ไขปริศนา พระอาทิตย์ทรงกลดวิทย์ศาสตร์-ความเชื่อ??

ไขปริศนา พระอาทิตย์ทรงกลดวิทย์ศาสตร์-ความเชื่อ??


ไขปริศนา "พระอาทิตย์ทรงกลด"วิทยาศาสตร์และความเชื่อที่โยงใยกับสิ่งที่เห็น

หากใครได้ลองสังเกตกันให้ดี จะพบว่าในช่วงปีมหามงคลนี้ จัดได้ว่าเป็นปีที่เกิดปรากฎการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดขึ้นบ่อยครั้ง ล่าสุด ก็เกิดขึ้นที่ จ.เลย เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทำให้ผู้พบเห็นได้สัมผัสกับปรากฏการณ์สุดมหัศจรรย์ที่มีความสวยสดงดงาม เป็นบุญตาแก่ผู้พบเห็น และก่อให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นถึงที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ที่ว่านี้ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ “พิเศษ” ที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อของคนไทยอย่างแยกกันไม่ออก
       
       อาจารย์สิทธิชัย จันทรศิลปิน นักวิชาการหัวหน้าฝ่ายท้องฟ้าจำลอง อธิบายการเกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดว่า เกิดขึ้นจากบรรยากาศของโลกในชั้นโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นล่างสุด และเป็นที่อยู่ของกลุ่มเมฆจำนวนมาก มีอากาศเย็นจัดตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น จนทำให้ละอองน้ำในอากาศ ณ เวลานั้นๆ แข็งตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งอนุภาคเล็กๆ จำนวนมหาศาลลอยอยู่บนท้องฟ้า
       
       ทั้งนี้ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น และส่องแสงทำมุมกับเกล็ดน้ำแข็งได้อย่างเหมาะสม จะเกิดการหักเหและการสะท้อนของแสง ทำให้เกิดเป็นแถบสีรุ้ง (sprectrum) คล้ายการเกิดรุ้งกินน้ำหลังฝนตกขึ้น โดยปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดจะเกิดมากในช่วงปลายฝนต้นหนาวซึ่งมีความชื้นจากฝนมาก เวลาที่เหมาะสมได้แก่ ช่วงก่อน 10 โมงเช้าจนถึงเที่ยงเศษๆ ซึ่งเกล็ดน้ำแข็งยังไม่ละลาย แต่เมื่อเลยเที่ยงวันไปแล้ว โอกาสที่จะเกิดพระอาทิตย์ทรงกลดแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเกล็ดน้ำแข็งจะได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์มากจนละลายหมดไป
       
       ส่วนแสงสีที่ตามองเห็นนั้น จะขึ้นกับการทำมุมของแสงอาทิตย์และเกล็ดน้ำแข็ง แต่โดยทั่วไปเรามักจะเห็นเป็นแสงสีเหลืองอ่อนๆ มากที่สุด สำหรับขนาดของพระอาทิตย์ทรงกลดจะมีขนาดแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมากจะมีขนาดเฉลี่ย 30 องศา โดยการลากเส้นตรง 2 เส้น มาบรรจบกันที่ดวงตาผู้มอง ได้แก่ เส้นตรงที่ลากจากกึ่งกลางของปรากฏการณ์มาที่ตาผู้มอง และเส้นตรงที่ลากจากขอบของปรากฏการณ์มาที่ดวงตาผู้มอง ซึ่งเป็นหลักการวัดระยะเชิงมุมของวัตถุต่างๆ บนท้องฟ้า เช่น ดวงดาว เป็นต้น
       
       ส่วนความถี่ในการเกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด อาจารย์สิทธิชัย เล่าว่า เราไม่สามารถคาดการณ์การเกิดล่วงหน้าได้ แต่ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย โดยช่วงปีที่ผ่านมาจะพบได้มาก เพราะมีฝนหลงฤดูมาก จึงทำให้มีความชื้นในอากาศมากตามไปด้วย ขณะที่บางปีอาจไม่มีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเลยเช่นกัน
       
       ทั้งนี้ ในแง่ความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับการเกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดของคนไทย อาจารย์สิทธิชัย มองว่า คนไทยนับถือดวงอาทิตย์เป็นเทวดาเบื้องบนองค์หนึ่ง สังเกตจากการเรียกนำหน้าว่า “พระ” ส่วนกลดก็ถือเป็นของสูงสำหรับพระ เช่น กลดของพระธุดงค์ ปรากฏการณ์นี้จึงเปรียบได้กับกลดของพระที่กำลังถูกล้อมรอบไว้ด้วยแสงของดวงอาทิตย์ไว้นั่นเอง จึงถือเป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ เป็น “มหิธานุภาพ” ของดวงอาทิตย์ มีความหมายในทางที่ดี มีมงคลแก่ทุกคนบนโลก
       
       “ในวันที่เกิดพระอาทิตย์ทรงกลดจะเป็นวันที่อากาศไม่ร้อนจัด ไม่มีฝนตกปุบปับอย่างแน่นอน เว้นแต่จะมีลมพายุพัดเมฆฝนจากที่อื่นมา จึงสามารถจัดกิจกรรมหรือประเพณีในวันที่มีพระอาทิตย์ทรงกลดได้ดี อาจารย์สิทธิชัยให้ความเห็นทิ้งท้าย

ขอขอบคุณสาระดีดีจาก

eduzones.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์