มาลดทิฐิมานะของตัวเอง...กันเถอะ!!!

มาลดทิฐิมานะของตัวเอง...กันเถอะ!!!


ที่ยอดบนต้นไม้ มีใบเขียวชอุ่มเหลืองอ่อน
พลิกพลิ้วไหวไปตามแรงลม
ไล่ลำต้นต่ำลงมามีสะเก็ดเปลือกไม้แข็งขรุขะ

คือ ความจริงว่า
ของอ่อนอยู่ข้างบน ของแข็งอยู่ข้างล่าง
ดุจเดียวกัน คนที่อ่อนน้อมถ่อมตนไม่ถือตัว
แม้อยู่ในที่ต่ำแต่ใจก็สูง
คนที่มีทิฐิมานะแข็งกระด้าง แม้อยู่ในที่สูงแต่ใจก็ต่ำ


การแสดงอาการอันอ่อนน้อมค้อมเคราพ
ไม่มีอะไรสูญเสียหรอก นอกจากทิฐิมานะ
และทิฐิมานะก็ไม่เคยให้อะไร นอกจากความด้านกระด้าง

ถ้าไม่บรรเทาถอนมันจะฝังติดตัวแน่นขวางกั้นทุกอย่าง
แสงสว่างทางพระนิพพาน ก็อย่าหวังเลย

คนถือดีดื้อรั้นดันทุรังด้วยทิฐิ
จะรองรับอะไรได้ มีแต่จะล้นทะลักออกมา





มาลดทิฐิมานะของตัวเอง...กันเถอะ!!!


มานัตถัทธสูตร

มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ มานัตถัทธะ พำนักอยู่ในกรุงสาวัตถี
ไม่ยอมไหว้มารดา บิดา อาจารย์ และพี่ชายเลย
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อม ทรงแสดงธรรมอยู่
มานัตถัทธพราหมณ์คิดว่า

"พระสมณโคดมนี้ มีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อม ทรงแสดงธรรมอยู่
ทางที่ดีเราควรเข้าไปหาพระสมณโคดม
ถ้าพระสมณโคมทักทายเรา เราก็จะทักทายท่าน
ถ้าท่านไม่ทักทายเรา เราก็จะไม่ทักทายท่านเหมือนกัน"


มานัตถัทธพราหมณ์เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถึงที่ประทับ ยืนนิ่งอยู่ ณ ที่ควร
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทักทาย

เขาคิดว่า "พระสมณโคดมนี้ไม่รู้อะไร" หมุนตัวจะกลับ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความคิดของเขา
จึงตรัสกับเขาด้วยพระคาถาว่า

พราหมณ์ในโลกนี้ ใครที่ยังมีมานะไม่ดีเลย
บุคคลมาด้วยประโยชน์ใด พึงเพิ่มพูนประโยชน์นั้นไว้เถิด


มานัตถัทธพราหมณ์คิดว่า

"พระสมณโคดมนี้ทรงทราบจิตของเรา"

จึงน้อมศีรษะลงแนบแทบพระยุคลบาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ที่นั้นเอง
จุมพิตพระยุคลบาทพระผู้มีพระภาคเจ้า และนวดด้วยมือ ประกาศชื่อว่า

"ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ชื่อมานัตถัทธะ
ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ชื่อมานัตถัทธะ"


หมู่บริษัทที่อยู่ในที่นั้นต่างก็ฉงนสนเทห์ว่า

"น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏมาก่อน
มานัตถัทธพราหมณ์นี้ไม่ยอมไหว้มารดาบิดา อาจารย์และพี่ชาย
แต่พระสมณโคมทรงทำคนเช่นนี้ให้นอบน้อมได้อย่างดียิ่ง"


ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับมานัตถัทธพราหมณ์ว่า

"พอเถิด พราหมณ์ เชิญท่านลุกขึ้นนั่งบนที่นั่งเถิด
เพราะท่านมีจิตเลื่อมใสในเราแล้ว"


มานัตถัทธพราหมณ์ลุกขึ้นนั่งบนที่นั่งแล้ว
กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

"บุคคลไม่ควรทำมานะในใคร
ควรมีความเคราพในใคร พึงยำเกรงในใคร
บูชาใครด้วยดีแล้วจึงจะเป็นการดี"


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบด้วยพระคาถาเช่นกันว่า

"บุคคลไม่ควรทำมานะในมารดาบิดา
พี่ชาย และในอาจารย์เป็นที่ ๔
พึงมีความเคารพในบุคคลเหล่านั้น
พึงยำเกรงในบุคคลเหล่านั้น
บูชาบุคคลเหล่านั้นด้วยดีแล้วจึงเป็นการดี

บุคคลพึงทำลายมานะ ไม่ควรกระด้าง
พึงนอบน้อมพระอรหันต์ ผู้เยือกเย็น
ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ ไม่มีผู้ใดยิ่งกว่า"


ธรรมชาติฝ่ายลบอย่างหนึ่ง
ซึ่งติดตามมาตั้งแต่แรกเกิด และเริ่มขยายตัวเติบโต
แสดงผลออกมาทางกิริยาท่าทางในลักษณะกร่างวางก้าม

ครั้นมันเพิ่มปริมาณมากขึ้น
ก็กลายเป็นความแข็งกระด้างหยิ่งยโส
ไม่ยอมอ่อนน้อมค้อมเคารพใคร


ในคราวประชุมปรึกษาหารือกัน มักจะยืนกระต่ายขาเดียว
ยืดตัวนั่งตรงคอแข็งหน้าเชิด
ไม่ยอมรับฟังความเห็นของคนอื่น
ยิ่งถึงคราวทะเลาะวิวาท ก็ยิ่งยากจะยินยอม

ธรรมชาติฝ่ายลบนั้นท่านเรียกว่า
ทิฐิมานะ คือ ความเห็นถือตนถือตัว


คนที่มีทิฐิเป็นเจ้าเรือนเต็มไปด้วยมานะกระด้างถือตัว
เวลาแสดงความคิดเห็น ก็ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
ประเภทกูถูกอยู่คนเดียว

เชื่อว่า หลาย ๆ ท่านคงเอือมระอา ไม่ปรารถนาจะร่วมเสวนาด้วย
เพราะรู้ว่า แม้แสดงความคิดเห็นดีเพียงใด เขาก็ไม่ยอมรับ
ผลร้ายหลายประการนี้ ล้วนเกิดจากเจ้าทิฐิมานะนี้ทั้งสิ้น

ทิฐิมานะเกิดขึ้นได้อย่างไร
เกิดขึ้นจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
ซึ่งทำให้หลง อยาก ยึดมั่นสำคัญผิด
เข้าใจอนัตตาว่าเป็นอัตตา
คือเห็นชีวิตสังขารซึ่งตกอยู่ในสภาพอนัตตาหาตัวตนมิได้
โดยความเป็นอัตตามีตัวตน


เมื่อเห็นว่ามีอัตตาตัวตน ก็สำคัญว่านี่เรา นี่ของเรา นั่นเขานั่นของเขา
ทิฐิมานะก็ก่อตัวทันที และเปิดทางให้สรรพกิเลสเข้ามาอาศัย
ทิฐิมานะก็ครองเหย้าเนานอนสบาย

การถือตนถือตัว และการยึดถือนานัปการ
จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่เห็นว่าเป็นอัตตา*


การรื้อถอนทิฐิมานะ ให้ได้จริง ๆ
ต้องรื้อถอนที่ต้นตอคือ อัตตาตัวตน
โดยปรับมุมมองใหม่ว่า

แท้จริง ชีวิตสังขารตกอยู่ในสภาพอนัตตาหาตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรไม่ได้
ครั้นเห็นเป็นอนัตตา ทิฐิมานะก็จะพังทลาย สร่างคลายจากการยึดถือไปเอง


การรื้อถอนทิฐิมานะละอัตตามิใช่เรื่องง่าย
ละไม่ได้ก็มาบรรเทาลดลงดีกว่า
บรรเทาทิฐิมานะโดยการลดอัตตาตัวตนลงบ้าง
โดยพิจารณาเห็นโทษดังกล่าวในเบื้องต้น
มันไม่ส่งผลดีหรอก ทั้งแก่ตนและคนอื่นนั่นแหละ.


* ดังกล่าวนี้ตรงข้อความที่ พระราหุล
ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

อะไร เป็นเหตุให้คนอหังการ (ตัวกู-ทิฐิ) มมังการ (ของกู-ตัณหา)

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

รูปทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ไกล หรือใกล้
เป็นเหตุให้เกิดอหังการ มมังการ
เพราะปุถุชนไม่เห็นตามความเป็นจริงว่า

"นั่นมิใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นมิใช่อัตตาเรา "




(ที่มา : จาก อนุสยสูตร สํ.นิ. ๒๐๐/๓๐๐/๑๖
ใน พระไตรปิฎกร่วมสมัย ๒ โดย พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์)

--------------------------------------------------------





ขอบคุณบทความจาก ลานธรรมจักร

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์