เชื่ออย่างไร ผิดหลักกรรม ? (2)

เชื่ออย่างไร ผิดหลักกรรม ? (2)




“ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น เราเข้าไปหา (พวกที่ ๓ ) กล่าวกะเขาว่า

“ท่านก็จักเป็นผู้ทำปาณาติบาต โดยไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย
จักเป็นผู้ทำอทินนาทาน....
ประพฤติอพรหมจรรย์....
กล่าวมุสาวาท...ฯลฯ
เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยน่ะสิ”


“ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอาความไม่มีเหตุไม่มีเป็นสาระ ฉันทะก็ดี

ความพยายามก็ดีว่า “สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ” ก็ย่อมไม่มี ฯลฯ”


(องฺ.ติก.20/501/222 ฯลฯ)


โดยเฉพาะลัทธิที่ ๑ คือ ปุพเพกตวาทนั้น เป็นลัทธิของนิครนถ์ ดังพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่า “สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดที่บุคคลได้เสวย ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่ตัวทำไว้ในปางก่อน โดยนัยนี้ เพราะกรรมเก่าหมดสิ้นไปด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ ก็จะไม่ถูกบังคับต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป ก็สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม ก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ ก็สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ก็จักเป็นอันสลัดทุกข์ให้หมดสิ้น ภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์มีวาทะอย่างนี้”

(ม.อุ.14/2/1)

นอกจากนี้ มีพุทธพจน์ตรัสย้ำความอันเดียวกัน ก็มีดังนี้

“ดูกรสิวกะ เวทนาบางอย่างเกิดขึ้น มีดีเป็นสมุฏฐานก็มี ฯลฯ เกิดจากความแปรปรวนแห่งอุตุก็มี...เกิดจากการบริหารตนไม่สม่ำเสมอก็มี...เกิดจากถูกทำร้ายก็มี...เกิดจากผลกรรมก็มี ฯลฯสมณพราหมณ์เหล่าใด มีวาทะมีความเห็นอย่างนี้ว่า “บุคคลได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี เวทนานั่นเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อน” ฯลฯ เรากล่าวว่า เป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเอง”

(สํ.สฬ.18/427/284)


พุทธพจน์เหล่านี้ ป้องกันความเห็นที่แล่นไปไกลเกินไป จนมองเห็นความหมายของกรรม
แต่ในแง่กรรมเก่า กลายเป็นคนนั่งนอนรอคอยผลกรรมเก่า สุดแต่จะบันดาลให้เป็นไป
ไม่คิดแก้ไขปรับปรุงตนเอง กลายเป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง ตามนัยพุทธพจน์ที่กล่าวมาแล้ว

นอกจากนั้น จะเห็นได้ชัดด้วยว่าในพุทธพจน์นี้ พระพุทธเจ้าทรงถือความเพียรพยายาม
เป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าทางจริยธรรมของหลักกรรมและคำสอนเหล่านี้ทั้งหมด

พระพุทธพจน์เหล่านี้ มิได้ปฏิเสธกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าก็ย่อมมีส่วนอยู่ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย

และย่อมมีผลต่อปัจจุบัน สมกับชื่อที่ว่าเป็นเหตุปัจจัยด้วยเหมือนกัน แต่มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยอยู่นั่นเอง ไม่ใช่อำนาจนอกเหนือธรรมชาติอะไรที่จะไปยึดไปหมายมั่นฝากโชคชะตาไว้ให้ ผู้เข้าใจปฏิจจสมุปบาท รู้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยดีแล้ว ย่อมไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ ฯลฯ ดังนั้น จึงควรเข้าใจกรรมเก่าเพียงเท่าที่มันเป็นตามกระบวนการของมัน

ในทางจริยธรรม ผู้เข้าใจปฏิจจสมุปบาท ย่อมถือเอาประโยชน์จากกรรมเก่าได้ในแง่เป็นบทเรียน เป็นความตระหนักแน่นเหตุผล เป็นความเข้าใจตนเอง และ สถานการณ์ เป็นความรู้พื้นฐานปัจจุบันของตน เพื่อประกอบการวางแผนทำกรรมปัจจุบัน และ หาทางแก้ไขปรับปรุงต่อไป



ลานธรรมจักร

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์