สมเด็จพระญาณสังวร เรื่องความผูกโกรธดั่งไฟสุมขอน


พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก : ธรรมเพื่อความสวัสดี เรื่อง ความผูกโกรธดั่งไฟสุมขอน

+โกธะ คือ ความโกรธ


โกธะ ท่านแปลว่า “โกรธ” รุนแรงน้อยกว่าโทสะ โกรธเป็นเพียงความเคืองหรือขุ่นเคืองเท่านั้น และก็เช่นเดียวกับอุปกิเลสทุกข้อ เช่นเดียวกับความทุกข์ทั้งปวง ความโกรธเกิดจากความคิดปรุงแต่ง ขณะใดไม่มีความคิดปรุงแต่งยั่วยุตนเองให้โกรธ ขณะนั้นความโกรธจักไม่เกิด

ดังนั้น เมื่อเกิดความโกรธขึ้นในผู้ใด หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องใดสิ่งใด พึงมีสติรู้ว่าตนเองเป็นผู้คิดปรุงแต่งให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้น ผู้ผิดที่แท้จริงที่ทำให้ตนโกรธจึงหาใช่ใครอื่น เป็นตัวของตัวเองแท้ๆ

+ความโกรธ เปรียบดั่งควันหมอกที่จางกว่าโทสะ

ความโกรธหรือความขุ่นเคืองจะเกิดขึ้นด้วยความคิดปรุงแต่งไปต่างๆ เช่น เขาว่าเรา เขาทำไม่ถูกใจเรา เขาไม่ให้ของที่เราชอบใจ ดังนี้เป็นต้น เป็นการคิดปรุงแต่งที่ไม่รุนแรงเท่าที่ก่อให้เกิดโทสะ

ความรู้สึกที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งนั้นจึงเบากว่า เป็นเพียงความโกรธ ไม่ถึงเป็นโทสะที่เป็นความร้ายกาจ ความโกรธจึงเปรียบดังควันหมอกที่จางกว่าโทสะ ปิดบังความประภัสสรแห่งจิตไม่มืดมิดเท่าโทสะ

+เจริญเมตตา ขจัดหมอกมัวแห่งความโกรธได้

เมตตาที่ดับความคิดปรุงแต่งให้เกิดโทสะ จักดับความคิดปรุงแต่งให้เกิดความโกรธได้ง่ายกว่า การเจริญเมตตาจึงเป็นการขจัดหมอกมัวครอบคลุมความประภัสสรแห่งจิตถึงสองชั้น คือทั้งที่เป็นหมอกมัวแห่งโทสะ และทั้งที่เป็นหมอกมัวแห่งความโกรธ เปิดทางให้ปรากฏความประภัสสรสวยงามแห่งจิตยิ่งขึ้น เมตตากำจัดโทสะและความโกรธได้ จึงกำจัดความผูกโกรธได้ด้วย

+อุปนาหะ คือ ผูกโกรธไว้

อุปนาหะ ท่านแปลว่า “ผูกโกรธไว้” มีความหมายตรงไปตรงมาว่า ไม่ยอมเลิกโกรธ เก็บความโกรธฝังไว้ในใจนานๆ กาลเวลาผ่านไปแล้ว เหตุที่ทำให้คิดปรุงแต่งจนเกิดความโกรธ ก็ล่วงเลยไปแล้ว แต่ยังจดจำนำไปคิดปรุงแต่งให้กลับเกิดความโกรธในเรื่องเดิมสิ่งเดิมได้อีก ไม่รู้แล้ว

ให้ความร้อนแก่ตนเองไม่รู้สิ้นสุด ยังหมอกควันให้ปกปิดความประภัสสรแห่งจิตตนไว้ด้วยปัญญา จึงไม่รู้ว่าจิตอันประภัสสรของตนนั้นมีค่าหาควรสร้างความคิดปรุงแต่งใดๆ ให้เป็นหมอกมัวมาปกปิดเสียไม่

+ความผูกโกรธดังไฟสุมขอน

ไฟสุมขอนมีความร้อนกรุ่นอยู่ตลอดเวลาเป็นเช่นไร ความผูกโกรธไว้ก็เป็นเช่นนั้น เผารุมร้อนกรุ่นอยู่เช่นนั้น แตกต่างกันเพียงที่ไฟสุมขอนร้อนอยู่ที่ขอนไม้ แต่ความผูกโกรธร้อนอยู่ในหัวอก

+ดับความผูกโกรธเสียได้ จิตใจจักผ่องใสเยือกเย็น

การดับไฟสุมขอน ต้องใช้น้ำราด ไฟดับสนิทแล้วขอนก็มอดไหม้ ทิ้งความสกปรกเลอะเทอะหลงเหลืออยู่ แต่การดับความผูกโกรธ ใช้สติปัญญาหยุดความคิดปรุงแต่งเพียงเท่านั้นความผูกโกรธก็จะดับ นอกจากจะไม่หลงเหลือความสกปรกอยู่หลังการดับความผูกโกรธ ยังจะมีความผ่องใสเยือกเย็นอีกด้วย

+ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ในความผูกโกรธ

เพราะไม่ใช้สติ ไม่ใช้ปัญญาคิด จึงไม่ได้ความรู้สึกที่ถูกต้อง ว่าความโกรธก็ตาม ความผูกโกรธก็ตาม ทำให้เร่าร้อน ปราศจากความสุขความเย็น ไม่มีประโยชน์อะไรเลยในความโกรธ หรือความผูกโกรธ

ปัญญาก็เกิดไม่ได้ เพราะปัญญาคือแสงสว่าง ความโกรธและความผูกโกรธคือความมืด ความมืดมากเพียงไรแสงสว่างก็จะถูกกีดกั้นมากเพียงนั้น

และแม้ว่าปัญญาน้อยเสียเท่านั้น ย่อมไม่เห็นว่าตนเป็นเจ้าของสมบัติที่มีค่าพ้นพรรณนา หาได้ใส่ใจที่ทะนุถนอมสักน้อยหนึ่งไม่ สมบัติอันนั้นเป็นของเราทุกคน คือจิตที่แจ่มใส่ประภัสสร

+มักขะ คือ ลบหลู่คุณท่าน

มักขะ ท่านแปลว่า “ลบหลู่คุณท่าน” ลบหลู่ คือดูหมิ่น ดูถูก คุณคือความดี ลบหลู่คุณท่านก็คือ ดูถูกดูหมิ่นความดีของท่านที่ท่านได้ทำแล้ว ในขอบเขตแคบๆ ก็เฉพาะที่ทำแล้วแก่ตน แต่ที่จริงควรหมายให้กว้างขวางจึงจะสมควร คือหมายถึงความดีที่ท่านได้ทำแล้วแก่ผู้ใดก็ตาม

ลบหลู่คุณท่านน่าจะหมายถึงลบหลู่คนมีความดีทั้งหลาย ที่ตนได้รู้ได้เห็นความเป็นคนดีของท่านแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความดีต่อผู้ใดแม้ไม่ใช่ต่อตนโดยตรง ผู้ที่รู้เห็นอยู่ว่าท่านมีคุณมีความดีประจักษ์แก่ใจ

แต่พยายามลบหลู่ท่านด้วยความคิดปรุงแต่งที่ชั่วที่ร้าย มิใช่ที่ดีที่งาม ย่อมให่ความหมองมัว และความหมองมัวนั้นก็เป็นดั่งหมอกห่อหุ่มปกคลุมจิตที่มีธรรมชาติประภัสสรบริสุทธิ์ มิให้ปรากฏความประภัสสร คือสว่างแพรวพรายงดงามเป็นความสุขความเย็นแก่เจ้าตัว

+ความลบหลู่คุณท่าน เปรียบได้กับอกตัญญู

อันความลบหลู่ท่านนั้น ก็เป็นความหมายทำนองเดียวกับอกตัญญูไม่รู้คุณท่านนั้นเอง ความรู้สึกเช่นนี้เป็นความรู้สึกที่ต่ำ เศร้าหมอง ไม่มีผู้ใดยกย่องความอกตัญญู แต่ไม่ใช่ทุกคนไปที่รู้ตัวและไม่ยกย่องตนเอง เมื่อตนเองมีความอกตัญญู

+ความกตัญญูเท่านั้น กำจัดความลบหลู่คุณท่านได้

ความรู้สึกสำนึกในบุญคุณที่ตนได้รับเท่านั้น ที่จะกำจัดความลบหลู่คุณท่านได้ ความรู้สึกคุณหรือความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี ความกตัญญูจึงไม่เป็นเหตุแห่งความเศร้าหมองห่อหุ่มความประภัสสรแห่งจิต ตรงกันข้ามเป็นเครื่องทำลายความเศร้าหมองสกปรกของความอกตัญญูลบหลู่คุณท่าน

ผู้มีปัญญาเพียงพอย่อมจะสามารถหยุดความคิดปรุงแต่งใดๆ ก็ตามอันจักก่อให้เกิดความลบหลู่คุณท่าน

บุถุชนคนยังมีกิเลส แม้จะเป็นกัลยาณบุถุชนคือเป็นคนดี ก็ย่อมมีเวลาที่จะทำผิดทำไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น การเพ่งความผิดความไม่ดีของกัลยาณบุถุชนจนทำให้ไม่เห็นคุณของท่าน ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความลบหลู่คุณท่านได้

+บัณฑิตผู้เพ่งโทษตนเอง เป็นผู้ไม่ลบหลู่คุณท่าน

บัณฑิตเพ่งโทษตนเองไม่เพ่งโทษคนอื่น บัณฑิตจึงเป็นผู้ไม่ลบหลู่คุณท่าน เป็นผู้มีปัญญายิ่งขึ้นเป็นลำดับได้ด้วยไม่มีความมืดมัวแห่งอุปกิเลสข้อ ลบหลู่คุณท่านมาพรางไว้ไม่ให้ปรากฏความประภัสสรแห่งจิต อบรมกตัญญูกตเวทิตาธรรมให้อย่างยิ่งจะทำลายอุปกิเลส ข้อลบหลู่คุณท่านได้

+ปลาสะ คือ ตีเสมอ ยกตนเที่ยมท่าน

ปลาสะ ท่านแปลว่า “ตีเสมอ คือยกตัวเทียมท่าน” ก็เกือบจะทำนองเดียวกับลบหลู่คุณท่านนั่นเอง ผู้ใหญ่ที่มีความดีมากมีวาสนาบารมีสูงย่อมสูงกว่าผู้น้อยที่มีความดีน้อยมีวาสนาบารมีต่ำ ผู้น้อยที่รู้ดีว่าตนมีภาวะฐานะเช่นไรท่านมีภาวะฐานะเช่นไร

แต่ก็แสดงออกให้เป็นที่รู้เห็นว่าตนทัดเทียมท่าน เสมอกับท่าน เช่นนี้เป็นการส่อแสดงถึงความคิดที่จะยกตัวที่ต่ำให้สูงโดยไม่ได้ทำคุณงามความดีหรือสร้างวาสนาบารมีเช่นท่านเป็นความคิดปรุงแต่งที่สกปรกเบาปัญญา นำพาให้เกิดอุปกิเลสห่อหุ่มจิตมิให้ความประภัสสรที่มีอยู่ปรากฏออกสว่างไสวได้

+ความคิดปรุงแต่งที่ชั่ว ที่ไม่ดี ที่ต่ำ ที่สกปรก ทำให้เกิดความลบหลู่ท่าน

อันความลบหลู่คุณท่านก็ตาม ยกตัวเทียมท่านก็ตาม นอกจากจะเกิดจากความคิดปรุงแต่งที่ชั่วที่ไม่ดีที่ต่ำสกปรกจนทำให้เป็นความเศร้าหมองพรางความประภัสสรแห่งจิตไว้ชั้นหนึ่งแล้ว ผู้มีปัญญาทั้งหลายที่รู้เห็นความเป็นผู้ลบหลู่คุณท่านและยกตัวเทียมท่านย่อมตำหนิ

ตำหนินี้แหละจะทำให้ผู้ถูกตำหนิคิดปรุงแต่งให้เป็นโทสะบ้าง โกรธบ้างและอาจถึงผูกโกรธบ้าง ล้วนเป็นอุปกิเลสที่จะจรเข้ามาบังความประภัสสรแห่งจิตทั้งสิ้นเป็นการปิดบังหลายซับหลายซ้อน โอกาสที่ความประภัสสรบริสุทธิ์งดงามจะปรากฏออกมาย่อมยากนัก เจ้าของจิตนั้นจึงยากจะเห็นค่าแห่งจิตของตน

+ผู้มีปัญญารู้ความไม่ถูกไม่ชอบทุกอย่าง ย่อมไม่ทำความไม่ถูกไม่ชอบนั้น

ผู้ยกตนเทียมท่านจะต้องมีความคิดปรุงแต่งที่ยั่วยุนำมาก่อน ถ้าไม่มีความปรุงแต่งยั่วยุเพียงพอให้ยกตนเทียมท่านจะไม่มีการยกตนเทียมท่าน ผู้มีปัญญาแม้มีสติรู้ว่าตนกำลังคิดปรุงแต่งให้ยกตนเทียมท่าน จะพยายามหยุดความคิดปรุงแต่งอันไม่ถูกไม่ชอบนั้น

เพราะผู้มีปัญญาย่อมรู้ว่าความไม่ถูกไม่ชอบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการคิดการพูดการทำ ย่อมไม่ให้ผลดี ผู้มีปัญญาย่อมไม่ทำความไม่ถูกไม่ชอบนั้น

คนอื่นจะยั่วยุให้คิดพูดทำอย่างไร ถ้าตัวเองไม่นำคำยั่วยุนั้นไปยั่วยุให้คิดปรุงแต่งตามไป ย่อมไม่เกิดผล เช่นใครอื่นจะยั่วยุให้ยกตนเทียมท่านด้วยการยกยอปอปั้นต่างๆ แต่ถ้าตัวเองไม่คิดปรุงแต่งว่าตนเป็นจริงดังคำของเขาอื่น

คำของคนอื่นก็ทำให้เกิดผลไม่ได้ ความคิดปรุงแต่งจึงสำคัญที่สุด สร้างอุปกิเลสก็ได้ ทำลายอุปกิเลสก็ได้ ปรารถนาจะได้พบความปรภัสสรแห่งจิตตน จึงต้องระวังความคิดปรุงแต่งให้ดี



ข้อมูลจาก dhammajak.net



สมเด็จพระญาณสังวร เรื่องความผูกโกรธดั่งไฟสุมขอน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์