วาระสุดท้ายของจิต...จิตเกาะอะไรก็จะไปที่นั่น

วาระสุดท้ายของจิต...จิตเกาะอะไรก็จะไปที่นั่น

วาระสุดท้ายของจิต...จิตเกาะอะไรก็จะไปที่นั่น


ถาม : เมื่อถึงวาระสุดท้ายที่จิตออกจากกาย จิตไปสุคติอย่างไรคะ ?

ตอบ : กำลังใจสุดท้ายเกาะอะไร ก็จะไปที่นั่น

ถาม : ระหว่างที่จิตหลุดออกไป หนูเห็นรอบข้างมีลักษณะดำๆ ไม่ได้มืดสนิท แต่เหมือนกับไม่มีอะไรเลย ตรงนั้นเป็นสภาพที่เขาเรียกว่าสภาพที่ไม่มีอะไรหรือเปล่าคะ ?

ตอบ : ไม่ใช่..คือสภาพการรับรู้ของจิตจะเป็นไปตามกำลังเฉพาะของตน ไม่ได้ขอบารมีพระก็จะไม่เห็น

ถาม : ทำไมเวลาที่เราเจ็บมากๆ เราไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ ?

ตอบ : ความจริงเราพยายามดิ้นรนให้พ้นความเจ็บ แต่ในเมื่อไม่มีทางพ้นได้ก็ไม่อยากจะอยู่ อารมณ์นั้นจริงๆ เป็นตัว มุญจิตุกัมมยตาญาณ ขณะเดียวกันก็ใกล้จะเป็น นิพพิทาญาณ คือจะแสวงหาความหลุดพ้น ถ้าเบื่อมากๆ ก็จะหาว่าควรจะไปไหน

ถาม : ถ้าอย่างนั้นหนูควรจะ..?

ตอบ : ให้พิจารณาให้เห็นจริงว่า ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา ใช้งานร่างกายได้ก็ทนใช้ไป หมดอายุเมื่อไรก็ไปของเรา..!

ถาม : ในสภาวะที่จิตนิ่ง พอเราเป็นแก้วก็เหมือนกับว่ารัก โลภ โกรธ หลง บางอย่างยังเกาะได้อยู่ แต่ถ้าพอจิตเรานิ่งใสเป็นประกายพรึก กิเลสละเอียดต่างๆ ก็จะเกาะไม่ได้อีกต่อไป หมายความว่าถ้าทำจิตสุดท้ายแบบนี้แล้ว เราก็ไม่ต้องไปเกาะอะไรหรือคะ ?

ตอบ : เป็นการพ้นกิเลสโดย เจโตวิมุติ คือใช้กำลังใจข่มไว้ แต่เราต้องไปให้ถึงจริงๆ ถ้าไปไม่ถึง เผลอเมื่อไรกิเลสต่างๆ ก็จะกลับมาอีก

ถาม : บางครั้งจิตจะเห็นเหมือนกับว่าสิ่งข้างนอกเป็นสิ่งที่เราเห็น นั่นคือสิ่งที่เรารับรู้ แต่สภาพในใจจริงๆ คือ..?

ตอบ : ก็คือ สภาพการรับรู้ของจิต ถ้าเราให้ความสนใจเมื่อไร ตัวนิ่งก็จะยื่นหน้าไปใกล้กับสิ่งนั้น แล้วถ้าควบคุมไม่เป็นก็จะไหวกระเพื่อมไปกับสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น รัก โลภ โกรธ หลง ก็จะเกิดขึ้นกับเรา

แต่ถ้าเรารับรู้เท่าที่จำเป็น รักษาความสงบไว้ ข้างนอกสักแต่ว่าได้เห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าได้รส สักแต่ว่าสัมผัส กิเลสก็ไม่สามารถที่จะทำอันตรายเราได้ เพราะเท่ากับว่าอารมณ์ข้างในไม่กระเพื่อม

ถาม : อย่างนี้ส่วนสุดท้ายก็คือพยายามทำให้จิตนิ่งละเอียดถูกไหมคะ ?

ตอบ : สิ่งสำคัญที่สุดก็คืออย่าไปต่อความยาวสาวความยืด อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากสติรู้อยู่กับปัจจุบัน ถ้าจำเป็นต้องยุ่งก็ออกไปด้วยความระมัดระวังอย่างมีสติ ถึงเวลาก็กลับมาสู่ความสงบอยู่ตามเดิม

โดยเฉพาะจุดที่ต้องระวังมากที่สุด คือ การยินดียินร้ายกับสิ่งใดง่ายเกินไป สภาพจิตแม้จะเป็นปีติยินดีในธรรมก็ตาม ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะเป็นแค่กำลังของกามาวจรเท่านั้น ต้องก้าวข้ามผ่านจุดนั้นไปให้ได้


สนทนากับพระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนตุลาคม ๒๕๕๔





ขอบคุณบทความจาก วัดท่าขนุน จ.กาญจนบุรี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์