มงคลแห่งความเจริญ

มงคลแห่งความเจริญ


ในมงคลสูตร 38 ประการ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ มงคลคาถาที่ 5 มีความว่า การให้ทาน การประพฤติเป็นธรรม การสงเคราะห์หมู่ญาติ การทำงานที่ไม่มีโทษ ทั้ง 4 ประการนี้เป็นอุดมมงคล มีอธิบายดังต่อไปนี้

คำว่า ทาน คือ การให้ ได้แก่ ความที่บุคคลมีเจตนาผ่องใสไม่โลภไม่ตระหนี่ รู้จักอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจกว้างใหญ่ไพศาล สามารถนำสิ่งของของตนออกบริจาคเป็นทาน จำแนกออกเป็น 3 ประการ คือ อามิสทาน ธรรมทาน และอภัยทาน

อามิสทาน ได้แก่ การให้ด้วยอามิสคือสิ่งของ เช่น อาหาร น้ำดื่ม ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เป็นต้น

ธรรมทาน ได้แก่ การให้ธรรมเป็นทาน คือ แนะนำสั่งสอนให้ผู้อื่นตั้งอยู่ในธรรมหรือกล่าวธรรมให้ผู้อื่นฟังด้วยจิตเป็นกุศล เพื่อหวังผลให้ผู้อื่นตั้งตนอยู่ในธรรม รู้ทั่วถึงธรรม อันจัดเป็นอุบายให้ดำรงชีวิตอยู่ในทางที่ชอบและประกอบในสัมมาปฏิบัติ เป็นการให้ที่มีผลมากกว่าการให้ทั้งปวง ดังพุทธพจน์ที่ว่า "การให้ธรรมเป็นทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง"

อภัยทาน ได้แก่ การให้อภัย คือความเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีภัยในบุคคลและสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการไม่ฆ่า ไม่ล้างผลาญเบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สมบัติ และกรรมสิทธิ์ของกันและกัน ด้วยหวังผลคือความสุขอิสระในชีวิต ในสมบัติ และในกรรมสิทธิ์ของกันและกัน อันเป็นความผาสุกที่ทุกคนปรารถนา ดังพุทธพจน์ที่ว่า "ความไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ย่อมอยู่เป็นสุขในโลก"

คำว่า ธรรมจริยา คือ การประพฤติธรรม คนที่มีธรรมจริยานั้นเรียกว่า ธรรมจารี ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ การประพฤติธรรมพอสรุปได้เป็น 2 คือ

1.ประพฤติเป็นธรรม หมายถึง ทำความประพฤติของตนให้ถูกต้องและให้ดียิ่งขึ้น เช่น คนเรียนหนังสือ ก็ให้เรียนให้ถูกให้ดี ทำค้าขายก็ทำให้ถูกให้ดี และพยายามทำให้ถูกให้ดีต่อๆ ไป

2.การประพฤติตามธรรม หมายถึง การฝึกอบรมตนตามแนวทางของธรรมะให้สูงขึ้นตามลำดับ เช่น ไม่เคยรักษาศีลก็ฝึกรักษาศีล ไม่เคยบำเพ็ญภาวนา ไม่เคยสวดมนต์ไหว้พระก็ฝึกทำ อย่างนี้เรียกว่าประพฤติตามธรรมคือการทำถูกทำดี ไม่ว่าใครจะอยู่ในหน้าที่การงานอย่างไร งานทุกอย่างย่อมต้องการความถูกต้องและความดีทั้งนั้น การทำให้ถูกทำให้ดีนั้นก็จะได้ผลดี

คำว่า การสงเคราะห์ญาติ หมายถึง การรวมน้ำใจญาติให้เป็นปึกแผ่น ไม่ให้แตกแยกกระจัด กระจายกัน วิธีสงเคราะห์ก็ใช้หลักสังคหวัตถุ 4 ประการ คือ

1.การให้ปันสิ่งของ

2.การพูดจาแต่คำน่ารัก

3.การบำเพ็ญประโยชน์แก่กัน

4.การวางตัวเสมอต้นเสมอปลาย


คำว่า งานที่ไม่มีโทษ หมายถึง

1.งานทำความดีทางกาย เรียกว่า กายสุจริต

2.งานทำความดีทางวาจา เรียกว่า วจีสุจริต

3.งานทำความดีทางใจ เรียกว่า มโนสุจริต


งานที่ไม่มีโทษ ก็คืองานทั้ง 3 ทางที่ว่านี้ เป็นงานที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดประเพณี ไม่ผิดศีลและไม่ผิดธรรม ถ้างานใดไม่ผิดทั้ง 4 อย่างนี้ก็จัดเป็นการงานที่ไม่มีโทษ เป็นงานสูงสุดหาที่ติไม่ได้ทั้งทางโลกและทางธรรม งานที่ไม่มีโทษทำให้เกิดผลประโยชน์เป็นบุญอยู่เนืองนิตย์ บุคคลผู้บำเพ็ญ เมื่อได้แลเห็นกิจที่ตนทำสำเร็จประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ย่อมชุ่มชื่นเบิกบานใจได้โสมนัส เพราะรู้สึกว่ากิจที่ตนทำไม่ไร้ผล

เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติตามมงคลแห่งความเจริญ 4 ประการ คือการให้ การบริจาคด้วยความยินดี การประพฤติธรรม ด้วยการทำตนให้เป็นชาวพุทธ การสงเคราะห์ญาติตามกำลัง และขวนขวายประกอบการงานที่ไม่มีโทษ ดังกล่าวมา ชื่อว่าได้ยึดถือประโยชน์อันเป็นมงคลคือเหตุแห่งความเจริญก้าวหน้าในชีวิตไว้ได้แล


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์