เคล็ดลับวิธีฝึกใจ

เคล็ดลับวิธีฝึกใจ




         ในกระบวนฝึกใจนี้ ฝึกอย่างไรจึงจะดี ท่านเรียกว่าต้องมี บุพนิมิตของชีวิตดีงาม ไม่ใช่อยู่ๆ นึกครึ้มอกครึ้มใจอยากไปวัด "เอาน่า! ใส่ชุดขาวมาแล้ว ไปเดินจงกรมก็แล้วกันวันนี้ไม่บรรลุให้มันรู้ไป" เดินตั้งแต่ตี 4 กระทั่งถึง 6 โมงเย็น เดินวนเวียนอยู่อย่างนั้น หมายจะบรรลุให้ได้ภายในวันนี้ ไม่สนใจครูบาอาจารย์ เพียงเพราะผ่านการปฏิบัติธรรมมาเยอะแล้ว

ขนาดพระพุทธเจ้าท่านยังบอกว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ไม่มีสักคำที่บอกว่าต้องไปหาครูบาอาจารย์ก่อนจึงปฏิบัติ เดินจากเย็นวันเสาร์ ถึงเช้าวันอาทิตย์ ยิ่งเดินยิ่งโกรธตัวเอง เพราะยิ่งเดินก็ยิ่งวุ่น คิดแต่ว่า "เมื่อไหร่! จะบรรลุ" สุดท้ายไม่ได้อะไรเลย เดินกลับบ้านก็ยังไม่รู้ตัวอีก อันนี้เรียกว่า ปฏิบัติโดยที่ไม่มีบุพนิมิตของชีวิตดีงาม ครึ้มอกครึ้มใจอยากจะปฏิบัติก็ปฏิบัติเลย อย่างนี้อันตรายมากๆ

ผู้เขียนเคยไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้วไปเจอพระรูปหนึ่งอยู่ๆ ท่านก็ลุกขึ้นมาประกาศตรงหน้าผู้ปฏิบัติธรรม "ผมคือพระสารีบุตรๆ" พระวิปัสสนาจารย์รีบเข้าไปกระซิบ "รู้หนอ รู้หนอ" พระรูปนั้นกลับตะโกนเสียงดัง "ท่านอย่ามายุ่ง ท่านเป็นใคร ผมคือพระสารีบุตร" สุดท้ายพระวิปัสสนาจารย์ก็เอาไม่อยู่ต้องให้คนอุ้มออกไป นี่คือปฏิบัติแล้วไม่ฟังครูบาอาจารย์

เพราะเหตุนั้น ในการปฏิบัติเราจึงต้องสอบอารมณ์เป็นระยะๆ เพราะเมื่อปฏิบัติไปแล้วเกิดปีติไปทั้งตัว แล้วหลงยึดเอาปีตินั้นมาเป็นอารมณ์ การปฏิบัติธรรมจึงไม่ก้าวหน้า เพราะยึดเอาสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวมาเป็นอารมณ์ เหตุดังนี้การปฏิบัติธรรมจึงต้องมีพระวิปัสสนาจารย์คอยให้คำแนะนำ


ในการศึกษาในการปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่ในการใช้ชีวิต ถ้าเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่า บุพนิมิตของชีวิตดีงาม เราอาจเดินหลงทาง โดยที่ไม่รู้ว่าเรากำลังหลง

หลวงปู่มั่นเคยบอกว่า
จิตดีอันตรายยิ่งกว่าจิตชั่ว เพราะถ้าจิตชั่วมีคนเห็นมีคนรู้เขายังช่วยเตือน เช่น เราเดินสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ พอมีใครเขาเห็น เขาก็ช่วยตักเตือนว่ามันไม่ดีไม่ควร แต่คนที่จิตดี มันอยู่ข้างในบางทีมันมองไม่เห็น ใครๆ ก็มองไม่เห็น พอจิตดีแล้วนึกครึ้มอกครึ้มใจว่า "โอ้...ฉันมันดี" ยิ่งถ้ามองเห็นคนอื่นว่าไม่ดีไปหมดยิ่งแย่เข้าไปกันใหญ่ ทีนี้ปฏิบัติธรรมจึงหลงผิดคิดแต่ว่า "ฉันมันเป็นคนดี คนดีย่อมไม่เคยทำชั่ว" พอถามว่าแล้วใครชั่ว ก็ตอบว่า "คนอื่นชั่วหมดเลย" นี่คือจิตดีที่ร้ายยิ่งกว่าจิตชั่วเสียอีก ยกตัวอย่างในสมัยพุทธกาล

พระฉันนะ ทุกวันต้องไปนั่งอยู่หน้าวัดพระเชตวัน พอมีใครมาเฝ้าพระพุทธเจ้าก็จะมองตั้งแต่หัวจรดเท้า "มาได้ไง จะมาหาพระพุทธเจ้าต้องผ่านฉัน ฉันเป็นคนพาพระพุทธเจ้าออกบวช รู้ไหมว่าฉันเป็นใคร คนรับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าเชียวนะ เพราะฉะนั้นจะมาติดต่อลูกพี่ต้องผ่านหน้าห้องก่อน" ทำตัวเป็นหน้าห้องพระพุทธเจ้า ห่มจีวรที่รีดเรียบร้อย นั่งวางมาดอย่างดี พระผู้ใหญ่ที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้าพบพระฉันนะก็เข้าใจว่าเป็นพระมหาเถระพากันกราบไหว้ ครั้นพอถามว่า "ท่านพรรษาเท่าไร" พระฉันนะยิ้มด้วยความภาคภูมิใจแล้วบอกว่า "ยังไม่ได้สักพรรษาเลยท่าน" นี่ขนาดยังไม่ได้สักพรรษาเริ่มปลูกต้นกร่างแล้ว ปลูกต้นกร่างเต็มวัด อยู่กับพระพุทธเจ้าแท้ๆ แต่กลับไม่ได้รับธรรมะเลย เพราะมัวแต่คิดว่าฉันดีกว่าพระรูปอื่นทั้งหมด ฉันคือคนโดยเสด็จพระพุทธเจ้าตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ฉันคือผู้โดยเสด็จก่อนใคร ฉันคือมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิด ฉันคือพระสหชาติของพระพุทธเจ้า ส่วนพระสารีบุตร พระโมคคัลลานที่มาบวชรุ่นหลัง พวกนี้เด็กๆ ทั้งนั้น คิดอย่างนี้ ภูมิใจนั่งลำพอง แต่ไม่ฟังธรรม ทำไมไม่ฟังธรรม กิเลสมันอยู่ข้างในมันไม่มีที่ว่างให้ธรรมะเข้าไปได้

สุดท้ายแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าท่านเสด็จดับขันธ์พระปรินิพพาน ทิ้งพระฉันนะเอาไว้ ก่อนจะนิพพานพระพุทธเจ้าตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ถ้าฉันล่วงลับไปแล้วให้เธอลงพรหมธรรมแก่ฉันนะ" พรหมธรรม เขาเรียกว่า ธรรมของพรหม ซึ่งก็คือการลงโทษแบบผู้ดี หมายความว่า ถ้าพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว ให้พระสงฆ์ทั้งหมดห้ามพูดกับพระฉันนะ ห้ามมองพระฉันนะ ห้ามพบพระฉันนะ เธอจะทำอะไรก็ปล่อยตามใจเธอ ไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องคบ ไม่ต้องมอง

พระฉันนะเมื่อสิ้นพระองค์แล้ว ปรากฏว่าไม่มีใครมาคบค้าสมาคมดังเช่นแต่ก่อน เกิดอาการว้าเหว่ อุปมาดังเจ้าไม่มีศาล คนตกงานจะรู้สึกว่าชีวิตหลักลอยที่สุด เชื่อมโยงกับใครก็ไม่ติด เหมือนคนที่คิดฆ่าตัวตาย เพราะมันต่อกับใครไม่ติด มีมือถือ แต่ขาดแบตเตอรี่ อาการอย่างนั้นมันไม่มีประโยชน์เลย พระฉันนะก็สงสัยว่าทำไมพระสงฆ์ทั้งหมดไม่พูดกับฉัน มันเกิดอะไรขึ้น พอไปถามพระอานนท์ พระอานนท์บอกว่า "ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จปรินิพพานสั่งลงพรมธรรมแก่ท่าน"

พอรู้ว่าพระพุทธเจ้าสั่งลงพรมธรรมแก่ตัวเอง พระฉันนะเป็นลมสลบไป 3 ครั้ง เพราะคนที่ตนรักที่สุดคือคนที่สั่งลงโทษ ขาดความเชื่อมั่นทางจิตวิญญาณ เพราะผิดหวังจากพระพุทธเจ้า แต่พอผ่านไปได้สักพักก็สำนึกตัวได้ "อ๋อ..ที่พระพุทธเจ้าสั่งลงพรมธรรมเรา ก็เพราะว่าเราคิดดี หลงดีนั่นเอง" พอรู้ตัวแล้วเริ่มทิ้งดี อ่อนน้อมถ่อมตน พอเริ่มอ่อนน้อมถ่อมตน ปฏิบัติธรรมไม่ถึงสัปดาห์ก็ได้เป็นพระอรหันต์ นี่คือข้ออันตรายของจิตดี แต่ถ้าเลิกจิตดีได้ก็มีความสุข

ดังนั้น ในการทำความดีก็เพื่อเอาความดีเป็นบันไดไต่ไปหาความดีที่สูงขึ้น แล้วสุดท้ายทิ้งทั้งดีทั้งชั่ว แต่ถ้าคนทำความดีแล้วภูมิใจ "วันนี้มาฟังธรรมแล้ว รู้สึกตัวหนักขึ้น ชีวิตก็เริ่มเข้าท่า" พอบอกว่าชีวิตเริ่มเข้าท่าก็จะภูมิใจ กลับไปที่บ้านภรรยาทัก "พี่ไปไหนมา" นั่งนิ่งไม่ตอบ พอภรรยาถามบ่อยๆ "ทำไมเอาแต่นิ่ง" สุดท้ายก็เลยบอก "อาจารย์ท่านบอกว่า ต้องมีสติต้องนิ่งๆ" เลยพูดน้อย นี่คือการปฏิบัติธรรมที่เกินความพอดีไป จุดหมายของปฏิบัติธรรมก็เพื่อก้าวไปหาธรรมที่สูงกว่า ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมแล้วก็หลงวนอยู่ในธรรม บางคนปฏิบัติแล้วครึ้มอกครึ้มใจ พระท่านบอกให้พูดความจริง กลับไปที่ออฟฟิศบอกเจ้านาย "เจ้านายครับ ผมไม่ชอบหน้าท่านเลย" เจ้านายถาม "ทำไม" ลูกน้องก็ซื่อตอบว่า "พระท่านบอกให้พูดแต่ความสัตย์ครับ" คงลืมไปว่าความสัตย์นั้นมันต้องขึ้นอยู่กับกาลเทศะด้วย

ดังนั้น ในการปฏิบัติธรรม ถือหลักอย่างหนึ่งว่า เราทำความดีเพื่อต่อยอดไปหาความดีที่สูงกว่า ไม่ใช่ทำความดีเพื่อเอาความดีของเราไปข่มเหงใคร หรือไม่ใช่ทำความดีเพื่อเอาความดีนั้นไปอวดอ้างกับใคร ให้ใช้ความดีนั้นต่อยอดไปหาความดียิ่งๆ ขึ้นไป วางเป็นหลักไว้อย่างนี้ ทุกครั้งที่เราเป็นคนดีหรือทำความดี ยิ่งมีความดีในตัวมากยิ่งอ่อนน้อมลงมา ยิ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ยิ่งทำตัวว่างเปล่า ก็เหมือนแก้วเปล่าๆ ที่รอใช้ประโยชน์ ดังนั้นจิตจะฝึกได้ก็ต่อเมื่อเราทำจิตให้ว่าง บางคนจิตเต็มไปด้วยความดี ได้ยินใครพูดผิดหูหน่อยไม่ได้ก็เก็บไปคิดต่ออีกทั้งวัน เราจึงควรทำให้ว่าง ทำให้อ่อนน้อมถ่อมตน

คำว่า อ่อนน้อมถ่อมตน พระพุทธเจ้าใช้ภาษาบาลีว่า นิวาตะมุตติ นิวาตะ มาจากคำ 2 คำ นิ แปลว่า ออก วาตะ แปลว่า ลม มุตติ คือ ความประพฤติ เพราะฉะนั้น นิวาตะมุตติ แปลว่า ประพฤติโดยการถ่ายเทลมออกเรียบร้อยแล้ว หมายความว่า ไม่มีลมเบ่งนั่นเอง ลมเบ่ง ลมกร่าง ลมอหังการไม่มี ทำตัวเหมือนลูกโป่งที่มันถูกแทงแล้ว ไปไหนถ้าตอนเป็นลูกโป่งที่มันมีลมอัดแน่นอยู่ ธรรมชาติของลูกโป่ง คือ หยุดนิ่งไม่ได้ จะต้องลอย คนเราก็เช่นกัน ทำดีแล้วติดดีก็ลอย ถ้าลอยแล้วทำอย่างไร ลอยต่ำก็ไม่ได้จะต้องลอยให้เลยหัวคนอื่นเขา

เพราะฉะนั้น เบื้องต้นในการทำความดี ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ทีนี้ในการทำความดีในการปฏิบัติธรรมมันจะก้าวหน้าไม่ได้ ถ้าไม่มีบุพนิมิตของชีวิตดีงาม อะไรคือ บุพนิมิตของชีวิตดีงาม พระพุทธองค์ตรัสว่า
"ก่อนที่แสงเงินแสงทองจะทอประกายจากขอบฟ้าในทุกๆ เช้า มันจะมีแสงเรืองรองขึ้นมา" ที่เราเรียกว่า "แสงอรุณ" แสงอรุณในภาษาไทยเรียกว่า "แสงเงินแสงทอง" แสงอรุณหรือแสงเงินแสงทองนี้จะเป็นสัญลักษณ์ของเช้าวันใหม่ เป็นสัญลักษณ์ให้เรารู้ว่าฟ้าเปิดแล้ว เช้าวันนี้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ความข้อนี้ฉันใด ในโลกของการดำเนินชีวิตก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีบุพนิมิตของชีวิตดีงาม แสดงว่าชีวิตของเราเริ่มก้าวขึ้นสู่เส้นทางของความดีงาม เส้นทางของความสุขและเส้นทางของความรุ่งโรจน์



โดย :ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์