รู้ธรรมจากความประหยัด

รู้ธรรมจากความประหยัด


มีศิษย์เพียงไม่กี่คนที่รู้ว่า ท่านอาจารย์พุทธทาส มี "สมบัติชิ้นเอก" อยู่ชิ้นหนึ่งสมบัติชิ้นนี้หาในกุฏิก็ไม่พบ เพราะอยู่ข้างกายท่านตลอดเวลา สมบัติชิ้นที่ว่าก็คือ แหนบถอนหนวด

แหนบ ดังกล่าวไม่ได้ทำด้วยวัสดุพิเศษอะไรเลย ออกจะด้อยคุณภาพด้วยซ้ำเพราะทำจากขาปิ่นโตที่ลูกศิษย์เอามาถวาย ท่านเพียงแต่เอาพับก็เป็นแหนบได้แล้ว หากจะมีความพิเศษก็ตรงที่เป็นของที่ท่านใช้มานานร่วม ๗๐ ปี คือตั้งแต่บวชมาได้ ๒ พรรษา แม้จนบั้นปลายชีวิตท่านก็ยังใช้แหนบดังกล่าวอยู่

ท่านอาจารย์พุทธทาส เป็นพระที่ขึ้นชื่อ ในเรื่องความประหยัดและใช้สิ่งต่างๆ อย่างระมัดระวัง ท่านเคยเล่าว่าหากไม่ประหยัด สวนโมกข์คงจะ "พินาศ" ไป นานแล้วเนื่องจากตั้งอยู่ในป่าไกลจากแหล่งชุมชนมาก สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ จึงหาได้ยากไม่เหมือนปัจจุบัน แม้กระทั่งกระดาษชำระ ก็เป็นของมีค่าสำหรับสวนโมกข์

ท่านเคยเล่าว่า หากมีคนเอาวิมานมาให้ท่านหลังหนึ่งกับกระดาษชำระม้วนหนึ่ง ท่านขอเอากระดาษชำระม้วนเดียวเพราะกระดาษมีประโยชน์ ตรงกันข้ามกับวิมานซึ่งใช้ทำอะไรไม่ได้เลย เวลาฉันอยู่ หากมีแกงหก ท่านจะดึงกระดาษชำระ (แบบม้วน) มาใช้เพียงแผ่นเดียวเมื่อเช็ดเสร็จท่านจะไม่ทิ้ง แต่วางไว้บนโต๊ะ หากมีใครจะเก็บไปทิ้งท่านจะห้ามไว้ โดยให้เหตุผลว่าปล่อยไว้สักครู่กระดาษก็จะแห้ง สามารถเอามาเช็ดใหม่ได้อีก

กระดาษ คาร์บอนที่ใช้พิมพ์สำเนาต้นฉบับสมัยนี้ใช้ ๒ - ๓ ครั้งก็ทิ้งแล้ว แต่ท่านจะใช้พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้คาร์บอนจะจางแล้ว หากยังพิมพ์ได้อยู่ท่านก็ยังใช้ต่อจนคาร์บอนจะจางกระทั่งอ่านไม่ออก ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือต้นฉบับพิมพ์ดีดหลายพันหน้า ที่ออกจากสวนโมกข์สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้นเรียกได้ว่าไม่เคยสัมผัสกับ ยางลบหมึกเลย

เวลาลูกศิษย์พิมพ์ผิด ท่านจะแนะให้ใช้เข็มซ่อนปลายค่อยๆ เขี่ยเอา การแก้ไขคำผิดด้วยวิธีนี้ ทำให้ลูกศิษย์ต้องพิมพ์ดีดอย่างระมัดระวัง พยายามไม่ให้ผิด นับเป็นการฝึกสติอย่างดี

ท่านอาจารย์ไม่ได้ประหยัดเฉพาะกับอุปกรณ์ ที่ต้องซื้อต้องหามาเท่านั้น กระทั่งของที่หาได้ง่ายๆ ในสวนโมกข์ ท่านก็ใช้อย่างระมัดระวัง เวลาฉันน้ำท่านจะเตือนให้ลูกศิษย์ใส่น้ำมาเพียงครึ่งแก้ว อย่าใส่เต็มแก้ว ท่านว่าท่านฉันครึ่งแก้วแล้ว ต้องทิ้งอีกครึ่งแก้วไม่เป็นการประหยัด เรียกว่าไม่ใช้น้ำด้วยสติปัญญา

ทุกวันนี้ เรามักได้ยินคำประกาศเชิญชวนให้ประหยัดน้ำไฟและอะไรต่อะไรมากมาย แต่การรณรงค์ให้ประหยัดในปัจจุบันมักเกิดจากความจำเป็นบีบบังคับ เช่นเพราะว่าทรัพยากรกำลังขาดแคลน สิ่งแวดล้อมกำลังวิกฤต

แต่สำหรับ ท่านอาจารย์พุทธทาส ความประหยัดไม่ได้เกิดจากความจำเป็นเท่านั้น หากยังเป็นคุณธรรมในตัวมันเอง นั่นหมายความว่า แม้สิ่งของจะมีมากก็ไม่ควรใช้อย่างฟุ่มเฟือย การใช้อย่างประหยัด นอกจากจะเป็นการฝึกให้มีสติใช้สิ่งของอย่างระมัดระวังและละเอียดละออแล้ว ยังทำให้พึ่งพิงวัตถุน้อยลง และเอื้อให้ชีวิตเป็นอิสระและโปร่งเบามากขึ้น

ท่าน เคยเล่าว่า ธรรมะเป็นของละเอียด ดังนั้นคนที่จะรู้ธรรมะได้จึงต้องเป็นคนละเอียดละออ ความละเอียดละออนี้มาจากไหน ส่วนหนึ่งก็มาจากการใช้สิ่งต่างๆ อย่างระมัดระวังนั่นเอง



ที่มา dhammajak

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์