เพราะเหตุใดจึงไม่เชื่อเรื่องกรรม?

เพราะเหตุใดจึงไม่เชื่อเรื่องกรรม?


จิตใจที่มีสามัญสำนึกย่อมมีความรู้สึกว่ามีความดีความชั่ว มีผลของ
ความดีความชั่ว และผู้ทำนั้นเองเป็นผู้มีความดีความชั่วติดตามอยู่
เพราะใครทำกรรมใด กรรมนั้นย่อมจารึกอยู่ในจิตใจ และผู้ทำนั้นเอง
ต้องเป็นผู้รับผลกรรม คือ...รับผิดชอบต่อการกระทำของตน แต่การ
ที่คนไม่น้อยยังไม่มีความเชื่อตั้งมั่นลงไปในหลักกรรม ซึ่งรวบรัดโดย
ย่อว่า...'ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว' ก็เพราะเหตุ ๒ ประการคือ...

๑. ความลำเอียงเข้ากับตนเอง
คือ มุ่งประโยชน์ตน หรือมุ่งแต่จะได้เพื่อตนเท่านั้น ไม่คำนึงถึงความ
เสียหายทุกข์ยากของผู้อื่น ดังเช่น เมื่อโกรธขึ้นมาก็ทำร้ายเขา เมื่อ
อยากได้มาก็ลักของเขา เมื่อทำได้สำเร็จดังนี้ก็มีความยินดีและอาจ
เข้าใจว่าทำดี แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้ใครมาทำร้ายตัวเรา
ถึงเราจะไปยั่วให้เขาโกรธก็ตาม หรือไม่อยากให้ใครมาลักของเรา
ถ้าใครมาทำเข้า เราก็ต้องว่าเขาไม่ดี เมื่อเราทำแก่เขาได้ เราก็คิด
เข้าข้างตนเองว่าเป็นสิ่งดี แต่ถ้าเขาทำแก่เราบ้าง เราก็ว่าเขาว่าเป็น
สิ่งไม่ดี

๒. ไม่เห็นผลสนองที่สาสมทันตาทันใจ
โดยมากบุคคลต้องการเห็นผลของกรรมให้เกิดตอบสนองขึ้นอย่าง
สาสมทันตาทันใจ เช่น เมื่อทำกรรมดีก็อยากเห็นกรรมดีให้ผลเป็น
รางวัลอย่างมากมายทันตาทันใจ เมื่อเห็นหรือทราบว่าใครทำกรรม
ชั่วและไม่เห็นว่าเขาเสื่อมเสียอย่างไร หรือกลับเจริญรุ่งเรือง ก็สงสัย
ว่าทำชั่วไม่ได้ชั่วจริงกระมัง

ในมหากัมมวิภังคสูตร...พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกการให้ผลของ
กรรม แบ่งเป็น ๔ ประเภทคือ...
๑. บางคนทำชั่ว ตายแล้วไปอบายก็มี...
เพราะกรรมชั่วที่ทำไว้ในชาตินี้ให้ผล ทั้งต้องรับผลในชาติหน้าและ
ชาติต่อๆไปด้วย
๒. บางคนทำชั่ว ตายแล้วไปสุคติก็มี...
เพราะกรรมดีที่เคยทำไว้ก่อนๆให้ผล ส่วนกรรมชั่วในปัจจุบันยังไม่
ให้ผลหรือเวลาใกล้ตาย มีความเห็นชอบ จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
๓. บางคนทำดี ตายแล้วไปสุคติก็มี...
เพราะกรรมดีที่ทำไว้ในชาตินี้ให้ผล ทั้งจะให้ผลในชาติหน้าและชาติ
ต่อๆไปด้วย
๔. บางคนทำดี ตายแล้วไปอบายก็มี...
เพราะกรรมชั่วที่เคยทำไว้ก่อนๆให้ผล ส่วนกรรมดีในปัจจุบันยังไม่ให้
ผล หรือเวลาใกล้ตาย มีความเห็นผิด จึงไปเกิดในอบาย

ผู้ที่มีความรู้อันจำกัด เมื่อไม่ได้ศึกษามหากัมมวิภังคสูตรนี้ จึงมีความ
เห็นผิดว่า...'ทำชั่วได้ดี ทำดีได้ชั่ว'...นอกจากนี้ความเห็นผิดอาจมี
สาเหตุมาจาก...
๑. เป็นพวกค้ากำไรเกินควร ทำดีนิดเดียวแต่หวังจะได้มากๆ เมื่อไม่
สมหวังก็บ่นว่าทำดีไม่ได้ดี
๒. ทำยังไม่ถึงดี ก็เลิกเสียก่อน ถ้าเปรียบกับการหุงข้าว คงได้ข้าว
สุกๆดิบๆ
๓. ทำเลยความพอดี ถ้าหุงข้าว คงได้ข้าวไหม้
๔. ทำไม่ถูกดี ไม่สร้างเหตุที่ตรงกับผลที่ต้องการ เช่น อยากรวยจึง
ซื้อหวย เลยยากจนตลอดชาติ
๕. ไม่เห็นเมื่อบุคคลอื่นทำความดี เห็นแต่เวลาเขาได้ดี ก็เลยบ่นว่า
เขาไม่ทำดีแต่ได้ดี
๖. เข้าใจว่าดีคือรวยเพียงอย่างเดียว เมื่อทำดีแล้วไม่รวย ได้ดีอย่าง
อื่น ก็บ่นว่า ทำดีไม่ได้ดี
๗. ใจร้อนเกินไป เช่น หุงข้าวไม่ถึง ๕ นาที ก็หวังให้ข้าวสุก เมื่อไม่
ได้ดังใจ ก็บ่น...ฯ

~พระมหาพีรเดช ฐิตเตโช~
ขอนอบน้อมแด่คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์