เหตุใดการพบความสุขแท้ถึงต้องเพ่งไปที่ทุกข์

เหตุใดการพบความสุขแท้ถึงต้องเพ่งไปที่ทุกข์



เพราะเหตุใดการพบความสุขแท้ถึงต้องเพ่งไปที่ทุกข์ และการแสวงหาความหมายของชีวิตจึงต้องระลึกถึงความตาย

....คัดลอกบางตอนจาก บทสัมภาษณ์พระอาจารยมิตซูโอะ คเวสโก "เมื่อซากุระผลิบานเป็นดอกบัว" นิตยสาร Secret


เพราะมันเป็นความจริงของชีวิต พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์
ไม่ว่าจะเป็นการที่เราต้องอยู่กับคนหรือสิ่งที่ไม่ชอบใจ การพลัดพรากจากคนที่เรารัก
หรือไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนาก็ดี สิ่งเหล่านี้เป็นทุกขสัจจะ หรือทุกข์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความจริง

ซึ่งถ้าเรามัวคิดแต่จะแสวงหาลาภ เงินทอง ยศ ตำแหน่ง ยกย่องสรรเสริญ ความสุขต่างๆ
ที่มนุษย์ส่วนใหญ่พากันแสวงหา ก็ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ได้ ถึงจะปฏิบัติธรรมเป็นร้อยปีก็ตาม

ดังนั้นมนุษย์เราจึงควรพิจารณาถึงความเกิด ความแก่ ความเจ็บ หรือความตาย ว่าทั้งหมดล้วนเป็นความทุกข์ทีเป็นความจริง แต่ถึงอย่างนั้นเราก็สามารถมีความสุขในท่ามกลางความทุกข์ได้

หากเรามีเมตตากับตัวเอง อย่างน้อยถ้ามีสุขภาพใจดี เราก็สามารถยอมรับความจริงได้ว่า
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายเราก็ดี รอบตัวเราก็ดี ทุกสิ่งล้วนมีแต่ทุกข์ พระพุทธเจ้าเองก็ยังห้ามไม่ได้ เมื่อเรารับความจริงนี้ได้แล้ว จากนั้นก็ให้เพ่งไปที่ใจ ให้ใจเป็นประธานเพราะทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นที่ใจ ไม่ว่าจะเป็นเหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ วิถีปฏิบัติ หรือการมีความสุขก็ตาม

ดังนั้นหากเราตั้งใจว่าจะค้นหาความสุขที่แท้จริงก็ต้องเกิดจากการยอมรับความทุกข์ของชีวิตโดยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือตัวทุกข์ แล้วจากนั้นจิตใจก็จะโอปนยิโก (การน้อมนำธรรมเข้าสู่ตัวจนพบความสงบแห่งจิตใจ)

ส่วนคำถามที่ว่า
........ทำไมการแสวงหาความหมายของชีวิตจึงต้องระลึกถึงความตาย

เพราะถ้าเราพิจารณาร่างกายเป็นความตายแล้ว สิ่งที่เราทุกข์ดิ้นรนต่อสู้ด้วยทุจริตต่างๆ มาทั้งหมดย่อมไร้ประโยชน์ เพราะไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องตายอยู่ดี ดังนั้นถ้าเราพิจารณาความตายด้วยปัญญาแล้ว เราก็จะมองเห็นกายกับใจชัดขึ้น รวมทั้งมองเห็นว่าร่างกายเป็นเพียงสิ่งภายนอก ในขณะที่ใจเป็นประธาน ใจนี้ไม่ใช่กาย กายนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ได้อยู่ในกาย กายก็ไม่อยู่ในเรา ถ้าใจเป็นเอกเทศชัดเจนขึ้นแล้ว กายก็จะถอยไป จากนั้นปัญญาก็จะทำให้เราสามารถมองเห็นได้ว่า กายเป็นอนัตตา (ไม่มีตัวตน) อันหมายความว่าเวทนาและสัญญาก็ย่อมเป็นอนัตตาตามไปด้วย แล้วในที่สุด ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ย่อมเป็นอนัตตาเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกัน การมีปัญญาเกิดขึ้นมากเท่าไร จิตใจก็ยิ่งสงบเบาลงๆๆ เท่านั้น นั่นคือแนวทางที่มนุษย์จะปล่อยวางและค้นพบความสุขที่แท้จริงได้ในที่สุด การตระหนักถึงความตายในความหมายของอาตมาจึงหมายถึงเพื่อที่จะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วจากนั้นความรู้สึกในจิตใจก็จะมั่นคงขึ้น



ลานธรรมจักร

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์