เผยเทคนิคการเก็บภาพสุริยุปราคา พรุ่งนี้ (9 มี.ค.)

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยเทคนิคการเก็บภาพสุริยุปราคาให้สวยงาม น่าประทับใจ ย้ำชัด!!! ให้ระมัดระวังการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ ต้องใช้แผ่นกรองแสงอาทิตย์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยต่อสายตาและอุปกรณ์

ปรากฏการณ์สุริยุปราคา ในวันที่ 9 มีนาคม นี้ นับเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดในรอบปี ในประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน ตั้งแต่เวลาประมาณ 06.20- 08.40 น. ทางทิศตะวันออก นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการดาราศาสตร์ สดร. ได้แนะนำการเก็บภาพดวงอาทิตย์ ขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาในหลายรูปแบบ ดังนี้

1) ภาพดวงอาทิตย์ดวงโตกับฉากหลังต้องใช้เลนส์เทเลโฟโต้
ตั้งแต่ช่วงทางยาวโฟกัส 300 mm. เป็นต้นไป เพื่อเก็บภาพดวงอาทิตย์ให้ได้ดวงโต ๆ และหาฉากหน้าเพื่อนำมาเปรียบเทียบขนาดกับดวงอาทิตย์ สำหรับวันที่ 9 มีนาคมนี้ ช่วงที่ดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดจะอยู่ที่เวลาประมาณ 7.30 น. อยู่สูงจากขอบฟ้าประมาณ 15 องศา หากบริเวณขอบฟ้ามีมวลอากาศ หรือฟ้าหลัวค่อนข้างมาก จะช่วยกรองแสงให้ดวงอาทิตย์มีความเข้มแสงลดลง จนอาจสามารถถ่ายภาพทั้งดวงอาทิตย์และรายละเอียดของฉากหน้าได้ในเฟรมเดียวกันอีกด้วย สำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็นในการถ่ายภาพแบบนี้ คือ แผ่นกรองแสงอาทิตย์ซึ่งก็มีให้เลือกใช้หลากหลายแบบ เช่น แบบ Black polymer ซึ่งจะได้ภาพดวงอาทิตย์สีส้ม หรือแบบ Mylar จะได้ภาพดวงอาทิตย์สีขาว หรืออาจใช้ ND filter ที่มีขายทั่วไปตามร้านขายอุปกรณ์ถ่ายภาพ ซึ่งอาจต้องใช้เบอร์สูง ๆ ที่มีความทึบแสงมาก ๆ

2) ภาพซีรีย์สุริยุปราคา
สำหรับการถ่ายภาพแบบซีรีย์ เลนส์ที่นิยมนำมาใช้ควรเป็นเลนส์ทางยาวโฟกัสประมาณ 50-70 mm. หรืออาจใช้เลนส์มุมกว้างเพราะจะสามารถเก็บภาพได้ตลอดทั้งปรากฏการณ์ ในการถ่ายภาพควรวัดระยะเชิงมุมการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์จากจุดเริ่มต้น จนถึงจุดสิ้นสุดปรากฏการณ์ ซึ่งในสุริยุปราคาครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง หรือ ประมาณ 30 องศา ถ่ายภาพในแต่ละช่วงห่างกันประมาณ 3-4 นาที หรืออาจถ่ายภาพทุกๆ 1 นาที เพื่อนำมาเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ภายหลัง
ทั้งนี้ ควรวางแผนตรวจสอบแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์จากโปรแกรม Stellarium ก่อน เพื่อใช้ในการจัดองค์ประกอบภาพ และก่อนเริ่มถ่ายภาพควรถ่ายภาพฉากหน้าไว้ล่วงหน้า เพื่อใช้รวมกับภาพดวงอาทิตย์อีกหลายสิบภาพในภายหลังอีกครั้ง (เนื่องจากภาพของดวงอาทิตย์ขณะเกิดปรากฏการณ์เราต้องถ่ายผ่านแผ่นกรองแสงอาทิตย์ซึ่งจะเห็นเพียงดวงอาทิตย์เท่านั้น) และหลังจากได้ทั้งภาพดวงอาทิตย์ทั้งซีรีย์ที่นำมาต่อเรียงกันแล้วก็นำไปซ้อนทับกับภาพฉากหน้าอีกครั้งใน Photoshop ก็จะได้ภาพสุริยุปราคาแบบซีรีย์ที่สวยงาม

3) การถ่ายภาพดวงอาทิตย์แบบมุมแคบอีกรูปแบบหนึ่งของการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคา
คือการถ่ายภาพแบบมุมแคบ การถ่ายภาพประเภทนี้จำเป็นต้องใช้เลนส์เทเลโฟโต้ที่มีทางยาวโฟกัสสูง ๆ หรือถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 1,000 mm. ขึ้นไป จำเป็นต้องใช้แผ่นกรองแสงอาทิตย์ แบบ Black polymer เพื่อให้ได้รายละเอียดของจุดบนดวงอาทิตย์ และรายละเอียดต่าง ๆ ขณะดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบัง

"สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาคือ ควรระมัดระวังขณะถ่ายภาพดวงอาทิตย์ เพราะแสงของดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังคงมีความเข้มแสงสูงมาก หากการถ่ายภาพไม่มีอุปกรณ์กรองแสงอย่างปลอดภัยก็จะทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตา และอาจเกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ถ่ายภาพของเราได้" นายศุภฤกษ์กล่าวปิดท้าย

 เผยเทคนิคการเก็บภาพสุริยุปราคา พรุ่งนี้ (9 มี.ค.)

ที่มา  http://www.narit.or.th/…/a…/2451-solar-eclipse-photo-technic

 เผยเทคนิคการเก็บภาพสุริยุปราคา พรุ่งนี้ (9 มี.ค.)

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์