รู้ทันพิษภัย สารเคมี

รู้ทันพิษภัย สารเคมี


จากเหตุการณ์สารเคมีรั่วที่ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ส่งผลให้ชาวบ้านหลายร้อยคนได้รับพิษจากการสูดดมและมีผู้เสียชีวิต จนเป็นข่าวใหญ่โต ทำให้หลายคนที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่เสี่ยงเริ่มเกิดความกังวลใจและอยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของสารพิษดังกล่าว พร้อมคำแนะนำในการป้องกันตนเอง
   
สารพิษที่รั่วไหลออกมาคือ “โซเดียมเปอร์ซัลเฟต” หรือกลุ่มสารฟอกขาวเป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นผงและเป็นส่วนผสมของสารฟอกย้อมสี มีคุณสมบัติ คือถ้าออกมานอกถุงทำปฏิกิริยากับความชื้นสูงมากจะกลายเป็นกรดและอาจเกิดการลุกไหม้กลายเป็นก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มีความเป็นพิษ ซึ่งแก๊สดังกล่าวสามารถ ลอยไปตามกระแสลมได้อย่างรวดเร็ว
   
นอกจากสารเคมีที่เป็นพิษจะรั่วไหลออกมาจากแหล่งอุตสาหกรรมแล้วยังมีสารเคมีประเภทอื่น ๆ อีกที่เราต้องทำความรู้จัก

เนื่องจากสารเคมีก็คือสิ่งที่มีอยู่รอบ ๆ ตัวเราเป็นแร่ธาตุ สารผสมต่าง ๆ ที่  ใช้ในชีวิตประจำวันหรือแม้กระทั่งฝุ่นละอองก็นับว่าเป็นสารเคมี เพียงแต่ผลกระทบยังไม่รุนแรงเท่ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดร.นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ว่า สารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์สามารถแบ่งออกได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามคุณสมบัติของสารนั้น ๆ เช่น กลุ่มโลหะ ได้แก่ สารตะกั่ว สารแคดเมียม สารปรอท กลุ่มสารทำละลายอินทรีย์ ได้แก่ ทินเนอร์ สารเบนซิน นอกจากนี้ยังมี พวกกรด ด่าง แก๊สและฝุ่นละอองต่าง ๆ
   
ผลกระทบต่อสุขภาพจากสารเคมีดังกล่าวมีดังนี้ เช่น พวกสารโลหะหากได้รับเข้าไปจะมีผลกระทบต่อระบบอวัยวะในร่างกาย ได้แก่ ระบบการสร้างเม็ดเลือด ระบบประสาท ตับ กระดูก สารทำละลายอินทรีย์ มีผลกระทบต่อตับ ไต ระบบประสาท ไอของกรด-ด่าง แก๊สและฝุ่นละออง มีผลต่อระบบหายใจโดยเฉพาะต่อปอด สารพิษสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ช่องทางใหญ่ ๆ คือ จากการกิน การหายใจ และการสัมผัสทางผิวหนัง
   
เมื่อสารพิษเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะช่องทางใดถือว่าเป็นสารแปลกปลอมและอาจมีอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งเมื่อสารพิษเข้าไปในระบบเลือด เลือดก็จะนำสารพิษไปทำลายที่ตับ

เนื่องจากมีความเป็นพิษ ตับจึงเจอกับสารพวกนี้ก่อน เมื่อผ่านจากตับไปแล้วส่วนใหญ่สารพิษบางตัวที่สามารถละลายในไขมันได้ก็จะเข้าไปจับกับอวัยวะที่มีไขมันเยอะ ๆ เช่น สมอง เส้นประสาท และมีผลเข้าไปทำลายเส้นประสาทและสมอง ต่อมาสารพิษเหล่านี้จะถูกขับออกทางไตก็จะไปทำอันตรายต่อไตอีก เนื่องจาก ร่างกายเราพยายามที่จะกำจัดพวกสารต่าง ๆ เหล่านี้ออกไป จึงทำให้เป็นอันตรายต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเรา ส่วนปอดเมื่อสูดหายใจเข้าไปก็จะทำอันตรายต่อปอด
   
ผลกระทบต่อร่างกายจากสารเคมีต่าง ๆ สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

แบบเฉียบพลัน คือเมื่อได้รับเข้าไปจะมีอาการทันทีทันใด เช่น มีการระคายเคืองมีผลต่ออวัยวะ เช่น ต่อปอด หรือทำให้หมดสติ หรืออาจรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดที่จังหวัดชลบุรีก็เป็นแบบเฉียบพลัน

ส่วน แบบเรื้อรัง คือ การรับสารพิษแบบน้อย ๆ และค่อย ๆ เข้าไปสะสมจนก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อสุขภาพแบบค่อยเป็นค่อยไป สำหรับอาการจะขึ้นอยู่กับความเป็นพิษของสารแต่ละตัวและปริมาณที่รับเข้าไปในร่างกาย เช่น อาการเฉียบพลัน คือ สังเกตได้ง่าย ๆ อาการจะเกิดขึ้นทันทีทันใด ขึ้นอยู่กับสารว่ามีผลต่ออวัยวะใดของร่างกาย ถ้ามีฤทธิ์ต่อผิวหนังจะทำให้เกิดผื่นคัน ปวดแสบ ปวดร้อน ถ้าเข้าทางระบบหายใจจะทำให้แสบคอ แสบจมูก หายใจไม่ออกหรือบางตัวมีฤทธิ์มากกว่านั้นจะไปกดประสาททำให้เป็นลมหมดสติ ส่วนอาการแบบเรื้อรัง ระบบอวัยวะที่ถูกทำอันตรายส่วนใหญ่ ได้แก่ ระบบประสาท เมื่อรับเข้าไปนาน ๆ จะทำให้มีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือถ้ามีผลต่อระบบเม็ดเลือด เช่น ตะกั่ว ทำให้เกิดภาวะซีด โลหิตจาง เป็นต้น
   
กรณีการเจ็บป่วยแบบเฉียบพลันถ้าหากหยุดรับหรือหยุดสัมผัสสารพิษนั้น อาการจะหายเป็นปกติได้เอง

แต่ถ้าการเจ็บป่วยเป็นแบบเรื้อรังหากรับสารไปเรื่อย ๆ โอกาสที่จะหายเป็นปกติจะยากเนื่องจากอวัยวะถูกทำลายไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้สารบางตัวยังอาจก่อให้เกิดเป็นโรคมะเร็งด้วย เช่น “แร่ใยหิน” (asbestos) เป็นสารก่อมะเร็งที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ผ้าเบรกและคลัตช์ เป็นต้น สารแร่ใยหินเป็นสารทนความร้อน เมื่อแตกสลายจะกลายเป็นฝุ่นและเมื่อเราหายใจเข้าไปจะไปสะสมในปอดจนกลายเป็นโรคมะเร็งปอดได้ ระยะเวลาของการเป็นโรคจะขึ้นอยู่กับปริมาณที่หายใจเข้าไปและความถี่ในการรับฝุ่นแร่ใยหิน นอกจากนี้ถ้าบุคคลผู้นั้นมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ร่วมด้วย โอกาสการเป็นมะเร็งจะสูงมากกว่าคนทั่วไปประมาณ 70-80 เท่า สารตัวนี้ถือเป็นสารพิษที่อันตรายมากและอยู่ใกล้ตัวเราจึงขอให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ
   
บุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการรับสารพิษต่าง ๆ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

กลุ่มคนทำงาน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับสารเคมีที่เป็นพิษจากกระบวนการทำงานของเขาเหล่านั้น ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะรับสารพิษเข้าไปจากช่องทางการหายใจ แต่ในบางครั้งอาจรับเข้าทางปากได้ เช่น เผลอหยิบอาหารรับประทาน โดยที่ไม่ล้างมือ อีกกลุ่มคือ กลุ่มชุมชนชาวบ้าน ส่วนใหญ่จะได้รับสารพิษจากแหล่งต่าง ๆ เช่น แก๊สพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ เช่น การเผาขยะ หรือ ใบไม้ การสตาร์ตรถ ยนต์ หรือสารพิษตกค้างในอาหารและน้ำ หรือจากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น มีบ้านอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
   
แนวทางในการดูแลป้องกันตนเองของกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ มีดังนี้

กลุ่มบุคคลที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม จำเป็นที่จะต้องทราบว่าตัวเองทำอะไร อยู่กับสารเคมีอะไรและมีความรู้ความเข้าใจในพิษภัยของสารเคมีนั้น รวมทั้งการดูแลสุขภาพและพฤติกรรมตัวเอง เช่น ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้สารพิษเข้าร่างกายได้ง่ายขึ้นและไม่ควรรับประทานอาหารขณะทำงาน หากเลิกงานหรือเสร็จงานแล้วควรล้างมือให้สะอาดและขณะทำงานต้องสวมใส่ชุดป้องกันตัวเอง เช่น หน้ากาก ถุงมือ นอกจากนี้ระมัดระวังอย่าให้ตัวเองรับสารพิษหรือสูดดมสารเคมีที่ฟุ้งกระจาย ถ้าหากพบว่าสารนั้นอันตรายมากอย่าใช้
   
สำหรับโรงงานเองควรมีมาตรการในการป้องกันในภาพรวมสำหรับคนงานของตน เช่น การป้องกันที่ตัวแหล่งกำเนิดโดยไม่ใช้สารตัวนั้น ติดตั้งระบบการระบายอากาศ ติดตั้งพวกอุปกรณ์ต่าง ๆ ป้องกันไม่ให้สารกระจายออกมา

 ปรับปรุงเครื่องจักรต่าง ๆ และที่สำคัญคือให้ความรู้กับตัวผู้ประกอบอาชีพว่าจะต้องดูแลหรือปรับพฤติกรรมตัวเองอย่างไร ส่วนกลุ่มชาวบ้านทั่วไปมีแนวปฏิบัติดังนี้คือ ถ้าอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมควรศึกษาหาข้อมูลสารพิษที่อยู่ในละแวกชุมชนตัวเองให้ดีรวมทั้งหาวิธีป้องกันตนเอง นอกจากนี้ควรดูแลเรื่องอาหารการกิน ซื้ออาหารที่สดสะอาด ก่อนบริโภคควรล้างให้ดีและหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ ว่าสารเคมีตัวไหนก่อให้เกิดอันตรายอย่างไร ซึ่งทางการแพทย์จะมีการให้ข้อมูลเรื่อย ๆ เป็นประจำ ในบางกรณีที่สงสัยอาจไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาหารือหรือทำการตรวจสุขภาพได้
   
อย่างไรก็ตาม
เมื่อป้องกันแล้วไม่ได้ผล เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลออกมาซึ่งเราไม่อยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดแล้วเราได้รับสารพิษเข้าไป อันดับแรกต้องไม่รับเข้าไปเพิ่ม จึงต้องหลีกหนีออกจากตรงจุดนั้น พยายามพาตัวเองออกมาจากตรงจุดนั้นให้เร็วที่สุด ถ้ายังรับอยู่ก็จะเป็นอยู่เรื่อย ๆ อาจจะเสียชีวิตได้ หรือหาเครื่องป้องกันตัวเอง เช่น ใส่หน้ากาก หรือ ถ้าอาการไม่รุนแรงมากอาจจะหาผ้าชุบน้ำมาเช็ดหน้าตา แต่สิ่งสำคัญควรรีบไปพบแพทย์จะดีที่สุดเพราะเราอาจยังไม่ทราบว่าได้รับสารอะไรเข้าไป
   
การใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน หากเรารู้จักวิธีใช้และวิธีป้องกันแก้ไขถือเป็นประโยชน์สูงสุด แต่เมื่อใดที่เราละเลยไม่ใส่ใจ อาจทำให้สุขภาพร่างกายถูกทำลายด้วยพิษของสารเคมีที่เราใช้นั่นเอง.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์