อย่าอุเบกขาแบบ...ควาย

อย่าอุเบกขาแบบ...ควาย


ทุกครั้งที่เกิดปัญหา ผู้คนในสังคมไทยมักส่งเสียงเตือนกันอย่างคุ้นชินว่า "ช่างมันเถอะ" แต่ก่อนที่ใจของเราจะพูดคำว่า "ช่างเถอะ" ได้ ปฏิกิริยาภายในต้องเดินทางไปสู่การ "ยอม" เสียก่อน เพราะถ้ายอมได้จะปล่อยได้ จึงช่างมันได้


สังคมไทยมีมุมหนึ่งที่สดสวยและงดงาม ด้วยหัวใจที่พร้อมต่อการยอมและให้อภัยของคนในชาติ เป็นสังคมเปี่ยมสุข ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม คนไทยส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศจึงสามารถยิ้มได้ ทุกที่ ทุกเวลา และทุกสถานการณ์ ด้วยค่านิยมพื้นฐานในสังคมไทย ที่บ่มเพาะ "การยอม" ตามคำสอน...อุเบกขา


อุเบกขาหรือการทำใจให้เป็นกลาง เป็นภาวะที่บังเกิดขึ้นภายในใจ เมื่อการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการแก้ไขเดินทางต่อไปไม่ได้แน่แล้ว การปล่อยใจให้ยอมรับกับความจริงตรงหน้า อย่างมีใจเป็นกลาง จึงเป็นทางออกสุดท้ายในการแก้ปัญหาทุกชนิดในโลก


ปัญหาโลกแตกที่มักเริ่มต้นจากเรื่องข้างใน แล้วจึงลุกลามออกไปเป็นเรื่องข้างนอก

หลายเดือนก่อนหน้านี้...ฉันวนเวียนอยู่กับปัญหาของตัวเอง ปัญหาเรื่องงานที่แก้ไขให้สิ้นซากไม่ได้เสียที เพราะบุคคลที่เกี่ยวข้องยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยน


ฉันต้องวนเวียนอยู่กับความอึดอัด กับอาการชักเย่อของใจด้วยใจหนึ่ง...พร้อมที่จะออกไป "สู้" ตามอุปนิสัยพื้นฐานของตน แต่อีกใจหนึ่งก็อยากทำตามเสียงเรียกร้องของสังคมรอบด้านที่บอกให้ "ยอม"


ฉันควรจะสู้ หรือฉันควรจะยอม กลายเป็นคำถามที่สร้างความอึดอัดคับข้อง รบกวนความสุขด้านใน จนหัวใจไร้ความสงบ กระทั่งวันหนึ่ง...เมื่อได้อ่านบทธรรมของหลวงพ่อชา และเจอคำสอนในการแก้ปัญหาที่ว่า...จงอย่าอุเบกขาแบบควาย


ท่านอาจารย์เน้นย้ำว่า อย่าใช้อุเบกขาแบบพร่ำเพรื่อผิดเวลา เช่น หากนั่งสมาธิอยู่กลางแจ้งแล้วเกิดฝนตก หน้าที่ของเราคือหลบ...ไม่ใช่ทน การแก้ปัญหาด้วยการวางอุเบกขานั่งตากฝน จึงไม่ใช่ทางออกของชีวิต เพราะเมื่อฝนตก เราอาจต้องเปียก แต่เราไม่จำเป็นต้องเปียก เพียงแค่เรา "ขยับ" การนั่งทนตากฝนเปียกปอนไม่ขยับเขยื้อน จึงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่มีปัญญา หากแต่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของวิธีคิดแบบไทยๆ ที่เผลอวางอุเบกขา...แบบควาย


เกิดเป็นลำแสงเล็กๆ ที่วาบขึ้นด้านในหัวใจ เสมือนคนที่เดินหลงทางอยู่ในห้องมืดมาอย่างยาวนาน แค่เพียงได้หันมองมุมใหม่ จึงเห็นลำแสงส่องสว่างปรากฏขึ้นปลายทาง แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่นั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่แสนจะเป็นสุข ด้วยค้นพบแล้วว่า...อะไรคือเหตุแห่งความอึดอัดภายในของฉัน กับการไม่ยอมอุเบกขาแบบควาย


ด้วยเกิดมาเป็นสตรีไทยพันธุ์ประหลาด ที่สอบไม่ผ่านมาตรฐานวิธีคิดทั่วไปของคนในชาติ จึงเคยชินต่อการเลือกวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิต ด้วยการสู้...มากกว่าถอย ความอึดอัด...จึงอยู่ตรงนี้


ด้วยคิดผิดบิดมุมไปเพียงนิดเดียว การดิ้นรนต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมของฉัน จึงกลายเป็นสงครามภายในที่ทำลายล้างตัวเอง

เพราะทางออกที่ใครๆ บอก ดูเหมือนมีเพียงการยอมแพ้ หรือไม่ก็ยอมจำนน หาใช่การ "ยอมรับ" ซึ่งเป็นความหมายโดยธรรม ตามหลักการอุเบกขาไม่


คำสอนของท่านหลวงพ่อชาประโยคนี้ จึงเตือนสติให้ฉันรู้ว่า เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ฉันต้องยุติสงครามภายในให้ได้ด้วยการ"ยอมรับ" ตามความเป็นจริงที่มันเป็น ว่าเราได้อดทนพยายามแก้ไขสิ่งนั้นมาอย่างยาวนาน...กว่าครึ่งปีแล้ว เป็นการ "ยอมรับ" ที่จะอยู่กับการไม่ได้ดั่งใจ จนเกิดคลื่นความสงบภายใน ด้วยใจที่เป็นกลาง


แต่นั่นไม่ได้แปลว่าฉันต้องหยุดทำหน้าที่ เพราะเมื่อฝนตก อุเบกขาภายในจะช่วยทำให้ใจไม่หงุดหงิด แต่การทำหน้าที่ภายนอกเพื่อการแก้ไข ยังคงต้องมีอยู่ จึงเกิดปัญญารู้ว่าควรขยับ ปัญหาความเปียกปอนที่กาย...จึงหายไป ปัญหาความหงุดหงิดใจภายใน...ก็ไม่มี พบคำตอบให้กับตัวเองว่า จงยอมรับสภาพของปัญหาที่มันลุกลามเกินการแก้ไขเถิด และไม่ต้องไปโกธรหรือเสียใจกับมัน เพียงดึงใจกลับมาสู่ความสงบและเยือกเย็นอย่างต่อเนื่อง


จึงเหลือเพียงการทำหน้าที่ภายนอก เพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณภาพต่อไป มีเพียงการกระทำ...แต่ไม่มีผู้กระทำ ด้วยซาบซึ้งแล้วว่าจงยอมรับ...แต่อย่ายอมจำนน


ที่มา posttoday


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์