วิธีคิดให้ชัดเจน, พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

วิธีคิดให้ชัดเจน, พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)


เรื่องความรู้ชัดนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก น่าจะต้องย้ำกันในสังคมไทย
เพราะว่า เราแสดงออกทำนองว่า
ชื่นชมนิยมกันในเรื่องความรู้และวิชาการ
ภูมิใจกันนักว่าได้อยู่กับเขาในโลกยุคข่าวสารข้อมูล
แต่ก็รู้อะไรไม่ชัดสักเรื่อง

การหาความรู้ให้ชัดเจนถ่องแท้นี่เป็นเรื่องสำคัญ
ถ้ารู้ไม่ชัดแล้วอะไรๆ ก็ไม่ชัดไปหมด พอรู้ไม่ชัดก็คิดไม่ชัด
เราบอกกันว่า ต้องคิดให้ชัด แต่ถ้าจะคิดให้ชัดก็ต้องรู้ชัด
เมื่อรู้ชัดก็มีทางคิดชัด คิดให้ชัดแล้วก็มาพูดให้ชัด
สามารถแสดงความเห็น หรือสื่อสารอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ชัดเจน
ให้เห็นถ่องแท้กันไปเลย แล้วต่อไปก็ทำชัดอีก
การที่จะทำได้ชัดก็เป็นผลมาจากต้องมีอื่นชัดมาทั้งหมด
เริ่มแต่ต้องรู้ชัด แล้วก็คิดชัด จึงจะทำชัดได้

ที่ว่ารู้ชัดนั้น รวมทั้งต้องชัดในหลักการและชัดในจุดหมาย
ด้วยว่า จะไปไหน จะเอาอะไร
ต้องมีจุดหมายแน่ชัด จะได้มุ่งมั่นเดินหน้าไป


สังคมไทยนี่มีลักษณะที่เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง
คือ ไม่มีจุดหมายร่วมกันของสังคม
ทำให้กระจัดกระจายกันไปหมด
จนกลายเป็นแต่ละคนเอาแต่ตัว
ในเมื่อสังคมของเราไม่มีความชัดเจนในตัวเอง
มันก็เลยหาจุดหมายไม่ได้

ตอนนี้หลักการก็ต้องชัด จุดหมายที่จะไปก็ต้องชัด
เมื่อได้จุดหมายชัดก็ต้องต่อด้วยมีวิธีการที่ชัด
แล้ววิธีการที่ชัดเจนก็จะนำไปสู่จุดหมายได้จริง
ทั้งหลักการ-จุดหมาย-วิธีการนี่เป็นปัญหาของสังคมไทย
ซึ่งรวมอยู่ในเรื่องความชัด



ที่จริง คำว่า "ชัด" นี้เป็นความหมายของปัญญา
เพราะ ปัญญา แปลว่า รู้ทั่วชัด

ถ้า ไม่รู้ทั่วชัด ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นปัญญาได้อย่างไร
จะเป็นปัญญาก็ต้องชัดเจนขึ้นมา
เพราะว่าองค์ประกอบของจิตใจ
ตัวอื่นมันก็รู้ อย่างที่ทางพระบอกว่าวิญญาณก็รู้
แต่มันไม่ชัดอย่างปัญญา

วิธีคิดให้ชัดเจน, พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)


เมื่อเรารับรู้อะไรต่างๆ เช่นเราเห็น เราได้ยินนั้น
วิญญาณเกิดขึ้นทันที แต่มันยังไม่เป็นปัญญา
จะเป็นปัญญาต่อเมื่อรู้เข้าใจชัดเจน
และชัดขึ้นไปหลายๆ ชั้น
ชัดในการแยกแยะวิเคราะห์องค์ประกอบว่า มีอะไรเป็นอย่างไร
ชัดในเหตุปัจจัย สืบสาวได้ว่ามันเป็นมาอย่างไร
เพราะอะไรจึงเป็นอย่างนี้ มันมีคุณมีโทษอย่างไร เป็นต้น
ต้องให้มันชัดๆๆๆ กันไปตลอดทั้งหมด
ถ้ามันชัดทุกส่วนทุกขั้น ปัญญาก็พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ

รวมความว่า อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ว่าสังคมไทยตอนนี้กำลังขาดความชัด
ฉะนั้นจะต้องให้มันชัด และที่รู้ชัดก็คือ ปัญญา
แล้วต่อไปจะได้คิดชัด พูดชัด ทำชัด
แล้วอะไรต่ออะไรมันก็จะเดินหน้าไปด้วยดี อย่างเข้มแข็ง


คนที่รู้อะไรชัดเจนย่อมมั่นใจและเข้มแข็งแน่นอน
เมื่อทำอะไรโดยมองเห็นชัดเจนก็มั่นใจ
แล้วจึงจะเดินหน้าไปได้จริง
เริ่มตั้งแต่เจอกับกระแสของโลกเวลานี้
เราไปตาม แต่ก็ไปเรื่อยเปื่อยอย่างที่ว่า ทั้งที่อยู่ในกระแสของเขา
เราก็ไม่รู้จักกระแสนั้นเลย

เลิกคิดแยกส่วนที่กระจัดกระจาย
จะเอาแค่องค์รวมที่พร่ามัว ใช่หรือไม่?


กระแสต่างๆ ในโลกปัจจุบันที่เราเกี่ยวข้อง มีหลายอย่าง
กระแสสำคัญที่ท้าทายปัญญาอย่างยิ่งก็คือ กระแสความคิด
โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นมาจนถึงเวลานี้
เรากำลังมีกระแสความคิดที่ว่า เออ เลิกกันเถอะนะ
แนวคิดแยกส่วน และชวนกันให้หันมาหา แนวคิดองค์รวม
บอกว่า ต้องมองแบบองค์รวม ให้เป็น holism หรือ holistic view
แต่เรื่อง holistic view อะไรนี่ก็น่าสังเกตอีกนั่นแหละ

คงจะต้องคอยติงๆ กันว่า จะเป็นเรื่องอะไรก็ตามต้องให้ชัด
เพราะว่าในการหันมานิยมเรื่ององค์รวม
นี่ก็เป็นการที่ว่าเขากำลังจะผละออกไป จากความคิดแยกส่วน
แต่ในความคิดแยกส่วนนั้น มีหลักการสำคัญอย่างหนึ่งคือ การวิเคราะห์

การวิเคราะห์นั้น เป็นการแยกแยะจำแนกออกไปให้เห็นชัด
ซึ่งในแง่หนึ่งก็เข้าทีอยู่ เพราะว่าการวิเคราะห์ที่แยกแยะ
ทำให้เห็นชัดนั้นก็เป็นเรื่องของปัญญา
ฉะนั้นอย่าไปเลิกเสียทีเดียว ระวังว่าบางทีเราจะไปสุดโต่ง


กระแสของโลกนั้นเขามีความโน้มเอียงอย่างหนึ่ง คือ ชอบไปสุดโต่ง
ฝรั่งนี่ก็เถอะ ชอบไปสุดโต่ง
เมื่อไปสุดทางโน้นแล้วหันกลับมาก็ไปสุดทางนี้
พอไปสุดทางหนึ่งก็ผละ บอกว่าไม่เอาแล้ว
ก็หันกลับเต็มที่ไปอีกทางหนึ่ง

เมื่อจะเลิกกระแสความคิดแยกส่วนก็ว่า
โอ๊ย ! ที่แล้วมา วิทยาศาสตร์นี่เป็นตัวการ
ทำให้มนุษย์เรานำพาอารยธรรมไปในแนวทางของความคิดแยกส่วน
ไม่ดี ไม่ถูก ต้องเลิกคิดแยกส่วน
ต้องหันมาคิดแบบองค์รวม แต่แล้วองค์รวมที่ว่านั้น
บางทีก็ไม่ชัด ถ้าเป็นองค์รวมพร่าๆ มัวๆ จะยิ่งร้ายใหญ่

องค์รวมนี้ เมื่อมองให้ตลอด ที่จริงมันอันเดียวกัน
กับวิเคราะห์หรือแยกแยะ

ในทางพุทธศาสนาท่านให้ความสำคัญกับเรื่องการวิเคราะห์
เรียกว่า "วิภัชชะ" พุทธศาสนามีชื่อหนึ่งว่า "วิภัชชวาท"
แปลว่า หลักการแห่งการจำแนกแยกแยะ
อย่างในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ จะสอบพระ
ก็ใช้หลักนี้ว่า พระพุทธเจ้าเป็น "วิภัชวาที"
ถ้าพระองค์ไหนไม่รู้ก็จับสึกเลย

หลักการวิเคราะห์นี่เป็นเรื่องสำคัญ อย่าด่วนไปดูถูก
เดี๋ยวจะบอกว่า ไม่ได้ความแล้ว เราเลิกแล้วความคิดแยกส่วน
ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าแยกให้มันถูก
วิเคราะห์ให้มันชัดๆๆๆ ไปเลย อย่าไปอยู่กับชัดเดียว
ถ้าอยู่กับชัดเดียวก็หมายความว่า
แยกแยะกระจายออกไป
แล้วฉันก็ดูอยู่กับเรื่องของฉันอันเดียวนี่แหละ
ไม่มองอื่นไหนอีก ก็เลยทำให้ยุ่ง

ถ้าแยกส่วนโดยเห็นความสัมพันธ์ของทุกองค์ร่วม
ก็จะเห็นองค์รวมชัดขึ้นมาด้วย ใช่ไหม?

ในการวิเคราะห์ที่แท้นั้นจุดสำคัญ
คือ ต้องไม่ลืมองค์รวมที่เราวิเคราะห์
อะไรที่ทำให้ไม่ลืมองค์รวมหรือทำให้องค์รวมไม่หายไป
ก็คือ ความสัมพันธ์
ในเวลาที่วิเคราะห์ออกไปนั้น
จะต้องมองความสัมพันธ์ไปด้วยตลอดเวลา
พอวิเคราะห์อันนี้แยกออกไปปั๊บ ก็มองเลยว่า
อันนี้มันสัมพันธ์กับอันโน้นที่อยู่รอบตัวมันอย่างไร

ถ้าทำอย่างนี้ การวิเคราะห์หรือแยกแยะจำแนกแยกส่วนก็ไม่เสีย
เพราะว่ายิ่งแยกไปก็ยิ่งเห็นความสัมพันธ์
เมื่อยิ่งเห็นความสัมพันธ์ มันก็เห็นองค์รวม
ถ้าเราแยกแยะให้เห็นความสัมพันธ์ องค์รวมจะไม่หายเลย
เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเน้นเรื่องความสัมพันธ์
ในอภิธรรม คัมภีร์สุดท้าย ที่เรียกว่าปัฏฐาน มี ๖ เล่ม
ทั้งคัมภีร์ว่าด้วยลักษณะแห่งความสัมพันธ์แบบต่างๆ ๒๔ แบบ
สิ่งทั้งหลายเมื่อจำแนกแยกแยะออกไป เราต้องรู้ความสัมพันธ์
ถ้าแยกอย่างเดียว มันก็กระจายหายไป
แต่ถ้าแยกโดยเห็นความสัมพันธ์ มันก็ไม่แยกกระจัดกระจาย
เพราะว่าความสัมพันธ์เป็นตัวโยงกันอยู่ แล้วเราก็จะเห็นภาพรวม

ยิ่งกว่านั้น ภาพรวมที่ชัด ย่อมเกิดจากมองเห็นองค์ร่วมชัดทั่วกัน
เมื่อองค์ร่วมไม่ชัด องค์รวมก็ไม่ชัด
เมื่อเห็นความสัมพันธ์ขององค์ร่วมชัด
ก็คือ การเห็นองค์รวมชัดนั่นเอง
ดังนั้นองค์รวมกับองค์ร่วมนี่ต้องไปด้วยกัน

ปัญญาองค์รวมนั้น เอาอย่างง่ายๆ
ก็คล้ายกับคนขึ้นไปบนอาคารสูงสัก ๗ ชั้น
มองลงมาบนสนามหรือบริเวณมีเนื้อที่สัก ๒-๓ ไร่
ที่คนทั้งหลายทำกิจกรรมกันอยู่ ก็เห็นชัดว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร
ทำอะไรกับใคร อะไรไปมาถูกทางผิดทาง
และกิจกรรมทั้งหมดดำเนินไปอย่างไร
อย่างที่ทางพระเรียกว่า ขึ้นสู่ "ปัญญาปราสาท"
หรือ "ปราสาทแห่งปัญญา" (ไม่ใช่หอคอยงาช้าง)

แต่ถ้าแยกเอาออกไปดูเพียงคนหนึ่งสองคน
จนเห็นชัดแต่อยู่แค่นั้น หรือไปอยู่ไกลตั้งโยชน์
มองมาเห็นทั้งสนามทั้งบริเวณเหมือนกัน
แต่ก็เห็นมัวๆไปหมดไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร


เวลานี้กำลังจะกลายเป็นว่า หรือบางทีเหมือนกับว่า
จะเอาข้างเดียว จะเลิกแยกส่วนแล้ว จะเอาองค์รวม
พอเอาองค์รวมก็เป็นองค์รวมที่พร่าที่มัวที่คลุมเครือ
ก็จะไปไม่รอดอีก แต่จะกลายเป็นสุดโต่ง

คนสมัยก่อนเขาก็องค์รวมมาแล้ว บางทีเราก็ไปติเขาว่า
เขาองค์รวมแบบพร่าๆ มัวๆ จึงเป็นเหตุให้ต้องมาวิเคราะห์
แต่พอวิเคราะห์ไปๆ ก็ลืมตัว
เลยแยกส่วนกระจายหายไปในด้านของตนๆ ก็เลยไม่ได้องค์รวมอีก

ทีนี้ถ้าจะให้พอดีก็คือ ต้องไปด้วยกันทั้งองค์ร่วมและองค์รวม
ทั้งแยกทั้งโยง ทั้งวิเคราะห์ทั้งสังเคราะห์
ถ้าสังเคราะห์ก็ไปอีกขั้นหนึ่ง หมายความว่า
เราเห็นองค์ร่วมและองค์รวมชัดแล้ว
ทีนี้เราจะสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่
เราก็ทำได้ เพราะว่าเมื่อเราเห็นองค์ร่วมชัด
เราจะจัดสรร จะทำอะไรต่ออะไร มันก็ได้ผลขึ้นมา

เป็นอันว่า ไม่เอาทั้งนั้น ทั้งองค์รวมที่พร่ามัวคลุมเครือ
ทั้งแยกส่วนที่กระจัดกระจาย
แต่เอาแยกส่วน จนเห็นองค์ร่วมแต่ละอย่างปรุโปร่ง
ว่ามันมาประสานกันเกิดเป็นองค์รวม
ที่เป็นระบบสัมพันธ์อันชัดเจนอย่างไร



คัดมาจากหนังสือ กระแสธรรม กระแสไท หน้า 11-17
โดย...พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์