แก้ความโกรธจากผู้เป็นศัตรู

แก้ความโกรธจากผู้เป็นศัตรู




1.นึกถึงพระพุทธโอวาท พยายามสั่งสอนตักเตือนตัวเองบ่อย ๆ ว่า
- "แน่ะ เจ้าขี้โกรธอย่างร้าย พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้วมิใช่หรือว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้หากโจรที่หยาบช้า พึงเอาเลื่อยที่มีคม 2 ข้าง ตัดอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้ใดโกรธต่อโจรนั้น ผู้นั้นไม่ชื่อว่าทำตามคำสอนของเรา เพราะเหตุที่ทำใจให้ประทุษร้ายโจรนั้น"

- ผู้ใดย่อมโกรธตอบต่อผู้ที่โกรธแล้ว ผู้นั้นเลวเสียกว่าผู้ที่โกรธทีแรกนั้นอีก เพราะเหตุที่โกรธตอบเขานั้น ผู้ที่ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธตัวแล้ว ชื่อว่าย่อมชนะสงครามซึ่งชนะได้แสนยาก ผู้ที่รู้ว่าคนอื่นโกรธแล้ว ย่อมประพฤติเป็นประโยชน์ ทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งฝ่ายตนและผู้อื่น เป็นมีผู้มีสติ ย่อมสงบระงับได้


2. ถ้ายังไม่ระงับให้นึกถึงความดีของผู้นั้น ที่เคยทำให้แก่เรา ให้แก่ชาติเรา สังคมเรา

พึงฝึกใจให้นึกถึงความดีของคนอื่นไว้บ่อย ๆ อย่าได้นึกถึงความชั่วของเขาเลย แล้วความเกลียดความโกรธจะหายไป ใจจะประเสริฐขึ้น


3. ถ้านึกถึงความดีผู้นั้นแล้ว ความอาฆาตยังมีอยู่อีก ให้สอนตัวเอง

- "ถ้าว่า ทุกข์อันศัตรูทำแก่ท่านที่กายของท่าน แล้วทำไมท่านจึงมาต้องการให้ความทุกข์เกิดในใจท่าน ซึ่งมิใช่ร่างกายของศัตรูของท่านเล่า"

- "ท่านรักษาศีลเหล่าใดไว้ แต่ความโกรธอันเป็นเครื่องทำลายศีลเหล่านั้นของท่าน ท่านยังพะนอมันไว้อยู่ ใครเล่าจะเซ่อเท่าท่าน"

- "ท่านโกรธว่าคนอื่นทำความเสียหายให้ โอ! ไฉนท่านจึงยังทำความเสียหายเช่นนั้นเสียอีกเล่า"

- "คนอื่นผู้ต้องการทำให้ท่านแค้น จึงทำสิ่งที่ไม่พอใจให้ ไฉนท่านจึงยังมโนรถ (ความต้องการ) ของเขาให้สำเร็จด้วยวิธีบันดาลความแค้นให้เกิดขึ้นในตัวท่าน"

- "ก็ท่านโกรธแล้ว จะทำความทุกข์ให้แก่เขาได้หรือไม่ก็ตามที แต่บัดนี้ ท่านชื่อว่าเบียดเบียนตนเอง ด้วยทุกข์อันเกิดจากความโกรธนี้เป็นแม่นมั่น"

- "ถ้าหากว่า คนที่เป็นศัตรูก่อความโกรธจองเวรขึ้น อันเป็นทางที่ไร้ประโยชน์ แล้วทำไมท่านจึงโกรธตอบชื่อว่าเอาอย่างเขาเล่า"

-"ศัตรูอาศัยความแค้น จึงทำความน่าชังให้แก่ท่าน ท่านก็จงตัดความแค้นนั้นเสีย จะมามัวลำบากในสิ่งที่ไม่ควรไปทำไมกัน"

-"ความ ไม่พอใจอันขันธ์เหล่าใดกระทำแก่ท่าน ขันธ์เหล่านั้นก็ไม่เที่ยง ดับไปแล้ว เพราะธรรมทั้งหลายเป็นไปชั่วขณะ เดี๋ยวนี้ท่านโกรธใครในโลกนี้เล่า (คือทุกสิ่งไม่มีตัวตนที่ควรเข้าไปยึดมั่นเลย)"

- "ท่านเองเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์เดือดร้อนเสียเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วทำไมท่านจึงโกรธคนอื่นเขาเล่า"


4. ถ้าความโกรธยังไม่ระงับให้ถือว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตน
กรรม ชั่วอันเกิดจากความโกรธของท่านนี้ จะบันดาลให้เกิดผลดีใด ๆ แก่ท่านไม่ได้เลย มีแต่จะทำความเสียหายแก่ท่านฝ่ายเดียวให้ได้รับความทุกข์ ความเสื่อมเกียรติในชาตินี้ และยังจะก่อให้เกิดความทุกข์ในนรกอีกด้วย ท่านโกรธสร้างกรรมเช่นนี้ขึ้น ก็ชื่อว่าเผาตัวเอง และสร้างความเน่าเหม็นให้แก่ตัวเอง

ท่านผู้ที่โกรธนี้ก็มีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้ ก็จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นเช่นกัน กรรมชั่วของเขานี้ จะบันดาลให้เขาได้รับผลดีใด ๆ ก็หาไม่ แต่กลับทำให้เขาเดือดร้อนในปัจจุบัน และยังได้รับทุกข์ในอบายมีนรกเป็นต้นอีกด้วย ผู้ทำกรรมชั่วเช่นนี้ เปรียบเหมือนคนยืนอยู่ใต้ลมซัดธุลี ใส่คนที่อยู่เหนือลาม แต่มันกลับปลิวมาใส่ตนเองฉะนั้น


5. ถ้าความโกรธยังไม่ระงับ ให้นึกถึงจารีตของพระพุทธเจ้า
เช่น ในสมัยเมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นขันติวาทีดาบส ผู้ถูกพระเจ้ากาสีทรมาน และในสมัยเสวยพระชาติเป็น ธรรมปาลกุมาร ผู้ถูกพระเจ้ามหาตปะ รับสั่งให้ตัดมือตัดเท้า แม้แต่พระพุทธองค์ถูกพระนางมาคันทิยาผู้โกรธแค้นพระองค์ จ้างพวกทาสมารุมด่าพระองค์และภิกษุด้วยคำหยาบคายต่าง ๆ ในสมัยที่พระองค์เสด็จประทับอยู่ที่เมืองโกสัมพี แต่พระองค์ไม่โกรธตอบ และได้ตรัสว่า
"เรา จักอดกลั้นต่อคำล่วงเกิน ดั่งช้างอดทนต่อลูกศรซึ่งตกลงมาจากแล่งในสงคราม เพราะว่าคนเป็นอันมากเป็นคนทุศีล, ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอดกลั่นคำกล่าวล่วงเกินได้ ผู้นั้นชื่อว่าได้ฝึกตนแล้ว เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ม้าอัสดรที่ฝึกแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐ ม้าอาชาไนย ม้าสินธพที่ฝึกแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐ พญาช้างชาติกุญชรที่ฝึกแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่ผู้ที่ฝึกตนแล้ว ประเสริฐกว่านั้น"

แม้พระพุทธเจ้าก็ยังถูกด่า ยังถูกดูหมิ่นแล้วนับประสาอะไรกับคนอย่างเราที่จะไม่ถูกด่า ไม่ถูกดูหมิ่นบ้าง พระองค์ไม่ทรงพิโรธ และทรงอดทนจนประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศมาแล้ว เราเองก็ควรจะทำตามรอยพระยุคลบาท ของพระองค์ในเรื่องนี้ เมื่อนึกถึงอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ ความแค้นเคืองก็จะสงบไปได้ในที่สุด


6. ถ้ายังไม่ระงับให้นึกถึงสังสารวัฏอันไม่มีที่สิ้นสุด
ทุกคนเคยเป็นญาติพี่น้องกันมาก่อน ไม่เคยมีใครเลยที่ไม่เคยเป็นญาติพี่น้องกันมาในสังสารวัฏ ที่คนเราเคยเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน

คน ที่เราโกรธแค้น ต้องการให้เขาฉิบหายนั้น ในชาติก่อน เขาอาจจะเคยเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นลุงป้าอาปู่ย่าตายายของเราก็ได้ ถ้าเราโกรธหรือทำร้ายคนผู้นั้น ก็เท่ากับว่าเราทำร้ายญาติสายโลหิตของเรา เช่น หญิงที่เป็นศัตรูของเรา ในชาติก่อนอาจเคยเป็นแม่ของเราก็ได้ ซึ่งเคยอุ้มท้องเลี้ยงดูเรามาด้วยความยากลำบาก และด้วยความรัก ความเอ็นดู ถ้าเราฆ่าหรือทำร้ายหญิงคนนั้น ก็เท่ากับเราฆ่าหรือทำร้ายแม้ของเรานั่นเอง หรือชายที่เราโกรธแค้นนั้น ในชาติก่อนอาจเป็นพ่อของเราก็ได้ ซึ่งเคยฝ่าอันตรายช่วยชีวิตเรามาเลี้ยงดูเราด้วยความ ยากลำบาก และมีความรักความเอ็นดูเรามาก่อน ถ้าเราฆ่าหรือทำร้ายชายคนนั้น ก็เท่ากับเราฆ่าหรือทำร้ายพ่อของเรานั่นเอง


7. ถ้ายังไม่รับให้ระลึกถึงอานิสงส์เมตตา
ทำให้มากแล้ว ตั้งมั่นไว้แล้ว สั่งสมชำนาญแล้ว ปรารถนาสม่ำเสมอแล้ว หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของพวกมนุษย์ เป็นที่รักของพวกอมนุษย์ เทวดาย่อมรักษา ผู้นั้นไม่มีไฟหรือพิษหรือศัสตราที่จะกล้ำกรายได้ จิตย่อมเป็นสมาธิได้เร็ว สีหน้าย่อมผ่องใส ไม่หลงฟั่นเฟือนในเวลาใกล้ตาย เมื่อยังไม่บรรลุธรรมชั้นสูงก็จะไปเกิดในพรหมโลก


8. ถ้าความแค้นเคืองยังไม่ระงับให้ทำการแยกธาตุ
"เฮ้ย เจ้าขี้โกรธอย่างไรกัน ก็เมื่อท่านโกรธผู้นี้ จะโกรธส่วนไหนของเขา คือ จะโกรธผม หรือจะโกรธขน หรือจะโกรธเล็บ ในอาการ 32 ในร่างกาย ท่านจะโกรธส่วนไหนของเขา หรือว่าในบรรดาธาตุ 4 อันก่อเข้าเป็นร่างกายนี้ ท่านจะโกรธส่วนไหน คือ จะโกรธธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ หรือธาตุลม

หรือว่า ในบรรดาขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 ที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวศัตรูนี้ ท่านจะโกรธส่วนไหนของเขา คือจะโกรธรูปขันธ์ หรือเวทนาขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์ หรือจะโกรธตา จะโกรธหู หรือจะโกรธมโนธาตุ หรือมโนวิญญาณธาตุ ของเขา"


9. ถ้ายังไม่หายแค้นเคืองให้ทำการเผื่อแผ่
คือ แบ่งปัน หรือให้ของของตนแก่ศัตรูนั้นบ้าง รับของศัตรูที่ให้ตนบ้าง เมื่อทำอย่างนี้บ่อย ๆ ความอาฆาตในผู้นั้นย่อมลดน้อยลง หรือระงับได้ทีเดียว เพราะว่าการให้ (ทาน) ย่อมผุกไมตรีกันและกันไว้ได้ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของผู้รับ เพราะทานมีอานุภาพมาก ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจริงตรัสไว้ว่า

"ทานเป็นเครื่องฝึกคนที่ฝึกไม่ได้ ทานยังประโยชน์ทุกอย่างให้สำเร็จ ผู้ให้ย่อมบันเทิงด้วยการให้ ฝ่ายผู้รับ ก็ย่อมถนอมน้ำใจผู้ให้ด้วยการกล่าวปิยวาจา"





ขอบคุณบทความจาก
http://board.palungjit.com/

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์