อยากรู้ไหม...ทำไมถึงดื้อยา ???

อยากรู้ไหม...ทำไมถึงดื้อยา ???


อยากรู้ไหม...ทำไมถึงดื้อยา ???
ภญ.อัมพร อยู่บาง


     
เรามักตั้งคำถามว่าทำไมกินยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแล้วไม่หายจากโรค(ติดเชื้อ)เสียที? หรือทำไมหายไปแล้วเพียงระยะเวลา
ไม่นานจึงกลับมาเป็นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่หายขาด? หลายท่านมักสงสัยว่าทำไมถ้าเป็นยาปฏิชีวนะแล้ว จะต้องกินยาทุกวันจนครบกำหนดแม้ว่าจะไม่มีอาการของโรคก็ตาม อันนี้เป็นปัญหาสำคัญทีเดียวเนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทำให้บางครั้งหยุดยาก่อนกำหนด หรือไม่กินตามเวลาที่แพทย์สั่ง หรือกินผิดวิธีทำให้ปริมาณยาที่ได้รับไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ ทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียค่อนข้างมาก

แบคทีเรียคืออะไร?
     ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องราวของการดื้อยา เรามาทำความรู้จักแบคทีเรียสักเล็กน้อยก่อนนะคะ แบคทีเรีย คือ จุลชีพหรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งมีทั้งชนิดที่มีประโยชน์และมีโทษต่อมนุษย์ เมื่อกล่าวถึงแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะมักจะให้ความสนใจกับการดื้อยาของแบคทีเรียก่อโรคเป็นลำดับแรก เพราะเห็นได้ชัดเจนจากการเกิดปัญหาในการรักษาโรคติดเชื้อ เนื่องจากเชื้อจะไม่ถูกยับยั้งหรือทำลายด้วยยาปฏิชีวนะที่เดิมเคยใช้ได้ผล อย่างไรก็ตามการดื้อต่อยาปฏิชีวนะอาจพบในแบคทีเรียกลุ่มจุลชีพประจำถิ่น (normal flora) ซึ่งปกติอาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์โดยไม่ก่อให้เกิดโรค แต่จะทำหน้าที่ในการป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อของแบคทีเรียก่อโรค การเกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียเหล่านี้อาจไม่เห็นผลโดยตรงต่อมนุษย์ แต่จุลชีพประจำถิ่นเหล่านี้จะเป็นแหล่งสะสมของสารพันธุกรรม (gene) ที่ควบคุมการดื้อยาและพร้อมที่จะถ่ายทอดให้แก่เชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้ตลอดเวลา และสำหรับยาปฏิชีวนะนั้นเป็นคำที่ใช้เรียกสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งหรือทำลายเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ยากลุ่ม penicillins

การออกฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ
     การออกฤทธิ์อาจจะเป็นเพียงการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อหรือฆ่าเชื้อ สำหรับการออกฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ แบ่งเป็น 4 กลไก คือ

     1. ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ได้แก่ ยาในกลุ่ม beta-lactam เช่น penicillins และ cephalosporins
     2. ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ของแบคทีเรีย ได้แก่ ยาในกลุ่ม quinolones
     3. ยับยั้งการสร้างโปรตีนของแบคทีเรีย (โปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหรือเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทในการมีชีวิตของแบคทีเรีย) ได้แก่ ยาในกลุ่ม tetracyclines, chloramphenicals และ macrolides เป็นต้น
     4. ยับยั้งขบวนการสร้างสารอาหารและพลังงานของแบคทีเรีย ได้แก่ ยาในกลุ่ม sulfamethoxazole และ trimethoprim

ทำไมใช้ยาแต่ไม่ได้ผล?
     ความล้มเหลวของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

     1. เลือกยาผิดชนิด คือยาไม่มีฤทธิ์ที่ครอบคลุมเชื้อที่ก่อโรค
     2. ใช้ยาผิดขนาด คือขนาดหรือปริมาณยาที่ได้รับไม่เหมาะสมที่จะทำลายเชื้อก่อโรคได้
     3. ใช้ยาปฏิชีวนะไม่นานพอที่จะทำลายเชื้อก่อโรค
     4. ใช้ผิดวิธี เช่น การกินไม่ถูกวิธี โดยยาบางชนิดต้องกินก่อนอาหาร ในขณะที่บางชนิดต้องกินหลังอาหาร ยาบางชนิดห้ามกินร่วมกับนม เป็นต้น ทำให้ปริมาณยาปฏิชีวนะที่ได้รับจริงไม่เพียงพอที่จะกำจัดเชื้อแบคทีเรีย
     5. เชื้อที่ก่อโรคเป็นเชื้อที่ดื้อยา

การดื้อยาปฏิชีวนะ
     แบคทีเรียมีการพัฒนาตนเองให้สามารถทนต่อการทำลายด้วยยาปฏิชีวนะหรือที่เรารู้จักกันว่า “การดื้อยา” ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นเป็นตามเทคโนโลยีของการผลิตและการใช้ยาปฏิชีวนะตัวใหม่ๆ การดื้อยาของแบคทีเรียเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม (mutation) ของแบคทีเรีย โดยการเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกิดขึ้นที่ส่วนของสารพันธุกรรมหลักของเชื้อที่เรียกว่า โครโมโซม โครโมโซมนั้นประกอบด้วยยีน (gene) ที่จะแสดงออกเป็นลักษณะต่างๆ ของเชื้อมากมายรวมทั้งการดื้อยา ยีนที่ควบคุมการดื้อยานี้สามารถถ่ายทอดจากแบคทีเรียตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่งได้ง่าย จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายการดื้อยาจากเชื้อหนึ่งไปสู่อีกเชื้อหนึ่งได้รวดเร็ว

การดื้อยาเกิดขึ้นได้อย่างไร?
     การดื้อยาของแบคทีเรีย เชื่อกันว่าเกิดขึ้นได้ 2 วิธี คือ

     1. เกิดจากการเลือกสรรตามธรรมชาติ (Natural selection) แบคทีเรียแต่ละชนิดจะมีแบคทีเรียที่มียีนดื้อยาอยู่ในตัวปะปนอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่เป็นจำนวนน้อย โดยไม่เกี่ยวข้องกับการมียาปฏิชีวนะหรือไม่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือเมื่อเชื้อแบคทีเรียชนิดดังกล่าวมีการสัมผัสยาปฏิชีวนะมากและนานขึ้น ยาจะทำลายส่วนที่ไม่ดื้อยาให้หมดไป เหลือส่วนที่ดื้อต่อยาไว้ ซึ่งส่วนนี้ก็จะทำการเจริญเพิ่มจำนวนและแสดงออกเป็นแบคทีเรียดื้อยาอย่างสมบูรณ์

      2. เกิดจากการเหนี่ยวนำให้เกิดโดยการใช้ยาปฏิชีวนะ กล่าวคือแบคทีเรียแต่ละชนิดนั้นจะมีความไวต่อยาอยู่เดิม (ไม่ดื้อยา) แต่เมื่อมีโอกาสสัมผัสกับยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะในขนาดและระยะเวลาในการให้ที่ไม่เหมาะสมที่จะทำลายเชื้อได้หมด เชื้อก็จะพัฒนาการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมในตัวเองให้มีความสามารถทนทานต่อการทำลายของยาได้มากขึ้น


เมื่อเชื้อดื้อยาแล้วจะเป็นอย่างไร?
 

     เมื่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ ก็เท่ากับว่าเชื้อสามารถทนทานต่อการทำลายมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าเชื้อมีความรุนแรงในการทำให้เกิดโรคมากขึ้น รักษาหายยาก และเมื่อเกิดการดื้อของเชื้อต่อยาชนิดหนึ่งมักจะมีการดื้อต่อยาหลายๆ กลุ่มตามมา ทำให้มียาที่จะให้เลือกใช้น้อยมากหรืออาจไม่มียาใดรักษาได้ในที่สุด


แก้ปัญหา...เชื้อดื้อยา

     1. การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง ได้แก่ การใช้ยาเฉพาะกรณีมีการติดเชื้อแบคทีเรียจริง ใช้ยาในขนาดระยะเวลา และวิธีการที่ถูกต้อง
     2. การใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันควรใช้เมื่อจำเป็น และสั้นที่สุดภายใต้การคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร
     3. การมีมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากผู้ที่ติดเชื้อ สู่ผู้อื่น หรือสู่สิ่งแวดล้อม

     จากที่กล่าวไปทั้งหมดจะเห็นว่าการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกหลักการทำได้ยากกว่ายารักษาโรคทั่วไป เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะ ดังนั้นเมื่อเกิดความเจ็บป่วยที่สงสัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ จึงไม่ควรลองรักษาตัวเองด้วยการซื้อยาปฏิชีวนะมากินโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะหากเคราะห์ดีความเจ็บป่วยนั้นอาจจะบรรเทาลงได้ ตรงกันข้ามหากโชคร้ายการใช้ยาเพียงครั้งเดียวก็อาจก่อความเสียหายกับตัวท่านได้มากมาย เช่น โรคลุกลามจนถึงขั้นรุนแรง เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน เป็นต้น นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกหลักการยังมีผลกระทบต่อสังคมด้วย เช่น การกระตุ้นให้เกิดเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ดื้อยาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรักษาโรคติดเชื้อนั้นในอนาคต เราทุกคนมีส่วนร่วมในการลดปัญหาดื้อยาด้วยการใช้ยาให้ถูกต้องทั้งขนาดและเวลาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร หากเราไม่ช่วยกันวันนี้ อนาคตเราไม่มียารักษาเลยก็ได้นะคะ

คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ
 

   
  • การกินยาปฏิชีวนะ ต้องกินตามเวลาที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ ให้ครบขนาดและกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด

      • ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะเก็บไว้ใช้เองคราวละมากๆ เนื่องจากการติดเชื้อแต่ละประเภทนั้นจะต้องใช้ยาให้เหมาะกับเชื้อที่เป็นสาเหตุ ซึ่งในแต่ละครั้งอาจต่างกันไป จึงควรไปพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรทุกครั้งที่สงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อเพื่อจะได้รับยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง

      • เมื่อเกิดอาการที่สงสัยว่าเป็นการแพ้ยาให้รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงควรหยุดใช้ยาทันทีแล้วรีบนำยาที่ใช้ขณะนั้นทั้งหมดไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกร เมื่อทราบว่าแพ้ยาใดแล้วจะต้องจดจำไว้เพื่อหลีกเลี่ยงยาดังกล่าวในการรักษาโรคครั้งต่อๆ ไป

      • ไม่ควรแบ่งยาปฏิชีวนะของตนเองให้กับผู้อื่นที่เป็นโรคติดเชื้อ เนื่องจากโรคของผู้อื่นอาจไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้อตัวเดียวกับที่ตนเองเป็น

      • ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะที่สงสัยว่าเสื่อมหรือหมดอายุแล้ว สังเกตุได้จากวันหมดอายุซึ่งพิมพ์อยู่บนแผง กล่อง หรือขวดยา หรือลักษณะโดยทั่วไปของยา เช่น เม็ดยาชื้นแฉะ มีสีซีดจาง หรือแตกร้าว เป็นต้น ถ้าเป็นยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้งที่ต้องละลายน้ำก่อนใช้ ควรเก็บยาที่ละลายแล้วไว้ในตู้เย็นและใช้ให้หมดภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เกิน 7–10 วัน

      • ยาปฏิชีวนะบางอย่างมีข้อควรระวังพิเศษในการใช้ เช่น ทำให้คลื่นไส้อาเจียน มีผลพิษต่อตับหรือไต มีปฏิกิริยาต่อกันกับยาอื่น มีปฏิกิริยากับอาหารบางประเภท เป็นต้น กรณีเช่นนี้เภสัชกรจะให้คำแนะนำกับผู้ใช้ยาเสมอถึงข้อควรปฏิบัติที่ถูกต้อง


healthtoday.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์