้เห็นพระภิกษุ ๓๐ รูป ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ท่านได้ถวายภัตตาหารในพระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ และท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ถ้าได้เกิดมาภพหนึ่ง ชาติใดในพระพุทธศาสนา ขอให้ได้เป็นเอตทัคคะ หรือเป็นผู้ได้รับฉันทานุมัติเป็นท่านแรกหรือเป็นคณะแรกทั้ง ๓๐ ท่าน ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฉันทานุมัติให้ยกเว้น หรือได้อานิสงส์จากการกรานกฐิน ๕ ประการ บุรุษทั้ง ๓๐ ท่านได้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ เกิดมาพบกันทุกชาติ เพราะสร้างกุศลมาร่วมกัน มากบ้างน้อยบ้างในแต่ละชาติ การที่ท่านได้มาเกิดในสมัยของพระสมณโคดมพุทธเจ้า จะได้สร้างกุศลใหญ่ คือท่านจะเป็นปฐมเหตุ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับผ้ากฐิน กรานกฐิน และได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ เมื่อออกพรรษาแล้ว เมื่อเป็นดังนี้ พระภิกษุภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าและได้สดับฟังพระธรรมีกถาเรื่อง “อนมตัคคิยกถา” ได้บรรลุ “พระอรหัตตผล” ทุกรูป ในวาระกาลจบพระธรรมเทศนา

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระภิกษุจึงได้รับผ้ากฐินตามพระวินัยบัญญัติ มหาอุบาสิกาวิสาขา (ผู้เป็นพระโสดาบัน) ได้ทราบพระพุทธานุญาต จึงได้เป็นท่านแรกที่ได้ถวายผ้ากฐินแก่พระภิกษุสงฆ์ในบวรพุทธศาสนา

ความหมายของคำว่า "กฐิน"
คำว่า "กฐิน" แปลว่า "ไม้สะดึง" คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)
ผ้ากฐิน โดยความหมายก็คือผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมเรียกกันจนปัจจุบันนี้

การทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น

เขตกำหนดทอดกฐิน
การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน

แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้

ฉะนั้น เมื่อครบวันกำหนดกฐินเดาะแล้ว ภิกษุก็หมดสิทธิ์ต้องรักษาวินัยต่อไป พระสงฆ์จึงรับผ้ากฐินหลังออกพรรษาไปแล้ว หนึ่งเดือนได้ จึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้

การทอดกฐินในปัจจุบัน ถือว่าเป็นทานพิเศษ กำหนดเวลาปีหนึ่งทอดถวายได้เพียงครั้งเดียว ตามอรรถกถาฎีกาต่าง ๆ พอกำหนดได้ว่าชนิดของกฐินมีสองลักษณะ คือ

จุลกฐิน การทำจีวร พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เสร็จภายในกำหนดหนึ่งวัน ทำฝ้าย ปั่น กรอ ตัด เย็บ ย้อม ทำให้เป็นขันธ์ได้ขนาดตามพระวินัย แล้วทอดถวายให้เสร็จในวันนั้น

มหากฐิน คืออาศัยปัจจัยไทยทานบริวารเครื่องกฐินจำนวนมากไม่รีบด่วน เพื่อจะได้มีส่วนหนึ่งเป็นทุนบำรุงวัด คือทำนวกรรมบ้าง ซ่อมแซมบูรณของเก่าบ้าง ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า กฐินสามัคคี

การทอดกฐินในเมืองไทย 
แบ่งออกตามประเภทของวัดที่จะไปทอด คือพระอารามหลวง ผ้าพระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ไปพระราชทาน เครื่องกฐินทานนี้จัดด้วยพระราชทรัพย์ของพระองค์เอง เรียกว่า กฐินหลวง บางทีก็เสด็จไปพระราชทานยังวัดราษฎร์ด้วย นิยมเรียกว่า กฐินต้น ผ้ากฐินทานนอกจากที่ได้รับกฐินของหลวงโดยตรงแล้ว พระอารามหลวงอื่น ๆ จะได้รับ กฐินพระราชทาน ซึ่งโปรดเกล้า ฯ พระราชทานผ้ากฐินทาน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หรือเอกชนให้ไปทอด โดยรัฐบาลโดยกรมศาสนาจัดผ้าพระกฐินทาน และเครื่องกฐินถวายไป ผู้ได้รับพระราชทานอาจจะถวายจตุปัจจัย หรือเงินทำบุญที่วัดนั้นโดยเสด็จในกฐินพระราชทานได้
ส่วนวัดราษฎร์ทั่วไป คณะบุคคลจะไปทอดโดยการจองล่วงหน้าไว้ก่อนตั้งแต่ในพรรษา ก่อนจะเข้าเทศกาลกฐินถ้าวัดใดไม่มีผู้จอง เมื่อใกล้เทศกาลกฐิน ประชาชนทายกทายิกาของวัดนั้น ก็จะรวบรวมกันจัดการทอดกฐิน ณ วัดนั้นในเทศกาลกฐิน

กฐินของประชาชน หรือ กฐินสามัคคี หรือในวัดบางวัดนิยมถวายกันที่ศาลาการเปรียญ หรือวิหารสำหรับทำบุญ แล้วเจ้าหน้าที่จึงนำผ้ากฐินที่ถวายแล้วไปถวายพระสงฆ์ ทำพิธีกรานกฐินในโบสถ์เฉพาะพระสงฆ์อีกทีหนึ่ง
การทำพิธีกฐินัตการกิจของพระสงฆ์ เริ่มจากการกล่าวคำขอความเห็นที่เรียกว่า อปโลกน์ และการสวดญัตติทุติยกรรม คือการยินยอมยกให้ ต่อจากนั้นพระสงฆ์รูปที่ได้รับความยินยอม นำผ้าไตรไปครองเสร็จแล้วขึ้นนั่งยังอาสนเดิม ประชาชนผู้ถวายพระกฐินทาน ทายกทายิกา และผู้ร่วมบำเพ็ญกุศล ณ ที่นั้น เข้าประเคนสิ่งของอันเป็นบริวารขององค์กฐินตามลำดับจนเสร็จแล้ว ประธานสงฆ์เริ่มสวดนำด้วยคาถาอนุโมทนา ประธานหรือเจ้าภาพ กรวดน้ำ และรับพรจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี

คำถวายกฐิน 
มีอยู่สองแบบด้วยกันคือ แบบเก่า และแบบใหม่ ดังนี้

คำถวายแบบมหานิกาย
อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม (กล่าวสามหน)

ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน พร้อมกับของบริวารนี้แก่พระสงฆ์ (กล่าวสามหน)

คำกล่าวแบบธรรมยุต

อิมํ มยํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินจีวรทสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ ปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ อมฺหากํ ฑีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน กับของบริวารนี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน พร้อมกับของบริวารของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้งรับแล้วจงกราลกฐินด้วยผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ ฯ

พิธีกรานกฐิน
พิธีกรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะคือภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้น นำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง คือผ้าจีวร , ผ้าสังฆาฏิ หรือผ้าสบง นำผ้ามาตัด เย็บ ย้อม ตากให้แห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร
เสร็จแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนา กล่าวคือเรื่องประวัติกฐินและอานิสงส์ครั้งแล้วภิกษุผู้รับผ้ากฐิน นั่งคุกเข่าตั้งนะโม ๓ จบ แล้วเปล่งวาจาในท่ามกลางชุมนุมนั้น ตามลักษณะผ้าที่กราน ดังนี้

ถ้าเป็นผ้าสังฆาฏิ เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมายสงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสัมฆาฎินี้ (ในเวลาว่านั้นไม่ต้องว่าคำแปลนี้) ๓ จบ

ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินาอุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าจ้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอุตตราสงค์นี้ ๓ จบ

ถ้าเป็นผ้าอันตรวาสก (สบง) เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอันครวาสกนี้ ๓ จบ

ลำดับนั้น สงฆ์นั่งคุกเข่าพร้อมกันแล้วกรานพระ ๓ หนเสร้จแล้ว ตั้งนโมพร้อมกัน ๓ จบ
แล้วท่านผู้ได้รับผ้ากฐินหันหน้ามายังกลุ่มภิกษุสงฆ์ กล่าวคำอนุโมทนาประกาศดังนี้
"อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" ๓ จบ (แปลว่า อาวุโส! กฐินสงฆ์กราบแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าขออนุโมทนา)
คำว่า อาวุโส นั้น ถ้ามีภิกษุอื่นซึ่งมีพรรษามากกว่าภิกษุผู้ครองกฐินแม้เพียงรูปเดียวก็ตาม ให้เปลี่ยนเป็น ภนฺเต
ต่อนั้น สงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ พร้อมกันแล้วให้ภิกษุทั้งปวง อนุโมทนาเรียงองค์กันไปทีละรูป ๆ ว่า "อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินฺ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" ๓ จบ

สงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ ทำดังนี้ จนหมดภิกษุผู้ประชุมอนุโมทนา
(ถ้าผู้อนุโมทนา มีพรรษาแก่กว่าสงฆ์ทั่งปวง ให้เปลี่ยนคำว่า ภนฺเต เป็น อาวุโส)
ในการว่าคำอนุโมทนานี้พึงนั่งคุกเข่าประนมมือเสร้จแล้วจึงนั่งพับเพียงลง
เมื่อเสร็จแล้ว ให้นั่งพร้อมกันคุกเข่าประนมมือ หันหน้าตรงต่อพระพุทธปฏิมา ว่าพร้อมกันอีก ๓ จบ แต่ให้เปลี่ยนคำว่า อนุโมทามิ เป็น อนุโมทาม เป็นอันเสร็จไปชั้นหนึ่ง
ต่อแต่นั้นกราบพระ ๓ หน นั่งพับเพียบ สวดปาฐะและคาถาเนื่องด้วยกรานกฐิน จบแล้วก็เป็นเสร็จพิธีการกรานกฐิน

คัดลอกจากกฐินขันธกะ พระวินัยปิฎก และอรรถกถาแปล เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาคที่ ๒ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๗/๙๑ น.๑๙๓

ภาพประกอบวาดโดย ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์จักรพันธ์ โปษยกฤต ขออนุญาตและขออนุโมทนาบุญมา ณ โอกาสนี้ครับ...สาธุ

ปฐมเหตุการทอดกฐิน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์