อริยสัจ..เพื่อความพ้นทุกข์

"อริยสัจ..เพื่อความพ้นทุกข์"


" หลักของการเจริญวิปัสสนา คือให้มีสติ
รู้รูปธรรม นามธรรม ตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง "

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ได้นำพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเทศนาสั่งสอนผู้สนใจในธรรมปฎิบัติด้วยภาษาที่สามารถสื่อสารและเข้าใจได้ง่าย สำหรับคนในยุคปัจจุบัน สำหรับเรื่องราว "แนวทางการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา" ในกท.นี้ คือสรุปพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อ จำนวน 10 กัณฑ์ ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน ๒๕๕๑ โดยคัดเอาเฉพาะหลักคำสอนที่สำคัญมาเขียน เพื่อให้ผู้ที่ต้องการศึกษาสามารถทำความเข้าใจคำสอนได้ง่ายยิ่งขึ้น และผู้โพสหวังว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ในการเผยแผ่สัจธรรมของพระพุทธองค์ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไป ซึ่งหลวงพ่อก็ได้เมตตาอนุญาต ให้เผยแผ่เป็นธรรมทาน นับว่าเป็นความกรุณาอย่างหาที่สุดมิได้ และหากมีข้อผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้น ข้าพเจ้าขอน้อมรับเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว
ด้วยจิตคารวะ / สีลสิกขา


๑. โอกาสทองของชีวิต

พวกเรามีบุญวาสนานะ ได้เกิดในแผ่นดินซึ่งศาสนาพุทธยังดำรงอยู่ หลักธรรมแท้ ๆ ที่พระพุทธเจ้าสอน ยังได้รับการถ่ายทอดอยู่ เราได้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ได้พบสัตบุรุษแล้วมีศรัทธาสนใจที่จะศึกษา..ยากมากนะที่จะมีสภาวะอย่างนี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้ากระจ่าง แจ่มแจ้ง พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง และต้องเห็นผลเร็วด้วย ใครๆ ไปเรียนธรรมะจากพระพุทธเจ้า ถึงอุทานบอก " แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า เหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย " ง่าย คว่ำๆ อยู่ จับหงาย มันยากเหรอ

ธรรมะของพระพุทธเจ้า

งดงามในเบื้องต้น คือชี้ทางให้เราเดินไปได้ งดงามในท่ามกลาง คือมีเหตุมีผลสมบูรณ์อย่างนี้ถูก อย่างนี้ผิด พิสูจน์ได้ด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา งดงามในที่สุดคือ เราละกิเลสได้จริง ๆ ความทุกข์ตกหายไปได้จริงๆ เป็นลำดับๆ ไป

แต่ถ้าเรารู้ลงในกายในใจ มันไม่ใช่ของดีของวิเศษ กายนี้ใจนี้เป็นแต่ตัวทุกข์ พอเห็นอย่างนี้แจ่มแจ้งนะ มันจะวาง ไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจ เมื่อไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ จะยึดอะไรอีก ไม่มีแล้ว เพราะสิ่งที่ยึดมากที่สุดคือกายกับใจ ระหว่างกายกับใจ ก็ยึดใจมากกว่ากาย

วัตถุประสงค์ของเราชาวพุทธก็คือ ต้องพ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็คือนิพพานนั่นเอง คือพ้นจากความยึดถือกาย ยึดถือใจ เพราะกายกับใจคือตัวทุกข์

เรามีเป้าหมายอยู่ ๔ เป้าหมาย



เป้าหมายที่ ๑ เป็นพระโสดาบัน คือผู้ที่ละความเห็นผิดว่ามีตัวเรา เห็นความจริงแล้วว่า ตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่ถาวรนั้นไม่มีศีลบริบูรณ์ มีสมาธิ และปัญญาเล็กน้อย
เป้าหมายที่ ๒
เป็นพระสกิทาคามี มีสติที่รวดเร็วในการรู้สึกตัว จนกิเลสตัณหา อ่อนกำลังลงไป มีสมาธิปานกลางมีปัญญาเล็กน้อย
เป้าหมายที่ ๓
เป็นพระอนาคามี สามารถปล่อยวางความยึดถือกายได้ จึงพ้นจากกามและปฏิฆะ มีสมาธิสมบูรณ์ มีปัญญาปานกลาง
เป้าหมายที่ ๔
เป็นพระอรหันต์ มีศีล สมาธิ และปัญญาสมบูรณ์ สามารถปล่อยวางความยึดถือใจได้ ก็จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

ศาสนาพุทธ คือตัวสัมมาทิฎฐิ คือความรู้ถูก ความเข้าใจถูกในสภาวะธรรม (รูปธรรมและนามธรรม) จนกระทั่งปล่อยวางความยึดถือสภาวธรรมทั้งปวงได้ ซึ่งก็คือความรู้แจ้งอริยสัจ

อริยสัจมีทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็เป็นอันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา เมื่อใจเข้าถึงความจริง ยอมรับความจริงแล้ว มันจะไม่ทุกข์

อริยสัจเป็นธรรมะ ที่สำคัญมากเลย ลึกซึ้งที่สุด ถ้าไม่รู้แจ้งอริยสัจ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด วนเวียนอยู่ในความทุกข์ไปเรื่อยๆ พ้นไม่ได้หรอก


อริยสัจเป็นความจริงของบรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลาย ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านเหล่านี้เห็นความจริงของโลก ของชีวิต ของจักรวาล

หน้าที่ของชาวพุทธคือหน้าที่เรียน
ฉะนั้นชาวพุทธ เป็นนักเรียนนะ เราต้องเรียนธรรมะ เพื่อวันหนึ่ง เราจะได้รู้แจ้งธรรมะของพระอริยเจ้า เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของพระอริยเจ้า


อริยสัจตัวที่หนึ่งชื่อว่าทุกข์ ทุกข์ในอริยสัจ แปลว่ากายกับใจ รูปกับนาม เรารู้สึกไหมว่ากายเป็นทุกข์ใจเป็นทุกข์ เราไม่รุ้สึกหรอก เรารู้สึกว่ากายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง จิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง

ตราบใดที่ยังเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง มันจะไม่ยอมปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจหรอก เพราะมันยังมีทางเลือก ที่จะให้กายให้ใจเป็นสุข ยังรักอยู่ ยังหวงแหนอยู่ ยังหาทางดิ้นรนให้กายให้ใจมีความสุขอยู่ เมื่อไม่รู้แจ้งในธรรมะของพระอริยเจ้า ไม่แจ้งอริยสัจ ไม่รู้ว่ากายกับใจเป็นตัวทุกข์ จะไม่สามารถปล่อยวางความยึดถือกายความยึดถือใจได้ ยังรักมัน ยังหวงแหนมัน...เมื่อรักมันเมื่อหวงแหนมันนะ สมุทัยก็จะเกิดขึ้น สมุทัยคือตัณหา หมายถึงความอยาก อยากอะไร อยากให้กายมีความสุข อยากให้กายพ้นทุกข์ อยากให้จิตใจมีความสุข อยากให้จิตใจพ้นทุกข์ นี่ความอยากนี้แหละคือ ตัวตัณหา ถ้าตัณหาเกิดขึ้นแล้วอะไรจะเกิดขึ้นอีก มันจะเกิดทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา เบื้องต้นนะ กายกับใจเป็นตัวทุกข์ อันนี้เราไม่เห็นหรอก แต่ว่าเบื้องปลายนี่ ทันทีที่เกิดความอยาก อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

เมื่อเกิดความอยากขึ้นเมื่อไร จิตจะดิ้นรนเมื่อนั้น เมื่อจิตดิ้นรนเมื่อไร จิตจะมีความทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา กายกับใจเป็นตัวทุกข์อยู่แล้วนะ พอเกิดตัณหา เกิดอุปาทานคือความยึดถือ ก็เกิดภพคือการดิ้นรนทำงานของจิต ความทุกข์ก็จะเกิดซ้ำซ้อนขึ้นที่จิตอีกชั้นหนึ่ง

เมื่อไม่รู้ทุกข์นะ มันก็เกิดสมุทัย จิตใจก็ดิ้นรนปรุงแต่ง นิโรธก็ไม่ปรากฎ นิโรธคือนิพพาน นิพพานคือสภาวะ ซึ่งพ้นจากความปรุงแต่ง สภาวะซึ่งพ้นจากตัณหา สภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง มีชื่อเป็นภาษาแขกว่า วิสังขาร สภาวะที่พ้นจากตัณหามีชืี่อว่า วิราคะ อันนี้เป็นชื่อของนิพพานทั้งสิ้นเลยนะ เมื่อจิตยังดิ้นรนค้นคว้า จิตยังมีความอยากมีความยึดถืออยู่ นิพพานไม่ปรากฏ ความพ้นทุกข์ไม่มี เพราะยังวนเวียนยึดถือขันธ์อยู่

ต่อเมื่อไรรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยถูกละอัตโนมัติ นิโรธแจ้งอัตโนมัติ อริยมรรคก็เกิดอัตโนมัติเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้เพียงบอกว่าให้เรารู้แจ้งอริยสัจเท่านั้น แต่ท่านบอกวิธีที่จะทำให้เรารู้แจ้งอริยสัจด้วย คือให้รู้ทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งนะ สมุทัยดับเอง นิโรธปรากฏเอง อริยมรรคเกิดขึ้นเอง หากรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันทำกิจของอริยสัจทั้ง ๔ เสร็จสิ้นในขณะเดียวกัน

วิธีรู้ทุกข์ที่ท่านสอนก็คือ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือการเห็นอย่างวิเศษ คือเห็นความจริงของกายของใจ ว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา บังคับไม่ได้...

สรุปพระธรรมเทศนาแนวทางการปฎิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาข้อที่ ๑/๔

อริยสัจ..เพื่อความพ้นทุกข์


อริยสัจ..เพื่อความพ้นทุกข์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์