สัมมาสติ

สั ม ม า ส ติ
อาจารย์วศิน อินทสระ

ในตำราก็ระบุถึงสติปัฏฐาน
ผมขอเสนอให้ท่านผู้ฟังไปอ่านสติปัฏฐานสูตร
หรือมหาสติปัฏฐานสูตร และในอรรถกถาด้วย
ก็จะได้อะไรเยอะ ได้ความรู้ความเข้าใจ ได้ทรรศนะมากมาย
เพราะว่ายาวมาก ก็มีข้อความดีดี
ท่านเรียงร้อยไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร
เช่น ยกตัวอย่างคาถาที่ว่า

ยํ ปสฺสติ น ตํ ทิฏฐํ
บุคคลย่อมเห็นสิ่งใด สิ่งนั้นเขาไม่เห็นแล้ว

ยํ ทิฏฐํ ตํ น ปสฺสติ
สิ่งใดที่เขาเห็นแล้ว เขาย่อมไม่เห็นสิ่งนั้น

อปสฺสํ พชฺฌเต มุฬฺโห
เมื่อไม่เห็นก็เป็นคนหลงและถูกผูกมัด

พชฺฌมาโน น พุชฺฌติ
เมื่อถูกผูกมัดก็ไม่หลุดพ้น


สำนวนเหล่านี้เป็นของพระอรรถกถา
ท่านพยายามอธิบายอะไรต่ออะไรที่ท่านพยายามชี้แจง

ในที่นี้ท่านต้องการจะชี้แจงถึงความเลื่อนไหลของสิ่งต่างๆ
ความที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว
ท่านทานใช้ในภาษาปรัชญาว่า Momentariness
ว่ามันเป็นเพียงชั่วขณะ


เช่นว่า บุคคลย่อมเห็นสิ่งใดในปัจจุบัน สิ่งนั้นเขาไม่เห็นแล้ว
หมายความว่า อะไรที่เขาเห็นแล้วในอดีต ก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
เขาเห็นในปัจจุบัน แต่ในอดีตเขาก็ไม่เห็น คือผ่านพ้นไปแล้ว
สิ่งที่เขาเห็นในอดีตมันผ่านพ้นไปแล้ว

ยํ ทิฏฐิ ตํ น ปิสฺสติ
สิ่งใดที่เขาเห็นแล้วในอดีต สิ่งนั้นเขาไม่เห็นในปัจจุบัน

อปสฺสํ พชฺฌเต มุฬฺโห
คนหลงเมื่อไม่เห็น ความจริงข้อนี้ก็ถูกผูกมัด


คือนำอดีตกับปัจจุบันมาโยงกัน
เมื่อถูกผูกมัดก็ไม่หลุดพ้น

คือแสดงถึงอารมณ์ใดหรือสิ่งใดที่เราเห็นแล้วในอดีตก็ดับไปแล้ว
เราจะไม่เห็นในปัจจุบัน
แต่จิตของเรามักจะหน่วงเหนี่ยวและโยงกันเข้ามา
ทำให้เป็นคนหลงและถูกผูกมัด เมื่อถูกผูกมัดก็ไม่หลุดพ้น



สัมมาสติ


ลองนึกดูว่าที่เราโศรกเศร้านั้น
ก็เพราะเราปรารถถึงอดีต แล้วเราก็เศร้าโศรก

เช่น พ่อตาย แม่ตาย ลูกตาย
เราก็คำนึงถึงอดีต ยิ่งเราคิดถึงอดีตมากเราก็ยิ่งเศร้าโศกมาก
เพราะว่าเราโยงปัจจุบันกับอดีต
ที่จริงสิ่งเหล่านั้นมันล่วงไปหมดแล้ว
จะกลับให้มาเป็นใหม่ไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น
และจะมีคาถาที่ประปรายเต็มไปหมดในอรรกถามหาสติปัฏฐาน

ในข้อที่ว่า สัมมาสติ
ก็ให้เอามหาสติปัฏฐานมาเป็นหลักในการพิจารณา
ในพระพุทธพจน์ท่านอ้างถึงสติปัฏฐาน คือ เจริญสติปัฏฐาน


อันนี้ความหมายเต็มรูปของสัมมาสติ
คือ พิจารณากายในกาย จิตในจิต เวทนาในเวทนา ธรรมในธรรม
ความหมายโดยย่อที่สุดก็คือว่า
ให้เห็นกายสักแต่ว่ากาย เวทนาสักแต่ว่าเวทนา
จิตสักแต่ว่าจิต ธรรมสักแต่ว่าธรรม
ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเขา


รายละเอียดท่านก็แบ่งกายานุปัสสนาออกเป็น ๖ บรรพ หรือขั้นตอน
มีอิริยาปถบรรพเกี่ยวกับอิริยาบถ
สัมปชัญญะบรรพเกี่ยวกับสัมปชัญญะทำนองนี้ เป็นต้น
ไปจนถึง อานาปนสติ เป็นกายแต่ละอย่างๆ
อานาปนสติก็อยู่ในกายานุปัสสนาที่คนนิยมทำกันมาก

ยกตัวอย่างอีกสัดนิดหนึ่ง

อริยาปถบรรพ เดินยืนนั่งนอน อันนี้เป็นหลักใหญ่
สัมปชัญญบรรพ ก็จะแยกย่อยออกมา
เช่น จะกิน จะดื่ม นุ่งผ้า ใส่เสื้อ ห่มจีวร ถือบาตร
ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ จะมีสติสมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา
แยกย่อยออกมาจากอิริยาบถ ๔

ในอรรถกถาท่านจะพูดละเอียดมาก
เช่น ในการเดินนี้มีใครเดิน ที่จริงแล้วบุคคลไม่ได้เดิน
เป้นแต่เพียงว่าจิตคิดจะเดิน แล้วก็ทำวาโยธาตุเกิดขึ้น
แล้วก็ทำให้เคลื่อนไหวได้ เดินไปได้
จิตคิดจะนั่ง คิดจะนอน คิดจะยืน ก็เหมือนกัน ทำนองเดียวกัน

ฉะนั้นจึงว่าไม่มีผู้ยืน ไม่มีผู้เดิน ไม่มีผู้นั่ง ไม่มีผู้นอน
มีแต่จิตคิดจะเดิน คิดจะนั่ง คิดจะนอน
แล้วอาการที่เดินก็เป็นสมมติบัญญัติ
อะไรทำนองนี้นะครับเกิดขึ้น

ถ้าอ่านให้ละเอียดก็ดีครับ ได้ความรื่นเริงในธรรม

ขอให้ทราบไว้อย่างหนึ่งว่า

การเจริญสติปัฏฐานนี้
เราไม่ต้องตั้งใจว่าจะต้องทำพร้อมกัน
เวลาทำมันก็จะพร้อมกันเอง
คือว่า ทั้ง กาย เวทนา จิต ธรรม มันจะไปพร้อมกัน
ไม่ต้องแยกว่าตอนนี้เรากำลังทำกายานุปัสสนา
ต่อไปจะทำจิตตานุปัสสนา
พอทำเข้ามันก็มาหมดพร้อมกัน


พอนั่งเข้าสักพัก เวทนาเกิด จิตก็ฟุ้งซ่าน
ก็กำหนดเวทนา ธรรมก็เกิดขึ้น
จิตเป็นอย่างไรในเวลานั้น จิตมีโทสะหรือไม่มีโทสะ
นี่เป็นการพิจารณาจิต แล้วก็อะไรเกิดขึ้น

นิวรณ์เกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น นิวรณ์เกิดขึ้นด้วยเหตุใด
นิวรณ์จะดับไปด้วยเหตุใด นิวรณ์จะดับไปเพราะเหตุใด
อันนี้ก็เป็นธัมมานุปัสสนาอย่างนี้นะครับ

เวลาปฏิบัติจริงมันทำพร้อมกันหมดเหมือนเครื่องยนต์
เราแยกอธิบายได้ว่านี่หัวเทียน นี่แบตเตอรี่ นี่หม้อน้ำ
แต่พอสตาร์ทเครื่อง ทุกอย่างทำงานพร้อมกันหมด
การปฏิบัติในสติปัฏฐานก็เหมือนกัน


ที่จริงทั้งทางอรรถกถาก็ตาม
ทั้งทางความเข้าใจของอาจารย์ทั้งหลายก็ตาม

สติปัฏฐานมีหนึ่ง คือ การตั้งสติ
แต่ว่ามีอารมณ์ ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
เหมือนโต๊ะตัวเดียว แล้วมี ๔ ขา
คือ ในอรรถกถาท่านเปรียบว่าเหมือนมีเมืองเดียว และมี ๔ ประตู


ขอย้ำว่า การเข้าหาพระศาสนาต้องเข้าหาพระธรรมแล้วจะไม่ผิดหวัง
ถ้าเผื่อเข้าหาผู้อื่นที่ไม่ใช่พระธรรม
อาจจะสมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง ประสบปัญหาบ้าง
แต่ถ้าเข้าพระธรรม จะไม่ผิดหวังเลย
เพราะว่าพระธรรมนี้จะมีลักษณะ
ที่ให้ความเยือกเย็นแก่ผู้เข้าหาศึกษาปฏิบัติพระธรรม

น่าเสียดายว่าในชีวิตจริงของคนเรานี้
คนที่ดำเนินชีวิตด้วยสติ มีสติในชีวิตประจำวันนี้ มีไม่ถึง ๑๐ %
นอกจากนั้นก็ดำเนินชีวิตขาดสติ ก็มีอารมณ์เป็นใหญ่

มีพระพุทธพจน์อยู่แห่งหนึ่งที่ท่านใช้คำว่า

สตาธิปฺปเตยฺยา
มีสติเป็นใหญ่

สิกขานิสํสา
มีการศึกษาเป็นอานิสงส์

ปุญฺญุตฺตรา
มีปัญญายอดเยี่ยม

วิมุตฺติสารา
มีวิมุตติเป็นสาระเป็นแก่น


ในพระสูตรบางแห่งก็ตรัสว่า

มหาสมุทรมีรสเดียวคือรสเค็ม
ธรรมวินัยนี้ก็มีรสเดียว คือวิมุตติรส
เอกรโส วิมุตฺติรโส
คือว่ามุ่งตรงไปสู่ความหลุดพ้น


สติปัฏฐานนี่ก็ทรงแสดงว่าเป็น

เอกายมคฺโค เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค
เป็นทางสายเอกที่จะนำสัตว์ทั้งหลายไปสู่ความหลุดพ้น


:b8: :b8: :b8:

(ที่มา : สัมมาสติ ใน “โอวาทปาติโมกข์” โดย อาจารย์วศิน อินทสระ
พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๕, จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, หน้า ๒๘๘-๒๙๑)





ขอบคุณบทความจาก ธรรมจักรดอทเน็ต

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์