หลักที่ควรรู้เกี่ยวกับทุกข์

หลักที่ควรรู้เกี่ยวกับทุกข์


ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่เรากล่าวว่า “พึงรู้จักทุกข์, พึงรู้จักเหตุเป็นแดนเกิดของทุกข์,
พึงรู้จักความเป็นต่างกันของทุกข์, พึงรู้จักผลของทุกข์, พึงรู้จักความดับไม่เหลือของทุกข์, และพึงรู้จักทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้นั้น, ข้อนั้น เรากล่าวหมายถึงอะไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้น เรากล่าวหมายถึง ความเกิด เป็นทุกข์, ความแก่เป็นทุกข์, ความเจ็บไข้ เป็นทุกข์, ความตาย เป็นทุกข์, ความโศก ความร่ำไรร่ำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์,ความปรารถนาอย่างใดแล้ว ไม่ได้อย่างนั้น เป็นทุกข์ ; กล่าวโดยสรุปแล้วปัญจุปาทานขันธ์ เป็นทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุเป็นแดนเกิดของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย !ตัณหา เป็นเหตุเป็นแดนเกิดของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความเป็นต่างกันของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย !ทุกข์ที่มีประมาณยิ่ง มีอยู่, ที่มีประมาณเล็กน้อย มีอยู่, ที่คลายช้า มีอยู่,และที่คลายเร็ว มีอยู่.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ความเป็นต่างกันของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ผลของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกความทุกข์ชนิดใดครอบงำแล้ว มีจิตอันความทุกข์รวบรัดแล้ว ย่อมโศกเศร้า ย่อมระทมใจ คร่ำครวญ ตีอกร่ำไห้ย่อมถึงความหลงใหล หรือว่า ถูกความทุกข์ชนิดใดครอบงำแล้ว มีจิตอันความทุกข์รวบรัดแล้ว ย่อมถึงการแสวงหาที่พึ่งภายนอก ว่า “ใครหนอย่อมรู้วิธี เพื่อความดับไม่เหลือของทุกข์นี้ สักวิธีหนึ่ง หรือสองวิธี” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า ความทุกข์มีความหลงใหลเป็นผล หรือมิฉะนั้น ก็มีการแสวงหาที่พึ่งภายนอกเป็นผล. ภิกษุทั้งหลาย. ! นี้เรียกว่า ผลของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย !ความดับไม่เหลือของทุกข์ มีได้ เพราะความดับไม่เหลือของตัณหา.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นเอง เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์, ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (การพูดจาชอบ)สัมมากัมมันตะ (การทำการงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ) สัมมาวายามะ (ความพากเพียรชอบ) สัมมาสติ(ความระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ).
ภิกษุทั้งหลาย ! คำใด ที่เรากล่าวว่า “พึงรู้จักทุกข์, พึงรู้จักเหตุเป็นแดนเกิดของทุกข์, พึงรู้จักความเป็นต่างกันของทุกข์, พึงรู้จักผลของทุกข์,พึงรู้จักความดับไม่เหลือของทุกข์, และพึงรู้จักทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้นั้น,เรากล่าวหมายถึงความข้อนี้ แล.

ที่มา หนังสือ อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคต้น หน้า254
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๒
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
หน้าที่ ๓๖๙ ข้อที่ ๓๓๔

หลักที่ควรรู้เกี่ยวกับทุกข์


หลักที่ควรรู้เกี่ยวกับทุกข์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์