ปัญหา ๔ ข้อ

ปัญหา ๔ ข้อ



ปัญหา ๔ ข้อ



ฯลฯ ....

       คู่บารมีเคยได้ฟังพระอาจารย์ศิษย์ขององค์พระบรมครู แสดงเรื่องบุตรีของนายช่างทอหูกคนหนึ่ง ในครั้งองค์พระบรมครูยังไม่เสด็จสู่มหาปรินิพพานธาตุ ว่าองค์พระบรมครูพุทธเจ้าได้ตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ แก่บุตรีสาวของช่างทอหูก เธอได้กราบทูลตอบทั้ง ๔
ข้อ คำถามและคำตอบมีว่าดังนี้
๑ ถาม เจ้ามาจากไหน ตอบ ไม่ทราบพระเจ้าข้า
๒ ถาม เจ้าจักไปในที่ไหน ตอบ ไม่ทราบพระเจ้าข้า
๓ ถาม เจ้าไม่ทราบหรือ ตอบ ทราบพระเจ้าข้า
๔ ถาม เจ้าทราบหรือ ตอบ ไม่ทราบพระเจ้าข้า
ฝูงชนที่เฝ้าอยู่พากันยกโทษเด็กหญิงผู้นั้นว่ากราบทูลเหลาะแหละเหลวไหลกับพระพุทธเจ้า เป็นการไม่สมควร เมื่อตรัสถามว่ามาจากไหน ก็ควรจะกราบทูลว่ามาจากบ้านของตน เมื่อตรัสถามว่าจะไปไหน ก็ควรจะกราบทูลว่าจะไปโรงทอหูก องค์พระบรมครูทรงสดับเสียงอื้ออึงของมหาชน จึงตรัสขอให้สงบเสียง แล้วตรัสถามให้เด็กหญิงผู้นั้นอธิบายคำตอบ เด็กหญิงนั้นก็กราบทูลอธิบายว่า
คำตอบที่ ๑ หมายความว่า ไม่ทราบว่ามาเกิดในชาตินี้จากที่ไหน
คำตอบที่ ๒ ไม่ทราบว่าจุติคือเคลื่อนจากชาตินี้แล้ว จักไปเกิดในที่ไหน
คำตอบที่ ๓ คือ ทราบว่าความตายจะมีแน่
คำตอบที่ ๔ คือ ไม่ทราบว่าจะตายเมื่อไร

พระบรมครูประทานสาธุการ ทรงรับรองว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แล้วตรัสพระธรรมบทสั้น ๆ ว่า
"โลกนี้มืด มีน้อยคนในโลกนี้จะมีปัญญาเห็นแจ้ง น้อยคนจะไปสวรรค์ นิพพาน เหมือนนกที่ติดข่าย น้อยตัวจะหลุดไปได้"

เด็กหญิงผู้นั้นก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ออกจากที่เฝ้าถือกระเช้าด้ายไปให้บิดาที่โรงทอหูก บิดากำลังนั่งหลับอยู่ที่เครื่องทอหูก ผลักปลายกระสวยไปในความฝัน พอดีไปกระทบอุระของบุตรีเข้าโดยแรง เธอสิ้นชีวิตในขณะนั้น แต่เป็นผู้ที่องค์พระบรมครูได้โปรดแล้ว จึงมีคติดีเป็นที่แน่นอน พระบรมครูทรงมุ่งเสด็จไปโปรดเธอ เพราะเธอได้เจริญมรณสติมาถึงสามปีแล้ว ทรงทราบว่าเธอจะต้องตายในวันนั้นแน่ จึงเสด็จไปดักโปรดตรงทางที่เธอจะเดินผ่านไป และตรัสถามปัญหาในแนวปฏิบัติอยู่ของเธอ เธอจึงตอบได้ถูกต้อง ส่วนผู้อื่นมิได้ปฏิบัติ ก็ไม่รู้เรื่องอยู่เอง

          การเจริญมรณสติ หรือการมีสติระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เป็นหนทางเลิศหนทางหนึ่งที่จะยกจิตให้สูงขึ้นได้ พ้นจากความยึดมั่นผูกพันในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้ เมื่อมีสติระลึกไว้เสมอว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา วันหนึ่งเราจะต้องตาย เมื่อความตายมาถึง จะไม่มีผู้ใดติดตามไปเป็นเพื่อนเราได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่รักใคร่ห่วงใยเราเพียงไร จะไม่มีสมบัติใดที่เราจะนำติดตัวไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเพียงนิดน้อยเพียงไหนและไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราแสวงหามาสะสมไว้ด้วยความลำบากยากเข็ญเพียงไร เมื่อความตายมาถึง เราจะต้องละทุกคนทุกสิ่งไว้ในโลกนี้ เราจะต้องไปแต่ลำพังกับกรรมดีหรือกรรมชั่วที่เราทำไว้เท่านั้น ถ้าเราทำกรรมดีไว้ เราก็จะไปเป็นสุข สู่สุคติ ถ้าเราทำกรรมชั่วไว้ เราก็จะไปเป็นทุกข์ สู่ทุคติ พิจารณาเนือง ๆ ดังนี้ จะสามารถยังจิตให้เป็นอิสระ ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้โดยควรแก่ความปฏิบัติ ได้รับผลเป็นความสุข อันเป็นรสเลิศของความมีอิสระเสรี


คัดลอกบางส่วนจาก ...
หนังสือ "จิตตนคร นครหลวงของโลก และแนวปฏิบัติในโพธิปักขิยธรรม ๓๗"
บทพระนิพนธ์ในองค์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์