วางได้ใจไม่ทุกข์

วางได้ใจไม่ทุกข์

วางได้ใจไม่ทุกข์

เรื่องโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ


เราต่างปรารถนาความสุข
หากความสุข มีที่ที่เราจะหาได้หรือซื้อหาเอามาได้
เราคงได้พบกับความสุขตามที่เราต้องการโดยไม่ยากนัก

เราต่างก็ยอมรับว่า ความสุขอยู่ที่ใจ
ซึ่งเท่ากับยอมรับว่า ความสุขอยู่ภายในตัวเรานั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนไปหาความสุขนอกตัว
และไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมายซื้อหาความสุข

เราน่าจะมีความสุขได้ในทุกครั้งที่เราต้องการ
เพราะมันอยู่ภายในใจของเรานี่เอง
แต่กระนั้นในบางครั้ง ทำไมเราจึงมีความทุกข์มากนัก
ทั้งๆ ที่เราไม่ต้องการความทุกข์เลย

พระพุทธองค์ตรัสว่า โลกถูกจิตนำไป
โลกก็คือ สัตว์โลกหรือสรรพชีวิตที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่
มีใจของตนนำพาชีวิตของตนไป
หากพูดในทางสังคมวิทยา
ก็หมายความว่า การกระทำของเราทุกอย่าง
เกิดจากความคิดจิตใจของเรา
นั่นหมายถึงว่า สิ่งที่เราได้ มี เป็น อยู่ ทุกๆขณะ
รวมทั้งสุข-ทุกข์ของเรา เกิดจากการกระทำของเราทั้งสิ้น
หาใช่พระพรหมลิขิตหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลไม่

เมื่อเป็นเช่นนี้
ทำอย่างไรเราจึงจะพัฒนาความคิดของเราให้มีคุณภาพ
คือ มีทั้งศักยภาพทางโลกและมีคุณงามความดีในทางธรรม
เพื่อนำความสุขความสำเร็จให้เกิดขึ้นกับชีวิต


ต้องเข้าใจก่อนว่า จิตใจของทุกๆคนนั้น
มีทั้งฝ่ายดีคือคุณธรรม
และฝ่ายไม่ดีคือกิเลสตัณหาเข้าไปครองครองอยู่
ทั้งสองฝ่ายได้ฝังอยู่ใจจิตมายาวนาน
ต่างทำหน้าที่ของตนและแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา
กล่าวได้ว่า ความดีและความชั่ว
อาศัยจิตเป็นสนามต่อสู้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สืบเนื่องมายาวนาน

เมื่อความดีกับความชั่วต่อสู้กัน
หรือเมื่อเหตุผลกับอารมณ์ต่อสู้กัน ฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายชนะ


คนส่วนใหญ่จะตอบว่า ความดีชนะความชั่ว เหตุผลชนะอารมณ์

แต่ตามกฎธรรมชาติ ฝ่ายที่มีกำลังมากกว่า
ย่อมเอาชนะฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่า

เหตุใดบางครั้งเราจึงทำดี และบางคราวเราจึงทำชั่ว


ทุกครั้งที่เราทำดี เป็นเพราะฝ่ายกุศลที่มีอยู่ในจิตชักนำให้ทำ
ทุกคราวที่เราทำชั่วเป็นเพราะฝ่ายอกุศลจิตชักนำให้ทำ
อย่างไรก็ตามในบางครั้งเราคิดจะทำชั่ว
แต่เราก็หักห้ามใจไม่ทำชั่ว
นั่นเป็นเพราะขณะนั้นฝ่ายกุศลจิตมีกำลังเหนือกว่าฝ่ายอกุศล
ในทางตรงข้าม บางครั้งเราคิดทำชั่วทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นความชั่ว
ใจของเราต่อสู้กับความชั่ว
ในที่สุดก็ไม่สามารถเอาชนะความชั่วได้ จึงทำชั่วลงไป
นั่นเป็นเพราะขณะนั้นฝ่ายอกุศลในจิตมีกำลังมากกว่าฝ่ายกุศล

จิตของเราไม่คงที่ ความรู้สึกและความต้องการของเรา
จึงเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย
ในสถานการณ์หนึ่งเราอาจจะหักห้ามความต้องการ
หรือการกระทำของเราได้
แต่ในอีกสถานการณ์หนึ่งเรากลับไม่สามารถหักห้ามใจของเราได้
ที่เป็นเช่นนี้เพราะกำลังของฝ่ายกุศลและอกุศลที่มีอยู่ในใจของเรา
เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเข้าไปในห้างสรรพสินค้าเพื่อหาซื้อครีมอาบน้ำ
เราเดินผ่านซุ้มเสื้อผ้า ตาเหลือบไปเห็นเสื้อตัวหนึ่ง (ผัสสะ)
ความรู้สึกชอบ (เวทนา) ก็เกิดขึ้นทันที
ความอยากได้ (ตัณหา) ก็เกิดตามมา
เราเข้าไปดูเสื้อผ้าตัวนั้นอย่างใกล้ชิด เห็นราคาค่อนข้างแพง
ความลังเลก็เกิดขึ้นว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ
ที่สุดก็ตัดสินใจไม่ซื้อ เดินจากไป
ช่วงนี้จิตได้ผ่านการต่อสู้ระหว่างกิเลสตัณหาคือฝ่ายอยากได้เสื้อ
กับสติปัญญาคือ ความประหยัด
การที่เราไม่ซื้อเสื้อ แสดงว่าฝ่ายสติปัญญาชนะ
ทำให้เราไม่ยึดติด (อุปาทาน) กับความอยากได้ (ตัณหา)

ครั้นเราเดินต่อไปสักครู่หนึ่งเห็นคนใส่เสื้อสวย
ความอยากได้เสื้อตัวนั้นก็ผุดขึ้นมาอีก
ตอนนี้เราต้องเดินกลับไปหาเสื้อตัวนั้น
ที่สุดเราก็ตัดสินใจซื้อ
นี่แสดงว่าเรามีความยึดติด (อุปาทาน) กับเสื้อตัวนั้น
ส่งให้ความอยากได้ (ตัณหา) มีกำลังมากขึ้น
จนเอาชนะใจของเราได้
หากเราไม่ยึดติดกับเสื้อตัวนั้น
ความอยากเมื่อเกิดขึ้นไม่ได้รับการตอบสนองก็จะดับไป
ไม่มีกำลังมากพอที่จะเอาชนะใจของเราได้

ความยึดติดนี่เองที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของเรา
ทำให้เราหาความสุขไม่ค่อยได้
พระพุทธองค์ตรัสว่า อุปาทานหรือความยึดติด
ในความเห็นว่าเป็นตัวเราและของเรา
ทำให้เราเป็นทุกข์ ตามธรรมดาแล้ว
ทุกชีวิตย่อมประสบกับสิ่งที่สมหวังและผิดหวัง
สิ่งที่ไม่สมหวังและผ่านแล้วหากเรายังไม่ปล่อยวางทางใจ
กลับไปยึดติดครุ่นคิดคำนึงถึงสิ่งนั้น
อยากจะบังคับให้ได้อย่างใจ ยิ่งทำให้ทุกข์ใจ

เมื่อยึดติดสิ่งใด ก็เท่ากับเราเอาใจไปผูกไว้กับสิ่งนั้น
ใจจึงไม่มีอิสระ ครั้นสิ่งนั้นถูกระทบ
ใจก็พลอยกระเทือนไปด้วย
ยิ่งเมื่อพลัดพรากจากของรัก
ใจก็โหยหาอาลัย จมปลักอยู่ในความทุกข์

การฝึกใจให้มีความฉลาด
โดยการเรียนรู้ธรรมชาติความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายว่า
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ดังใจ
หรือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
จะช่วยเติมกำลังฝ่ายกุศลเข้าไปในจิตได้เป็นอย่างดี
เพื่อให้จิตมีความเข้มแข็งที่จะเอาชนะกิเลสตัณหา
และถอดถอนอุปาทานหรือความยึดมั่นสำคัญผิดลงไปได้

จิตที่ฝึกดีแล้วควรแก่การใช้งาน จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้




ขอบคุณบทความจาก กัลยณธรรม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์