อย.แนะใช้ถังบรรจุน้ำดื่ม 20 ลิตร ไม่ใช้พลาสติกรีไซเคิล

อย.แนะประชาชนเลือกซื้อน้ำดื่มบรรจุถังขนาด 20 ลิตร ให้เลือกถังชนิดกลม สภาพถังสะอาด ไม่แตกร้าว หรือมีรอยขีดข่วนภายใน มีสีขาวขุ่น หรือใส ถังต้องไม่ใช้สีอื่น เช่น ฟ้าทึบ เหลือง เพราะอาจเป็นถังน้ำที่ใช้พลาสติกรีไซเคิล แล้วใส่สีเพื่อกลบเกลื่อน

นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า

ปัจจุบันผู้บริโภคมักนิยมซื้อน้ำบรรจุถังขนาด 20 ลิตร เพื่อบริโภคในครัวเรือนมากขึ้น ทำให้มีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของภาชนะที่ใช้บรรจุ รวมทั้งการเลือกซื้อน้ำดื่มบรรจุถังอย่างไรให้ปลอดภัย ซึ่งที่จริงกระทรวงสาธารณสุขมีข้อกำหนดตามกฎหมาย เกี่ยวกับภาชนะบรรจุอาหารประเภทพลาสติก คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) พ.ศ.2548 เรื่องกำหนดคุณภาพมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก

ซึ่งกำหนดคุณภาพหรือ มาตรฐานของภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากพลาสติก

คือต้องสะอาด ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ไม่มีสีออกมาปนเปื้อนกับอาหาร ไม่มีโลหะหนักหรือสารอื่นออกมาปนเปื้อนกับอาหารในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและมีข้อกำหนดห้ามใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้ว (Recycle) มาบรรจุอาหาร เว้นแต่ไม่ได้สัมผัสโดยตรงกับอาหาร เช่น ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก โดยต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามที่ประกาศกำหนด ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้ใช้ภาชนะบรรจุที่มีการรีไซเคิล แต่การนำภาชนะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ภาชนะที่ใช้บรรจุอาหารใดๆ ต้องไม่เคยเป็นภาชนะที่ใช้บรรจุหรือห่อหุ้มปุ๋ยหรือวัตถุมีพิษมาก่อน

นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า การผลิตน้ำบริโภคเพื่อจำหน่าย ต้องมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการผลิตที่ดี หรือจีเอ็มพี ในการผลิตน้ำดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท

ต้องมีการควบคุมคุณภาพของภาชนะบรรจุ โดยภาชนะบรรจุชนิดที่ใช้ได้หลายครั้ง เช่น ถังบรรจุน้ำขนาด 20 ลิตร ผู้ผลิตต้องมีการตรวจสอบสภาพถัง ทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงฉลาก หากพบข้อบกพร่อง ต้องคัดแยกออก ส่วนถังสภาพดีที่จะนำมาใช้บรรจุน้ำต้องล้างทำความสะอาดทั้งผิวนอกและด้านใน รวมทั้งฝา ด้วยน้ำยาทำความสะอาด แล้วฆ่าเชื้อด้วยสารฆ่าเชื้อ และล้างด้วยน้ำที่ใช้บรรจุเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนการบรรจุ ซึ่งผู้ผลิตน้ำดื่มต้องคำนึงถึงรูปแบบของภาชนะบรรจุที่ใช้


อย.แนะใช้ถังบรรจุน้ำดื่ม 20 ลิตร ไม่ใช้พลาสติกรีไซเคิล


โดยต้องไม่ใช้ภาชนะบรรจุที่ออกแบบในลักษณะที่ยากแก่การล้างทำความสะอาด

เช่น ถังที่มีลักษณะก้นถังเป็นรูปเหลี่ยม มีคอขวด หรือหูหิ้ว ที่เป็นตำแหน่งที่ล้างทำความสะอาดยาก ผู้ผลิตน้ำดื่มควรเลือกซื้อภาชนะบรรจุจากผู้ผลิตภาชนะพลาสติกที่น่าเชื่อถือ และควรมีการเปลี่ยนถังน้ำที่มีสภาพเก่า พลาสติกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ถังเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลือง มีรอยขีดข่วนหรือคราบสกปรก ซึ่งไม่สามารถทำความสะอาดได้ อันเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค

รองเลขาธิการฯ กล่าวด้วยว่า ผู้ผลิตน้ำดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

โดยใช้ถังบรรจุน้ำดื่มมีคุณภาพหรือมาตรฐานไม่ตรงตามที่กำหนด มีสารอื่น ๆ ปนเปื้อนหรือทำจากพลาสติกที่เคยใช้บรรจุ หรือห่อหุ้มปุ๋ย วัตถุอันตราย ซึ่งทำให้น้ำดื่มไม่สะอาด จะมีความผิดข้อหาฝ่าฝืนประกาศฯ ดังกล่าว ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ การผลิตน้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิททุกประเภท รวมถึงน้ำดื่มที่ใช้ภาชนะบรรจุชนิดถัง 20 ลิตรด้วย จะต้องปฏิบัติตามจีเอ็มพี

โดยต้องมีการตรวจสอบสภาพภายนอกและภายในถังบรรจุน้ำ มีการทำความสะอาดพื้นผิวด้านนอกและฝา ด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพก่อน และล้างทำความสะอาดด้านในที่สัมผัสกับน้ำที่บรรจุและฆ่าเชื้ออีกครั้งด้วยสารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ และล้างด้วยน้ำที่ใช้บรรจุเป็นครั้งสุดท้ายก่อนนำมาบรรจุน้ำดื่มเพื่อจำหน่าย เป็นต้น หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจีเอ็มพี ผู้ผลิตจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

“หากผู้บริโภคมีข้อสังเกตและข้อแนะนำในการเลือกซื้อน้ำดื่มบรรจุถังให้ปลอดภัย คือ ควรเลือกซื้อน้ำดื่มที่บรรจุในถังชนิดกลม และควรสังเกตลักษณะสภาพถังที่สะอาด ไม่แตกร้าว หรือมีรอยขีดข่วนภายในมีสีขาวขุ่น หรือใส ถังต้องไม่ใช้สีอื่น เช่น ฟ้าทึบ เหลือง เพราะอาจเป็นถังน้ำที่ใช้พลาสติกรีไซเคิล แล้วใส่สีเพื่อกลบเกลื่อน ซึ่งอาจทำให้น้ำที่บรรจุไม่สะอาด และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคท่านใดทราบหรือพบเห็นว่า มีการใช้ถังน้ำที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลมาบรรจุน้ำดื่มขอให้แจ้งร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร.1556 หรือแจ้งร้องเรียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ เพื่อทางราชการจะได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ผลิตที่ฝ่าฝืนกฎหมายต่อไป” รองเลขาธิการฯ กล่าว

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าจาก

INNNEWS

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์