สุขกับทุกข์มีราคาเท่ากัน

สุขกับทุกข์มีราคาเท่ากัน




...การภาวนาคือการทำให้สงบ เมื่อสงบแล้วก็คือทำให้รู้ การทำให้สงบหรือทำให้รู้นี้ต้องลงมือปฏิบัติ กายกับจิตสองอย่างนี้เอง ไม่ใช่อื่น

ความเป็นจริงสิ่งที่กล่าวนี้มันเป็นสิ่งละสิ่ง เช่น รูปก็เป็นส่วนหนึ่ง เสียงก็เป็นส่วนหนึ่ง กลิ่นก็เป็นส่วนหนึ่ง รสก็เป็นส่วนหนึ่ง โผฏฐัพพะก็เป็นส่วนหนึ่ง ธรรมารมณ์ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ละอย่างนี้ก็เป็นคนละส่วน ๆ อยู่ แต่ท่านก็ให้เรารู้จักมันเสีย แยกสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ออก สรุปเป็นสุขทุกข์บ้าง สุขเกิดขึ้นมาก็เป็นสุขเวทนา ทุกข์มันเกิดขึ้นมาก็เรียกทุกขเวทนา เรื่องสุขกับทุกข์ ท่านก็จัดไว้เพื่อให้แยกมันออกจากจิต จิตก็คือผู้รู้ เวทนานั้นก็คืออาการที่มันสุขหรือทุกข์ ชอบใจไม่ชอบใจ เป็นต้น เมื่อจิตของเราเข้าไปเสวยในอาการเหล่านั้นเรียกว่า จิตของเราเข้าไปยึดหรือหมายมั่น หรือสำคัญมั่นหมายในความสุขนั้น ในความทุกข์นั้นนั่นเอง การที่เราเข้าไปหมายมั่นนั้นก็คือเรื่องของจิต อาการที่มันสุขหรือทุกข์นั้น คืออาการของเวทนา ที่เป็นความรู้นั้นเรียกว่าจิตของเรา ที่ชื่อว่าสุขหรือทุกข์นั้นมันเป็นเวทนา ถ้ามันสุขก็เรียกว่าสุขเวทนา ถ้ามันทุกข์ก็เรียกว่าทุกขเวทนา

ถ้าปกติของจิตเราก็ไม่สุขไม่ทุกข์ เมื่อเกิดเวทนาเข้ามา ก็เกิดสุขทุกข์อย่างนี้ ถ้าเรามีสติอยู่ก็จะรู้ว่าอันนี้เรียกว่าสุข ที่เป็นสุขนั้นมันก็สุขอยู่ แต่จิตรู้ว่าสุขนั้นไม่เที่ยง มันก็ไม่ไปหยิบเอาสุขอันนั้น สุขนั้นมีอยู่ที่ไหน มีอยู่ แต่มันอยู่นอกจิต ไม่มีฝังอยู่ในดวงจิต แต่ก็รู้ได้ชัดเจน หรือเมื่อทุกข์เกิดขึ้นมา ถ้ามันแยกเวทนาได้ มันไม่รู้จักทุกข์หรือ? รู้ มันรู้จักทุกข์ แต่ว่าจิตมันก็เป็นจิตเวทนา มันก็เป็นเวทนา จิตนั้นจะไม่ไปยึดทุกข์มาแบกไว้ว่าทุกข์ ว่านี้มันเป็นทุกข์ นี่ก็เพราะเราไม่ไปยึดให้เกิดเป็นความสำคัญมั่นหมาย

คำที่กล่าวว่าพระพุทธองค์และพระอริยเจ้าของเราท่านตัดกิเลสแล้ว ท่านฆ่ากิเลสแล้วนี้ ไม่ใช่ท่านไปฆ่ากิเลสหรอก ถ้าท่านฆ่ากิเลสหมดแล้ว เราก็คงไม่มีกิเลสน่ะสิ เพราะท่านฆ่าไปหมดแล้ว ความจริงท่านไม่ได้ฆ่ามัน แต่ท่านรู้แล้ว ท่านก็ปล่อยมันไปตามเรื่องของมัน ใครโง่ มันก็ไปจับเอาคนนั้นแหละ ท่านรู้เฉพาะใจของท่านว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นพิษ ท่านก็เขี่ยมันออกไป สิ่งที่ทำให้ท่านเกิดทุกข์ ท่านก็เขี่ยมันออกไป ไม่ได้ฆ่ามันหรอก คนที่ไม่รู้ว่าท่านเขี่ยออก กลับเห็นว่าดีก็ไปตะครุบเอา เออ... อันนี้ดีนี่ ก็ตะครุบเอา ความเป็นจริงพระพุทธเจ้าท่านทิ้ง อย่างสุขยังงี้ท่านก็เขี่ยออก เราก็เห็นว่าดี ก็ตะครุบเอาเลย จับใส่ย่ามไปเลยว่าของดีของเรา ความเป็นจริงนั้นท่านรู้เท่าทัน เมื่อสุขเกิดขึ้นมาท่านก็รู้ว่ามันเป็นสุข แต่ท่านไม่มีสุข ท่านก็รู้อยู่ว่าอันนี้มันเป็นสุข แต่ท่านไม่ไปสำคัญมั่นหมายว่ามันเป็นตัวเป็นตน ว่าเป็นของเขา ว่าเป็นของเราทั้งนั้น อย่างนี้ท่านก็ปล่อยมันไป ทุกอย่างก็เหมือนกัน

พระพุทธองค์ท่านทรงรู้ว่าสุขทุกข์นี้มันเป็นโทษ สุขทุกข์จึงมีราคาเท่ากัน ดังนั้นเมื่อสุขทุกข์เกิดขึ้นท่านจึงปล่อยวางไป สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันมีราคาเสมอเท่ากันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจิตใจของท่านจึงเป็นสัมมาปฏิปทา เห็นสิ่งทั้งสองนี้มีทุกข์โทษเสมอกัน มีคุณประโยชน์เสมอกันทั้งนั้น และสิ่งทั้งสองนี้ก็เป็นของที่ไม่แน่นอน ตกอยู่ในลักษณะของธรรมะว่าไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ เกิดแล้วดับไปทั้งหมดเป็นอย่างนี้ เมื่อท่านเห็นเช่นนี้สัมมาทิฐิก็เกิดขึ้นมา เป็นสัมมามรรค จะยืนจะเดินจะนั่งจะนอนก็ตาม หรือความรู้สึกนึกคิดทางจิตนั้นจะเกิดขึ้นมาก็ตาม ท่านก็รู้ว่าอันนี้เป็นสุขอันนี้เป็นทุกข์เสมอเลยทีเดียว ท่านไม่ได้ยึด

การปฏิบัติภาวนานี้เป็นของสำคัญ รู้เฉย ๆ ไม่พอหรอก รู้เกิดจากการปฏิบัติที่จิตสงบ กับรู้ที่เราเรียนมานั้น มันไกลกันอยู่มากทีเดียว มันไกลกันมาก รู้ในการศึกษาเล่าเรียนนั้นมันไม่ใช่จิตของเรารู้ รู้แล้วมันตะครุบไว้ เก็บไว้ทำไม? เก็บไว้เพื่อให้มันเสีย เสียแล้วก็ร้องไห้ ถ้าเรารู้แล้วก็มีการปล่อยวาง รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น เราก็ไม่ลืมตัว เมื่อถึงคราวทุกข์เจ็บไข้มา เราก็ไม่หลง บางคนคิดว่า เออ...ปีนี้ฉันเป็นไข้ตลอดปีนะ ไม่ได้ภาวนาเลย นี้คือคำพูดของคนที่โง่ที่สุดเลย คนเป็นไข้คนจะตายนี้มันควรจะรีบภาวนายิ่งขึ้น อันนี้ยิ่งไปพูดว่าเราไม่มีเวลาภาวนาเสียแล้ว ความเจ็บมันก็เกิดขึ้นมา ความทุกข์มันก็เกิดขึ้นมา ความไม่ไว้ใจในสังขารเหล่านั้นมันก็มีมาแล้ว ก็ยังไม่เข้าใจว่าเรายังไม่ได้ภาวนา พระพุทธองค์ท่านไม่ตรัสอย่างนั้น ท่านตรัสว่านั่นแหละมันกำลังถูกที่ที่เราปฏิบัติละ จวนจะเจ็บจะไข้จะตายยิ่งเร่งยิ่งรู้ยิ่งเห็นสัจธรรม มันเกิดเดี๋ยวนี้แหละ ถ้าเราไปคิดเช่นนั้น มันก็ลำบากนะ

บางคนก็คิดว่าไม่มีโอกาส มีแต่การงานทั้งนั้น ไม่มีโอกาสที่จะภาวนา เคยมีอาจารย์หลายคนมาที่นี่ อาตมาถามว่าทำอะไร เขาตอบว่าสอนเด็ก มีงานมากสารพัดอย่าง วุ่น ไม่มีเวลาจะภาวนา อาตมาถามว่าเมื่อสอนเด็กนักเรียนน่ะ คุณมีเวลาหายใจไหม? มีครับ อ้าว...ทำไมมีเวลาหายใจล่ะ? ที่ว่าสอนเด็กอยู่งานมันยุ่ง นี่คุณห่างไปไกลไป ความเป็นจริงเรื่องปฏิบัติ มันเป็นเรื่องของจิต เรื่องของความรู้สึก ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปวิ่งไปเต้นอะไรมากมาย เป็นเรื่องความรู้สึกเท่านั้น ลมหายใจนั้นเราทำงานอยู่เราก็หายใจเรื่อยไป เราพยายามแต่เพียงให้มีสติให้รู้อยู่เท่านั้น พยายามเรื่อย ๆ เข้าไป ให้เห็นชัดเข้าไป การภาวนาก็เหมือนกันฉันนั้น ถ้าเรามีความรู้สึกอยู่อย่างนี้ จะทำงานอะไรอยู่ก็ตามเถอะ มันจะยิ่งทำให้การทำงานเหล่านั้นทำอย่างรู้ผิดชอบอยู่เสมอ นี้ให้คุณเข้าใจเสียใหม่ อาตมาบอกเขาอย่างนี้ เวลาที่จะภาวนานั้นมันเยอะ คุณเข้าไม่ถึงเฉย ๆ หรอก นอนอยู่ก็หายใจได้ ใช่ไหม? อยู่ที่ไหนก็หายใจได้ ทำไมมันจึงมีเวลาล่ะ ถ้าคุณคิดอย่างนี้ชีวิตของคุณก็มีราคาเท่ากับลมหายใจ แล้วมันจะอยู่ที่ไหนก็มีเวลา ความรู้สึกนึกคิดมันเรื่องของนามธรรม ไม่ใช่เรื่องของรูปธรรม ดังนั้นเพียงแต่ให้มีสติอย่างเดียวเท่านั้นก็จะรู้จักความรับผิดชอบอยู่ตลอดกาล ทั้งการยืน เดิน นั่ง นอนเหล่านั้น เวลามันเยอะไป เราไม่ฉลาดในเรื่องเวลาของเราเอง อันนี้ให้คุณเอาไปพิจารณาดู มันเป็นอย่างนี้

ถ้าเรารู้จิตเป็นจิต เวทนาเป็นเวทนาเท่านี้ มันก็แยกกันเป็นคนละอย่างคนละตอน จิตมันก็พ้นได้สบาย อารมณ์มันก็เป็นอย่างนั้นของมันเอง เกิดแล้วก็ดับไปเท่านั้น มันเกิดแล้วก็ดับไป ดับแล้วก็เกิดแล้วก็ดับ มันก็เป็นอยู่เท่านั้น เรารู้แล้วเราก็ปล่อยให้มันไปตามเรื่องของมันอยู่อย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้รู้เห็นตามที่เป็นจริง อันนี้ปัญหามันก็จะจบลงที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นแม้เรา จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็ขอให้มีการประพฤติปฏิบัติ มีสติสัมปชัญญะ อยู่ตลอดกาลเวลา เรื่องที่ถึงคราวนั่งสมาธิเราก็ทำไป ให้เข้าใจว่าการทำสมาธิก็เพื่อให้เกิดความสงบ ความสงบนั้นมันจะเพาะกำลังให้เกิดเท่านั้นแหละ ไม่ใช่ว่านั่งสมาธิเพื่อจะตามไปเล่นอะไรมากมายหรอก ดังนั้นการทำสมาธิก็ต้องให้มันสม่ำเสมอ การทำวิปัสสนาก็คือทำสมาธินั่นเองแหละ บางแห่งเขาก็ว่า บัดนี้เราทำสมาธิ ต่อไปเราจึงจะทำวิปัสสนา บัดนี้เราทำสมถะเป็นต้น อย่าให้มันห่างกันอย่างนั้นสิ สมถะนี้แหละคือบ่อเกิดของปัญญา ปัญญานี้ก็คือผลของสมถะ จะไปถือว่าบัดนี้เราทำสมถะ ต่อไปเราจะทำวิปัสสนาอย่างนั้น มันแยกกันไม่ได้หรอก มันจะแยกกันได้ก็แต่คำพูด เหมือนกับมีดเล่มหนึ่งนะ คมมันก็อยู่ข้างหนึ่ง สันมันก็อยู่อีกข้างหนึ่งนั่นแหละ มันแยกกันไม่ได้หรอก ถ้าเราจับด้ามมันขึ้นมาอันเดียวเท่านั้น มันก็ติดมาทั้งคมทั้งสันนั่นแหละ

ความสงบนั้นมันก็ให้เกิดปัญญาในตรงนั้น ให้เข้าใจว่ามันเป็นท่อนฟืนดุ้นเดียวกันนั่นแหละ มันจะมีมาจากไหนล่ะ? มันไม่มีพ่อแม่เกิดมานะ ธรรมะจะเกิดขึ้นที่ไหน? ศีลก็คือพ่อแม่ของธรรมะ นี้คือสงบ หมายความว่า ความผิดทางกายทางใจมันไม่มี เมื่อไม่มีมันก็เป็นศีล และมันก็ไม่เดือดร้อน เพราะมันไม่มีความผิด ทีนี้เมื่อไม่เดือดร้อนความสงบระงับมันก็เกิดขึ้นมานี้ คือจิตเกิดความสงบขึ้นมาแล้วในตัวของมันเอง อันนี้ท่านจึงว่าศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี มันเป็นทางของพระอริยเจ้าจะดำเนินเข้าไปสู่พระนิพพาน มันเป็นอันเดียวกัน

ถ้าพูดให้สั้นเข้ามา ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี มันเป็นอันเดียวกัน ศีลก็คือสมาธิ สมาธิก็คือศีล สมาธิก็คือปัญญา ปัญญาก็คือสมาธิก็เหมือนมะม่วงใบเดียวกันนั่นแหละ เมื่อมันเป็นดอกขึ้นมามันก็ดอกมะม่วง เมื่อเป็นลูกเล็ก ๆ ก็เรียกว่าผลมะม่วง เมื่อมันโตขึ้นมาก็เรียกว่ามะม่วงลูกโต มันโตขึ้นไปอีกก็เป็นมะม่วงห่าม เมื่อมันสุกก็คือมะม่วงสุก มันก็มะม่วงลูกเดียวกันนั่นแหละ มันเปลี่ยน ๆ ๆ ๆ ไป มันจะโต มันก็โตไปจากเล็ก เมื่อมันเล็กมันก็เล็กไปหาโต จะว่ามะม่วงคนละใบก็ได้ จะว่าใบเดียวกันก็ถูก

ศีลก็ดี ปัญญาก็ดี มันก็เกี่ยวเนื่องกันอยู่อย่างนั้น ผลที่สุดแล้วก็ต้องเป็นมรรคเดินทางเข้าไปสู่กระแสของพระนิพพาน มะม่วงตั้งแต่เป็นดอกมาเป็นต้น มันก็ดำเนินไปถึงที่มันสุกก็พอแล้ว นี่ให้เราเห็นเช่นนี้ ถ้าเราเห็นเช่นนี้เราก็ไม่ว่ามัน เขาจะเรียกให้เป็นอะไรก็ช่างมัน เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะแก่จะเป็นอะไรไปก็ตามพิจารณาไปเถอะ บางคนก็ไม่อยากจะแก่ แก่แล้วก็น้อยใจ งั้นก็อย่ากินมะม่วงสุกสิ จะอยากให้มะม่วงสุกทำไมล่ะ? เมื่อมันสุกไม่ทัน เราก็เอาไปบ่มไม่ใช่หรือ? ถึงเราจะแก่ก็ไม่ต้องบ่นน้อยใจ บางคนก็ร้องไห้ กลัวว่ามันจะแก่ตาย ยังงั้นมะม่วงสุกก็ไม่ต้องกินสิ กินดอกมะม่วงดีกว่านะ นี้แหละถ้าเราคิดอย่างนี้ มันก็เห็นธรรมะกระจ่างออกมา เราก็สบาย มีแต่จะตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติไปเท่านั้น




ตัดตอนจาก พระโพธิญาณเถร (พระอาจารย์ชา สุภัทโท),
จาก "เหนือเวทนา", นอกเหตุเหนือผล
http://board.palungjit.com/

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์