ปีติหล่อเลี้ยงใจ

ปีติหล่อเลี้ยงใจ




รหัสชีวิต
มนสิกุล โอวาทเภสัชช์


ปีติหล่อเลี้ยงใจ



เกสรี บุลสุข วัย 79 ปี เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด “เกสรี”
ที่มีโรงเรียนเสริมสวยเกสรี และร้านเสริมสวยเกสรีในเครือ

เพิ่งเลิกกิจการไปเมื่อ 3-4 ปีก่อน
จากที่กำเนิดธุรกิจมาได้เกือบ 50 ปี


“ก็สมควรแก่เวลา ไม่อยากให้อะไรมันวุ่นวายไปมาก ทำเท่าที่เราดูแลได้”

คุณยายเกสรีเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา


หลังบ้านของโรงเรียนเสริมสวยปรุงแต่งสังขารแห่งนี้
กลับเป็นโรงเรียนสอนธรรมะให้กับลูกหลาน
เป็นโรงพยาบาลดูแลพระสงฆ์อาพาธ
ยังมีที่พักสำหรับพระภิกษุสงฆ์นานาชาติหลายรูป
ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ชาที่เดินทางมาจากทั่วโลก
ก่อนไปแสดงธรรมตามสถานที่ต่างๆ
และเธอยังเคยติดตามไปช่วยบุกเบิกวัดในอังกฤษ
สมัยที่หลวงปู่ชาเดินทางไปครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน
แม้จะทำบุญกุศลมามากมาย
แต่คุณยายเกสรียังอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ โดยเฉพาะเรื่องธรรมะ



"ยังเรียกว่าเป็นนักเรียนธรรมะอยู่ ยังไม่กล้าอ้างว่าเข้าใจ 100%"



นักเรียนธรรมะรุ่นใหญ่เริ่มปฏิบัติธรรมครั้งแรก
ตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
คุณยายเกสรีเล่าว่า คุณแม่พาข้ามฟากไปปฏิบัติธรรมที่วัดระฆัง
พอตอนสงครามโลกครั้งที่สองต้องอพยพไปอาศัยวัดนั้นวัดนี้
เลยได้ปฏิบัติธรรมไปโดยปริยาย


“ตอนสงครามใกล้จะเลิกไปอยู่วัดประดู่ เวลาเขายิงกัน
ดิฉันเห็นหน้านักบินเลย เราอยู่ในเรือ ก็กลัวสงสัยว่า
ทำไมคนเราต้องมาทำร้ายกันด้วย แต่เมืองไทยแม้ว่ามีสงคราม
ก็ยังไม่อดอาหาร ไม่เหมือนยุโรปที่ขาดแคลนอาหารมาก
ลำบากกว่าเราเยอะ การศึกษาช่วงนั้นก็ขาดตอน
ถ้าระเบิดที่ไหนลง ก็ต้องไปหาวัดอยู่ เพราะโรงเรียนปิด
ก็เลยรู้ถึงความลำบากพอสมควรในชีวิต
ก็ได้เจอลูกศิษย์หลวงปู่มั่นหลายองค์ เช่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เทสก์
หลวงพ่อชา ตอนที่หลวงพ่อชาป่วย เราก็พยายามที่จะไปดูแลท่าน
ก็เลยได้รู้จักกับลูกศิษย์ท่านหลายรูป


เห็นความรักของบรรดาลูกศิษย์ที่เป็นพระอุปัฏฐากหลวงปู่ชา
แล้วก็ซาบซึ้งเป็นอย่างมาก และก็ได้พบกับพระอาจารย์พรหมวังโส
หรือพระอาจารย์พรหม ชาวอังกฤษ ตั้งแต่วัยหนุ่ม
คิดดูว่าท่านเป็นพระต่างประเทศ ฟังภาษาไทยก็ไม่รู้เรื่อง
แต่ท่านก็มีความเพียรในการปฏิบัติ
แสดงว่าท่านต้องวางจิตวางใจได้ดีมาก



ตอนหลวงพ่อชาท่านอาพาธ ท่านอดทนขนาดไหน
เป็นตัวอย่างให้เราดูว่าการอาพาธก็เพียงร่างกายเท่านั้น
ดิฉันรีบไปสร้างกุฏิพยาบาลเพื่อให้ท่านไปอยู่
โดยเฉพาะที่วัดหนองป่าพง ฉันคิดว่า เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว
ถ้าเราป่วยอยู่อย่างไรจึงจะสบาย
บอกให้สถาปนิกที่เป็นเพื่อนช่วยเขียนรายละเอียดให้
แล้วก็มีพระต่างประเทศมาอาสาไปดูการก่อสร้างให้
อีกรูปหนึ่งไปดูเรื่องไฟฟ้าให้ พระทั้งสองรูปไปทำกุฏิให้ดีกว่าที่คิด
พอเราไปดูงานแต่ละครั้ง ก็ปลื้มใจ คือเหมือนเป็นโรงพยาบาลอยู่ที่นั่น

และเมื่อตอนที่หลวงพ่อชาออกจากโรงพยาบาลกลับวัด
ท่านต้องฉันอาหารทางสายยาง ดิฉันไปวัดหนองป่าพง
ก็สงสัยว่าทำไมพระลูกศิษย์บางรูป
จึงเอาท่อสายยางใส่อาหารสอดทางจมูกตนเอง
พอสอบถามดู พระท่านตอบว่า
เวลาไปพยาบาลถวายอาหารทางสายยางให้หลวงพ่อ
จะได้รู้ว่าจะทำอย่างไรที่ไม่ทำให้ท่านเจ็บ
พระทุกรูปที่ดูแลท่านทำอย่างนี้กันหมด


การทดลองกับตัวเองอย่างนี้ พระลูกศิษย์เล่าว่า
ไม่มีใครสั่งท่านทำ แต่ท่านทำกันเอง
ท่านบอกว่า การที่เราได้ดูแลพระอาพาธ ก็เหมือนการดูแลพระพุทธเจ้า
ทำให้นึกถึงตอนที่หลวงพ่อชาจะเจ็บหนัก
หลังจากที่ท่านได้รับนิมนต์ไปอังกฤษกลับมาแล้ว
ท่านก็ดูว่าจะส่งพระรูปใดไปต่างประเทศบ้าง
ท่านก็ให้พระอาจารย์สุเมโธไปบุกเบิกที่อังกฤษก่อน
เดี๋ยวนี้ก็เลยมีวัดอมราวดีในอังกฤษ



ตอนแรกๆ ที่มีพระไปอยู่ ก็ถูกคนที่นั่นต่อต้าน ร้องเรียน
เป็นคนแต่งตัวประหลาดๆ เขาหมายถึงพระสงฆ์น่ะ
ในที่สุดนานๆ ไป คนอังกฤษก็รู้ว่าเขาโชคดีที่มีบุคคลกลุ่มนี้มาอยู่
เพราะทำให้คนที่นั่นมีความสงบสุขมาก อย่างท่านพรหมวังโส
หลวงพ่อชาก็ให้ไปบุกเบิกที่ออสเตรเลีย
สถานการณ์ก็ไม่ต่างจากอังกฤษเท่าไหร่
แต่ท่านพรหมมีวิธีการสอนให้เข้าถึงธรรมง่ายๆ
คนก็เริ่มสนใจและศรัทธากันมาก คนสิงคโปร์บินมาไม่รู้กี่หน
มาเข้ากรรมฐานกับท่าน เขาเป็นนักธุรกิจและเครียดมาก
พอมาเข้ากรรมฐาน จิตก็ปล่อยวาง มีแรงทำงานมากขึ้น


ท่านสุเมโธและลูกศิษย์ท่านก็สอนธรรมะง่ายๆ เหมือนกัน
ท่านไปสอนกรรมฐานให้คนอังกฤษที่เครียดๆ
พอคนเครียดๆ มาเข้ากรรมฐาน ก็รู้จักปล่อยวางมีแรงทำงานมากขึ้น
ดิฉันเองก็ดีใจที่ได้รับใช้ตั้งแต่สมัยหลวงพ่อชามาจนถึงลูกศิษย์ท่าน
เห็นความกตัญญูของพระลูกศิษย์ท่านก็ชื่นใจ“


ในวัยเกือบ 80 ปี คุณยายเกสรีเล่าว่า ดีใจที่สุดคือได้พบพุทธศาสนา
เพราะทำให้เข้าใจว่า เวลาเจ็บป่วยอย่างไรก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้นเอง


“เมื่อมีชาติ ก็มีชรา ตามมาด้วยโรคาพยาธิ ยอมรับว่าเซลล์มันกำลังจะยึด
จวนจะหมดหน้าที่ทำงานของมันอยู่แล้ว เราจะเข็นมันอะไรนักหนา
ในที่สุดก็ต้องคืนให้กับธรรมชาติไป ถึงเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น


ลูกหลานไม่มีอะไรเป็นห่วงกังวลแล้ว งานอดิเรกเมื่อก่อนชอบปลูกต้นไม้
เดี๋ยวนี้ปลูกไม่ไหว ก็ได้แต่นั่งดูด้วยความปีติ
ศึกษาธรรมะจากต้นไม้ได้เหมือนกัน ต้นไม้บางอย่างไปขึ้นตรงไหนขึ้นได้ดี
เวลาไปย้ายมัน มันจะเฉา บางทีเราจึงเอาสิ่งสวยงามมาเป็นสิ่งแรกไม่ได้
ต้องตามใจเขา การจัดต้นไม้ ก็เลยดูลงตัวบ้างไม่ลงตัวบ้าง
เลยมาดูว่านี่ไง ธรรมชาติ ดูต้นไม้ก็มีความสุข
กลางวันเขาปล่อยออกซิเจนออกมา
กลางคืนก็คลายคาร์บอนไดออกไซด์ เราเองก็เช่นกัน


เดี๋ยวนี้ไปไหนไม่ค่อยได้ ก็อาศัยปีติหล่อเลี้ยง
ต้องพยายามไม่คิดอะไรที่เป็นมิจฉาทิฐิ
ตัวมิจฉาทิฐิคิดแล้วจะดึงดูดเราลงไป
ถ้าช่วงไหนไม่มีปีติ ให้อยู่กับอุเบกขาไป ไม่เอาจิตไปปรุงต่อ
เมื่อมีมิจฉาทิฐิ ข้อสำคัญคือต้องวางทิ้ง ตัดทิ้ง
อย่าเข้าไปอยู่ในโลกของความคิดที่ไม่ดีนานๆ
หรือความคิดที่ดีๆ ก็ตามเถอะ ไม่ว่าเรื่องอะไร
เพราะถึงที่สุดเราต้องปล่อยหมดทุกอย่าง
แม้แต่ชีวิตเรา แสดงว่ามันไม่ใช่ของเรา"



“มีลูกสองคน เสียไปหนึ่งคน เหลือคนที่สองเป็นลูกชาย เป็นวิศวกร
เขาเป็นคนที่มีจิตใจเป็นธรรมะมาก สนใจพุทธศาสนาแบบคนสมัยใหม่
มีเมตตาจิตเป็นพื้นเยอะ มีอยู่ครั้งหนึ่ง
มีขอทานไปขอสตางค์คนคนหนึ่งก็ถูกไล่ไป
ลูกชายดิฉันเห็น ก็เข้าไปหา แล้วควักสตางค์ให้
บอกขอทานว่า ลุง ค่ำๆ อย่างนี้ เดินข้ามถนนต้องระวัง
ลุงขอทานก็ตอบว่า ตั้งแต่เกิดมายังไม่มีใครเมตตาและพูดเพราะๆ อย่างนี้กับผมเลย
ลูกชายก็พาลุงขอทานข้ามถนน
ลูกชายเขามีจิตเมตตาอย่างนี้ ดิฉันก็ไม่เป็นห่วงแล้ว”




ปีติหล่อเลี้ยงใจ



บทความจากลานธรรมจักร

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์