ยุคของ คลาวด์คอมพิวติ้ง

ยุคของ คลาวด์คอมพิวติ้ง


การใช้งานคอมพิวเตอร์ในยุคต่อไปไม่ใช่รูปแบบเดิม ๆ ที่ต้องเก็บไฟล์ทุกอย่างไว้ในฮาร์ดดิสก์ แต่ขยับไปสู่เทคโนโลยีที่เรียกว่า "คลาวด์คอมพิวติ้ง"

"เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน" รายงานว่า ในอดีตเมื่อเราใช้คอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ก หากต้องการทำไฟล์เอกสาร, ตาราง หรือเขียนอีเมล์ ต้องทำผ่านโปรแกรมที่ติดตั้งไว้ในเครื่อง ข้อมูลทั้งหลายจะเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ของคอมพิวเตอร์ แม้คอมพิวเตอร์จะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต แต่การทำงานยังเกิดเฉพาะในตัวเครื่อง

ปัจจุบันเริ่มมีคนใช้วิธีให้คอมพิวเตอร์ที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อนประมวลผล หรือทำงานแทน โดยเครื่องเหล่านั้นอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต "คลาวด์" (ตั้งชื่อตามลักษณะแผนภาพเน็ตเวิร์กที่วาดเป็นรูปก้อนเมฆ) เมื่อวิธีการดังกล่าวเริ่มแพร่หลาย ผู้ใช้คอมพิวเตอร์จำนวนไม่น้อยจึงกลายเป็นผู้ใช้ "คลาวด์คอมพิวติ้ง"

ขณะนี้การใช้งานยังขยายไปถึงการทำงานบนสมาร์ทโฟน, ไอแพด หรือคอมพิวเตอร์พกพาอย่างเน็ตบุ๊ก ข้อมูลส่วนใหญ่บนอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้เก็บเอาไว้ในเครื่อง แต่เก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของ ผู้ให้บริการอย่างกูเกิล, ยาฮู, เฟซบุ๊ก, อะเมซอน และไมโครซอฟท์ หากต้องการมากกว่าเช่าคอมพิวเตอร์ หรือเซิร์ฟเวอร์เสมือนบนคลาวด์ เช่น บริการของอะเมซอนในขณะนี้

บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ที่หันมาใช้ "คลาวด์คอมพิวติ้ง" เพราะความประหยัดเป็นหลัก ทำให้ไม่ต้องตั้งแผนกงานไอทีซึ่งเป็นทั้งส่วนที่มีค่าใช้จ่ายสูงและไม่ทำให้เกิดกำไร พวกเขายังมีทางออกอื่นด้วยการใช้เทคโนโลยีคลาวด์เปิดโอกาสให้บริษัทไอทีดูแลระบบไอทีพื้นฐานแทน สิ่งที่องค์กรเหล่านี้ต้องทำมีแค่จ่ายค่าเช่าการใช้งานคลาวด์เท่านั้น

สำหรับผู้บริโภคทั่วไปหันมาใช้ "คลาวด์คอมพิวติ้ง" เพราะฝีมือของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ อาทิ ไมโครซอฟท์, กูเกิล หรือยาฮู ที่เสนอรูปแบบบริการที่เป็นประโยชน์ โดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่านี่คือเทคโนโลยีคลาวด์แบบหนึ่ง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ เสิร์ชเอ็นจิ้นของกูเกิล หรือบิง, เว็บเมล์"ฮอตเมล์" หรือ "จีเมล์", เว็บโพสต์รูป"ฟลิกเกอร์" หรือ "พิคาซ่า" และ โซเชียลเน็ตเวิร์ก "เฟซบุ๊ก" เป็นต้น

บริการเหล่านี้คือ "คลาวด์คอมพิวติ้ง" ที่ให้ใช้งานได้ฟรี แต่อาจหารายได้ผ่านโฆษณาทั้งไม่ต้องการซอฟต์แวร์พิเศษเพื่อเปิดใช้ เว้นแต่เว็บบราวเซอร์สักตัวในเครื่อง

"คลาวด์คอมพิวติ้ง" ยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์หลายด้าน กลุ่มที่ชอบถ่ายรูป ข้อดีของการเก็บภาพไว้บนคลาวด์ คือทำให้เผยแพร่ภาพให้คนอื่นเห็นได้สะดวก ใช้เป็นคลังภาพสำรองกรณีฮาร์ดดิสก์เสีย โดย "ฟลิกเกอร์" เป็นเว็บไซต์ด้านรูปภาพที่ขึ้นชื่อที่สุด แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเริ่มตีตื้นขึ้นมา เนื่องจากทั้งคู่ทำให้ผู้ใช้นำภาพไปแชร์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กได้โดยสะดวก

ผู้ที่นิยมเสียงเพลง "คลาวด์คอมพิวติ้ง" เปิดโอกาสให้ฟังเพลงจากที่ไหน เวลาใด ผ่านอุปกรณ์ใดก็ได้ ทำให้ค่ายเพลงเก็บข้อมูลเพลงที่ซื้อไว้แบบออนไลน์ ข้อมูลลำดับการเล่นของลูกค้าแต่ละคน

"แอปเปิล" ไอ-คลาวด์ เป็นเจ้าตลาดเพลงออนไลน์ แต่เซอร์วิสของแอปเปิลก็ต้องพบกับคู่แข่งสำคัญ "โซนี่ มิวสิก อันลิมิเต็ด" ที่มีจุดเด่นเรื่องการมีคลังเพลงที่โดดเด่น ฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ หรือเกมเพลย์สเตชั่น 3 ได้

คลาวด์คอมพิวติ้งสำหรับ "นักเล่นเกม" ต่างออกไป ไม่ได้ใช้ระบบให้ลูกค้าอัพโหลดไฟล์เกมไว้บนเซิร์ฟเวอร์ ผู้เล่นไม่ได้เป็นเจ้าของเกมโดยตรง แต่เล่นเกมของผู้ให้บริการผ่านวิดีโอสตรีมมิ่ง

ผู้ให้บริการเกมผ่านคลาวด์รายใหญ่บริษัท "ออนไลฟ์" คิดค่าบริการเป็นรายเดือน จากนั้นจะถ่ายทอดสดภาพเกมไปสู่หน้าจออุปกรณ์ใด ๆ ก็ตามที่ลูกค้ารายนั้นใช้ ทั้งจอคอมพิวเตอร์, จอเครื่องแมค, จอทีวี หรือแม้แต่แท็บเลต

นอกจากคลาวด์จะเกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์และเว็บไซต์แล้ว ยังเริ่มมีอิทธิพลไปสู่ฮาร์ดแวร์แบบใหม่ด้วย

"กูเกิล" ออกแล็ปทอปชื่อ "โครมบุ๊ก" ให้การทำงานของเครื่องส่วนใหญ่พึ่งคลาวด์เซอร์วิสจาก "กูเกิล"

"โครมบุ๊ก" จะต่อไปยังเว็บบราวเซอร์ทันทีที่เปิดเครื่อง เช่นเดียวกับ "แท็บเลต" ของอะเมซอน "คินเดิ้ล ไฟร์" ที่ใช้กับคลาวด์เซอร์วิสของบริษัทได้

(ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์)


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์