รักษาจิตให้แจ่มใสด้วยการภาวนา

รักษาจิตให้แจ่มใสด้วยการภาวนา


                  เวลาที่เราอยู่ในสมาธินั้น ทั้งร่างกายและจิตใจของเรา สามารถที่จะอยู่ในสภาวะสงบและผ่อนคลายเต็มที่ แต่สภาวะแบบนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง จากสภาวะจิตที่อยู่ในอาการครึ่งหลับครึ่งตื่นขณะที่เราเคลิ้มๆ เพราะนั่นเป็นเหมือนเรานั่งอยู่ในถ้ำมืดมากกว่า การนั่งสมาธิซึ่งทำให้เรามีสติสมบูรณ์นั้น เราไม่เพียงแต่ได้พักผ่อนและมีความสุขเท่านั้น หากยังทำให้จิตของเราว่องไวและเบิกบาน ตื่นอยู่เสมอ การภาวนาไม่ใช่การหนีโลก หากแต่เป็นการเผชิญกับความเป็นจริงของโลกด้วยจิตที่แจ่มใสเยือกเย็นต่างหาก ผู้บำเพ็ญสมาธิ เจริญสติทั้งหลายควรจะตื่นอยู่เสมอ เพราะถ้าหากไม่ตื่นอยู่เสมอ จิตก็จะตกอยู่ในภาวะฟุ้งซ่านและขี้หลงขี้ลืมไป เหมือนคนขับรถ

               ซึ่งถ้าไม่ตื่นอยู่เสมอ ก็ประสบอุบัติเหตุถึงชีวิตได้ง่ายๆ เธอควรจะตื่นเหมือนคนที่กำลังเดินอยู่บนไม้คานในที่สูง หากก้าวพลาดเพียงก้าวเดียวก็หมายถึงความตาย เธอควรจะเป็นเหมือนอัศวินในยุคศักดินาผู้เดินมือเปล่าฝ่าเข้าไปในดงดาบ เธอควรจะเป็นเหมือนราชสีห์ที่ก้าวไปข้างหน้าช้าๆ ทีละก้าวๆ อย่างสุภาพ แต่มั่นคงองอาจ เธอต้องอยู่กับความไม่ประมาทชนิดนี้เท่านั้น เธอจึงจะมีโอกาสเข้าถึงภาวะของการเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อันสมบูรณ์ สำหรับผู้หัดใหม่ ควรใช้วิธีสังเกตตามรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ โดยไม่ต้องให้คุณค่า ดังที่ครูได้กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าเราจะมีความรู้สึกเมตตากรุณาหรือพยาบาทโกรธเคือง เราต้องรับรู้ความรู้สึกนั้นๆ อย่างเสมอภาคกัน เพราะความรู้สึกนั้น ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของเราด้วยกัน ส้มที่ครูกินก็คือตัวครูเอง กะหล่ำปลีที่ครูกำลังปลูกก็คือตัวครูด้วย ครูปลูกด้วยจิตและใจทั้งหมดของครู ครูล้างกาน้ำชาใบนี้ด้วยความเอาใจใส่ดุจว่าครูกำลังอาบน้ำให้ยุวพุทธะ ทุกๆสิ่งที่ควรได้รับการปฏิบัติจากเราด้วยความระมัดระวังเท่าๆกัน ไม่มากไม่น้อยกว่ากัน

             ในสภาวะที่สติสมบูรณ์ ความเมตตา ความโกรธเกลียด ต้นกะหล่ำปลี และกาน้ำชา ล้วนเป็นธรรมะเหมือนกันหมด ล้วนเป็นพุทธะเหมือนกันหมด วิธีการสังเกตและตามรู้เท่าทันเฉยๆ อาจจะยาก ถ้าหากเรากำลังถูกครอบงำด้วยความโศกเศร้า ความวิตกกังวล ความเกลียด และความลุ่มหลง ฯลฯ ในกรณีนี้ให้หันกลับมาใช้วิธีการภาวนา โดยใช้วัตถุเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง และที่ดีที่สุดก็คือ ใช้อารมณ์ของจิตที่เป็นจริงในขณะนั้นแหละเป็นวัตถุของการภาวนา การภาวนานี้จะรักษาเยียวยาจิตของเราให้แจ่มใส ความโศกเศร้า ความวิตกกังวล ความเกลียดชังหรือความหลง จะหนีหายไปเองตามธรรมชาติ เมื่อถูกเพ่งด้วยสมาธิและการภาวนาของเรา การหนีหายไปนี้ จะนำจิตไปสู่ความแจ่มใสอิสระ โดยธรรมชาติของมันเองเช่นกัน ความโศกเศร้า ฯลฯ

            ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกขเวทนานั้น กลับถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือปลดปล่อยตนให้พ้นทุกข์ทรมานได้ เราเรียกวิธีนี้ว่า หนามยอกเอาหนามบ่ง เราควรปฏิบัติต่อความโศก ความกังวล ความเครียด ความหลง อย่างสุภาพอ่อนน้อม ด้วยความเคารพ อย่าไปต่อต้านเขา แต่ให้อยู่กับเขาอย่างสันติ เจาะลงไปให้เห็นธรรมชาติของเขา โดยการภาวนาเรื่องความเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน ผู้ปฏิบัติธรรมที่สุขุมจะรู้จักเลือก "วัตถุ" สำหรับภาวนาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ "วัตถุ" สำหรับภาวนา เช่น ความเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ความเมตตาตัวตน ความว่าง ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นขั้นตอนต่างๆของการภาวนา ซึ่งมีอำนาจที่จะเยียวยารักษาจิตให้แจ่มใสได้ทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตาม การภาวนาโดยอาศัย "วัตถุ" เหล่านี้ จะได้ผลสำเร็จหรือไม่ อยู่กับว่าเรามีพลังทางสมาธิมากน้อยเพียงใด และเราจะได้"พลังทางสมาธิ" นี้มาจากการเจริญสติในชีวิตประจำวันด้วยการเฝ้าสังเกตและรู้เท่าทันสิ่งต่างๆทั้งหลายที่กำลังดำเนินไป "วัตถุ"

            สำหรับการภาวนาต้องมีรากที่แท้จริงหยั่งลึกอยู่ในตัวเอง ต้องไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากการคิดคำนึงหรือการตั้งคำถามทางปรัชญา วัตถุนั้นควรเป็นเหมือนอาหารที่จะต้องหุงต้มเป็นเวลานานบนเตาในที่ร้อนแรง เราเอาอาหารใส่หม้อ ตั้งเตาแล้วจุดไฟ หม้อก็คือตัวเรา เชื้อเพลิงนั้นได้มาจากการเจริญสติต่อเนื่องกันอย่างสม่ำเสมอ ถ้าความร้อนแรงไม่พอ อาหารก็จะไม่มีสุก แต่ถ้าสุกเมื่อไรอาหารนั้นก็จะแสดงคุณภาพ ช่วยนำเราออกจากกองทุกข์ได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์